“อว. จับมือคลัง ชูนโยบายยกระดับอุตสาหกรรมไทยแบบก้าวกระโดด ด้วยการดูดซับเทคโนโลยีจากต่างประเทศผ่านโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ดันเอกชนไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก”
วันนี้ (20 มี.ค.) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมต. อว. แสดงวิสัยทัศน์ในการบรรยายพิเศษ เรื่อง การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยการใช้วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ในงานเสวนาทางวิชาการเปิดโลกลานเกียร์ เรื่อง “นโยบายการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” ที่จัดโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
มาตรการใหม่นี้ คือ มาตรการสร้างความร่วมมือและพัฒนาอุตสาหกรรมไทย (Industrial Collaboration and Development Programme, ICDP) เป็นความร่วมมือระหว่าง สกสว. สอวช. และกรมบัญชีกลาง โดยมี สวทช. เป็นหน่วยดำเนินการศึกษา ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. ถือเป็นกลไกใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากการที่รัฐจำเป็นต้องลงทุนในการจัดซื้อสินค้าจากต่างประเทศให้สามารถมีผลตอบแทนในการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยให้เอกชนมีโอกาสเป็นผู้รับการดูดซับความรู้และเทคโนโลยีได้โดยตรง เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เป็นมาตรการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ “เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม” โดยอาศัยการใช้งบประมาณภาครัฐอย่างคุ้มค่ามาสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมไทยอย่างเป็นรูปธรรม ที่รัฐทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน โดยมีเอกชนเป็นผู้เล่นหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศ
เรื่องนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ช่วยสนับสนุนในการพัฒนากฎหมายภายใต้ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อใช้รองรับให้เกิดการขับเคลื่อนกลไกสู่ภาคปฏิบัติ และปลดล็อคปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของระบบราชการให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามระเบียบ ตรวจสอบได้ มีความโปร่งใส และปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมไทยเป็นผู้ซื้ออย่างเดียว เป็นการเป็นผู้ซื้ออย่างชาญฉลาด โดยมีการกำหนดเงื่อนไขให้พัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนากำลังคน ในเทคโนโลยีสำคัญที่ประเทศมีความต้องการ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ เอกชนไทย รวมถึงสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยต้องเร่งพัฒนาตนเอง โดยอาจร่วมมือกันเป็นองคาพยพในการระดมทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่มาร่วมกันพัฒนาให้มีศักยภาพเตรียมพร้อมรองรับความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเข้มข้นและจริงจังด้วย สกสว. ที่เป็นหน่วยขับเคลื่อนหลัก ในช่วงแรก ร่วมกับ สอวช. และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จะร่วมกันผลักดันเพื่อให้นโยบายนี้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ โดยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่หน่วยงานรัฐที่มีโครงการที่เข้าข่าย ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และมีระบบติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานจนแล้วเสร็จ ตลอดจนประเมินผลกระทบที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศที่เกิดจากการดำเนินงานอีกด้วย