คงมีคนไทยเพียงไม่กี่คนที่รู้จัก Charles Robert Knight (1874–1953) เขาคือ จิตรกรคนแรกของโลกที่ได้วาดภาพของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ได้สูญพันธุ์ไปนานแล้ว และวาดได้อย่างสมจริงจนดูมีชีวิต เพราะลำตัวของสัตว์มีสัดส่วนที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ อีกทั้งมีอากัปกิริยาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่มันมีชีวิตอยู่ในยุคนั้นได้อย่างลงตัว จนมีผลทำให้ทุกคนที่ได้เห็นภาพที่ Knight วาด ต่างก็รู้สึกตื่นตา ตื่นใจ และประทับใจมาก เสมือนกับว่าได้เผชิญหน้าสัตว์เหล่านั้น ในลักษณะตัวเป็น ๆ เลยทีเดียว
ตลอดชีวิต Knight ได้วาดภาพสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 1,000 ภาพ เช่น ภาพของตัว Kulindadromeus, Triceratops, Tyrannosaurus, Trachodon, Brontosaur, Irish deer, Mastodon, Mosasaurus ตลอดจนถึงอสูรกายใต้ทะเลลึก เช่น ตัว Excalibosaurus และตัว Ichthyosaurus เป็นต้น
Knight เกิดที่ Brooklyn ใน New York เมื่อปี 1874 บิดาเป็นเลขานุการส่วนตัวของนายธนาคาร J.P. Morgan ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยมาก เมื่ออายุ 5 ขวบ บิดาได้นำ Knight ไปชมพิพิธภัณฑ์ที่ American Museum of Natural History อันเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่จัดแสดงฟอสซิล และซากสัตว์ที่ตายไปแล้วมากมาย แม้มีอายุยังน้อย แต่ Knight ก็มีความรู้สึกแรงกล้าว่าต้องการจะวาดภาพตัวจริงของสัตว์เหล่านั้น
เมื่อบิดาประจักษ์ในความสนใจของ Knight จึงได้จัดส่งลูกชายไปเรียนศิลปะการวาดภาพที่สถาบัน Frobel Academy และไปศึกษาการปั้นรูปด้วยดินเหนียวที่ Metropolitan Art School ด้วย จน Knight มีความเชี่ยวชาญในการระบายด้วยสีน้ำ สีน้ำมัน และมีความสามารถในการสเก็ตช์ภาพด้วยดินสอและด้วยถ่าน charcoal จากนั้นก็เริ่มประกอบอาชีพเป็นจิตรกรที่มีหน้าที่วาดภาพประดับในโบสถ์เมื่อมีอายุได้ 16 ปี
ขณะมีเวลาว่าง Knight จะไปดูสัตว์ที่สวนสัตว์ใน Central Park และดูซากโครงกระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ American Museum of Natural History เช่น ได้ดูสัตว์พวกเสือ จิงโจ้ นกกระทุง (pelican) นกแก้ว macaw ฯลฯ เพื่อศึกษาสีสันของขน ลักษณะตา อุ้งตีน จมูก และกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ แล้ววาดภาพของอวัยวะเหล่านั้นอย่างแยกกัน จากนั้นก็นำภาพของอวัยวะทุกส่วนมาประกอบกัน เป็นภาพของสัตว์ทั้งตัว
ผลงานของ Knight เริ่มเตะตาของเหล่านักชีววิทยาที่ทำงานประจำอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ American Museum of Natural History ดังนั้นนักวิชาการเหล่านี้ จึงให้คำแนะนำ และกำลังใจในการทำงานแก่ Knight ตลอดมา จนกระทั่งปี 1894 ผู้อำนวยการฝ่ายฟอสซิลของพิพิธภัณฑ์ที่ชื่อ Jacob Wortman ได้ปรารภว่า ต้องการจะหาจิตรกรมาวาดภาพสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อนำมาประดับพิพิธภัณฑ์ Knight จึงไปสมัครงาน และได้งานนั้น โดยได้วาดภาพหมูดึกดำบรรพ์ (Entelodont) ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยได้ศึกษาโครงกระดูกของหมูดึกดำบรรพ์ และศึกษาสรีระของหมูปัจจุบันด้วย ผลงานภาพวาดหมูดึกดำบรรพ์นี้ ได้ทำให้ Wortman พอใจมาก Knight จึงได้เข้าทำงานที่พิพิธภัณฑ์ American Museum of Natural History ติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 40 ปี
ครั้นเมื่อภาพที่ Knight วาดได้ถูกนำไปวางใกล้ฟอสซิลต่าง ๆ ผู้คนที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะได้เห็นภาพของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไป ในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติมาก ผลที่เกิดตามมา คือ จากที่ไม่มีใครเคยสนใจฟอสซิล กลับเป็นว่าจำนวนผู้เข้าชมได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ความสำเร็จนี้เกิดจากความสามารถในการวาดภาพของ Knight โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ และความต้องการจะพัฒนาบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในการให้ความรู้แก่ประชาชนของท่านผู้อำนวยการ Henry Osborn
เหตุการณ์ที่เกิดตามมา คือ ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดซื้อฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ให้คนทั่วไปได้ศึกษาวิชาบรรพชีวินวิทยา และปลุกความสนใจของเยาวชนให้รักวิชาบรรพชีวินวิทยามากขึ้น
Knight ทำงานด้านนี้อย่างทุ่มเท โดยได้ศึกษาสรีรวิทยาของสัตว์ปัจจุบันที่เป็นทายาทของสัตว์ดึกดำบรรพ์ ตลอดจนอุปนิสัยปัจจุบัน เพื่อนำมาวาดลงในภาพ ซึ่งได้ทำให้ฟอสซิลดึกดำบรรพ์ดูมีชีวิต
เวลาพิพิธภัณฑ์ในอดีตเมื่อ 127 ปีก่อน จัดแสดงฟอสซิล ไม่เคยมีการนำภาพ “เหมือน” ของสัตว์เหล่านั้นมาให้คนเห็น ผลงานของ Knight จึงเป็นนววัตถกรรมบุกเบิกที่ได้ปฏิรูปการจัดงานแสดงผลงานของพิพิธภัณฑ์
เมื่อชื่อเสียงของ Knight เริ่มโด่งดัง อาจารย์ที่ปรึกษาของ Osborn ที่ชื่อ Edward D. Cope จึงได้เชิญ Knight ไปเขียนและวาดภาพประกอบบทความของตนในวารสาร โดย Cope จะสเก็ตช์ภาพหยาบ ๆ ของสัตว์ก่อน และให้ Knight เสริมเติมภาพ เพื่อให้ดูสมจริง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการเดินหรือการว่ายน้ำ หาอาหาร ผลงานของคนทั้งสองจึงทำให้วิทยาการด้านบรรพชีวินวิทยาเป็นอะไรที่มากกว่าการศึกษาฟอสซิลธรรมดา ๆ แต่เป็นวิทยาการที่ใช้ความรู้ปัจจุบันมาทำให้สัตว์ดึกดำบรรพ์ดูมีชีวิตได้
ผลงานของ Osborn และ Knight เริ่มเป็นที่รู้จักทั่วไปมากขึ้น เพราะประชาชนเริ่มสนใจวิชาบรรพชีวินวิทยา และความชื่นชมนี้ก็ได้รับการยืนยัน เมื่อมีการสำรวจความคิดเห็นของคนที่ไปพิพิธภัณฑ์ โดยทุกคนได้ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาพวาดสีธรรมชาติ โดย Knight เป็นสิ่งที่ทำให้ฟอสซิลมีความหมาย มีความสวยงาม และมีความสำคัญมากที่สุด เพราะภาพทำให้ฟอสซิลดูมีชีวิตและจิตใจ
นับถึงวันนี้ สังคมได้เริ่มสนใจศิลปะบรรพชีวินอีกครั้งหนึ่ง เช่น ที่ประเทศเยอรมนี ในช่วงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2021-22 สิงหาคมในปีเดียวกัน ได้มีงานแสดงชื่อ The Invention of Prehistoric Times ที่เมือง Gotha และที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในช่วงวันที่ 31 มกราคม ปี 2020 ถึง 23 สิงหาคม ปี 2020 ก็มีงานแสดง Dinomakers ที่ Teylers Museum เพราะสังคมกำลังตระหนักได้ว่า Paleoart เป็นวิทยาการที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา) ให้เข้ากับศิลปะ และได้ทำให้คนทั้งโลกรู้จักไดโนเสาร์มากขึ้น และในเวลาเดียวกัน วิทยาการใหม่นี้ก็ได้ทำให้สังคมเห็นความคล้ายคลึงระหว่างสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกับสัตว์ที่ยังมีสายพันธุ์อยู่ในปัจจุบัน วิชา Paleoart จึงครอบคลุมทั้งสิ่งที่ทุกคนรู้ และสิ่งที่ทุกคนไม่รู้ไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ และในขณะเดียวกันก็ได้เน้นให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ภาพที่วาดนั้นอาจจะไม่ถูกต้องสมบูรณ์ 100% ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องดี เพราะความไม่ถูกต้องและความไม่สมบูรณ์จะเป็นประเด็นให้ทุกคนได้อภิปราย เพื่อหาข้อยุติ
วิชา Paleoart จึงแตกต่างจากศิลปะคลาสสิกทั่วไปที่มักวาดภาพดอกไม้ พืช สัตว์ ในแบบเหมือนจริง เพราะจุดประสงค์ของ Paleoart ไม่ใช่เพียงแต่ทำให้คนทั่วไปสนใจวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ช่วยทำให้คนทั่วไปเข้าใจธรรมชาติของสิ่งที่วาดด้วย เช่นว่าตัวเมียเลี้ยงลูกอ่อนอย่างไร กินอะไรเป็นอาหาร และมีพฤติกรรมสังคมในรูปแบบใด หรือถ้ามีประเด็นใดที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ Paleoart ก็สามารถกระตุ้นให้มีการค้นคว้าศึกษาต่อได้
แต่ปัญหาใหญ่ที่ศิลปินด้านนี้ต้องเผชิญก็คือ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งไม่มีงบประมาณในการจ้างคนมาวาดภาพ แต่ก็อาจจะแก้ไขได้ระดับหนึ่ง โดยการใช้ social media และการแพร่ภาพทั้งหลายในรูปแบบ online ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่โลกเมื่อ 15 ปีก่อน ยังไม่มี แต่มีใช้กันเกลื่อนในปัจจุบัน
จากซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ ความต้องการขั้นต่อไปในการอยากรู้อยากเห็นของคนทั่วไป คือ การได้เห็นใบหน้าของคนในอดีตที่ล่วงลับไปหลายพันปีแล้ว เช่น พระพักตร์ของพระพุทธเจ้าหรือพระเยซู และฟาโรห์ Tutankhamun กับ Copernicus ฯลฯ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันสามารถทำได้แล้ว โดยการใช้เทคโนโลยี DNA sequencer ประกอบกับการมีกะโหลกศีรษะของบุคคลที่ต้องการจะเห็นใบหน้า ซึ่งในกรณีของพระพุทธเจ้าและพระเยซู เราไม่มีทั้ง DNA และกะโหลก แต่ในกรณีของฟาโรห์ Tutankhamun กับ Copernicus เรามีกะโหลกของคนทั้งสองที่ติดอยู่กับมัมมี่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ไม่ยาก ด้วยการใช้เทคโนโลยี CT scan และ ultrasound ประกอบการวิเคราะห์ genome เพราะ DNA ของคนทุกคนมักจะถูกเก็บให้คงสภาพได้เป็นอย่างดีในเส้นผม ข้อมูล genome ที่ได้จะสามารถบอกได้ว่า คน ๆ นั้นมีรูปร่างเป็นอย่างไร และบรรพบุรุษของเขามาจากไหนได้ แม้คน ๆ นั้นจะได้เสียชีวิตไปนานถึง 4,000 ปีแล้วก็ตาม
ดังในปี 2010 ที่ M. Rasmussen แห่งมหาวิทยาลัย Copenhagen ใน Denmark กับคณะได้ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง รหัสพันธุกรรมของคนโบราณอายุ 4,000 ปี ลงในวารสาร Nature ฉบับที่ 463 หน้า 757-763 ประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปี 2010
Rasmussen ได้นำ DNA จากเส้นผมที่ติดอยู่กับกะโหลกของมนุษย์ ซึ่งศพถูกเก็บอยู่ในสภาพดีในทุ่งน้ำแข็งใกล้เมือง Qeqertarsuaq ในเกาะ Greenland เครื่องแต่งกายของศพแสดงว่าคนตายเป็นคนชาติพันธุ์ Saqqaq ทีได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะ Greenland เป็นกลุ่มแรก ๆ เมื่อ 4,000 ปีก่อน
ผลการวิเคราะห์ DNA แสดงให้เห็นว่า เจ้าของเส้นผมเป็นผู้ชายที่มีบรรพบุรุษมาจากชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในไซบีเรีย ข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นเส้นทางการอพยพของผู้คนจากไซบีเรียเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือ
ในอดีตนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้ใช้ DNA โบราณในการศึกษามัมมี่อียิปต์ เพื่อค้นหาสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในอาณาจักรนั้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้ศึกษา genome ของมนุษย์ Neanderthal ด้วย โดยได้เซลล์ตัวอย่างจากกระดูกและผิวหนังมาวิเคราะห์ แต่ก็ได้พบว่าเนื้อเยื่อโบราณมักมีสิ่งปนเปื้อนที่มาจาก DNA ของมนุษย์ปัจจุบัน และเชื้อรากับแบคทีเรียปนเปื้อนมาด้วย ดังนั้นนักวิจัยจึงต้องพยายามทำให้ DNA โบราณมีความบริสุทธิ์ และมีปริมาณมากขึ้น โดยการวิเคราะห์ชิ้นส่วน DNA สั้น ๆ ที่มีเอกลักษณ์ของสารพันธุกรรมที่ต้องการ และก็ได้พบขนที่มี DNA ของช้าง mammoth มักไม่มีราหรือแบคทีเรียรบกวน
ในที่สุด Rasmussen ก็ได้พบว่า เส้นผมของคนชาติพันธุ์ Saqqaq มี DNA ของคนมากกว่า 84% จึงได้วิเคราะห์ genome เพื่อค้นหาความแตกต่างของ single nucleotide polymorphism (SNP) ใน DNA คู่ base ซึ่งมักบอกเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ได้หา SNP ที่บอกอาการมีขี้หูของคนทั่วไป แล้วนำมาเปรียบเทียบกับ SNP ของคน Eskimo เผ่า Saqqaq ก็ได้พบว่า ใน SNP ดังกล่าว base C ที่ควรอยู่ในแถวล่างของสาย DNA ได้ถูกแทนที่โดย base T (C, G, T, A คือ base ทั้ง 4 ชนิดของ DNA)
การเปลี่ยนแปลงของ SNP
ในคนปกติ มี base C – G – G ใน DNA สายบน
และมี base G – C – C ใน DNA สายล่าง
แต่ในคนเอสกิโม มี base C – A – G ใน DNA สายบน
และมี base G – T – C ใน DNA สายล่าง
นั่นแสดงว่า คนเอสกิโมคนนี้มีขี้หูแห้ง นี่คือเอกลักษณ์หนึ่งที่ Rasmussen กับคณะได้พบว่า คนโบราณกลุ่มนี้มีตาสีน้ำตาล ผิวคล้ำ ผมดกหนา และมีแนวโน้มว่าจะมีศีรษะเถิก เมื่อมีอายุมาก
Rasmussen ได้วิเคราะห์ SNP จำนวนมากกว่า 350,000 ชิ้นส่วน และได้เปรียบเทียบกับข้อมูล SNP ของคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบเกาะ Greenland และพบว่าชาวเอสกิโม ชาติพันธุ์ Saqqaq มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกับชาติพันธุ์ Nganasan, Koryak และ Chukchis ในไซบีเรียตะวันออก ข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ได้มีการอพยพย้ายถิ่นอาศัยของชาวไซบีเรียผ่านทางช่องแคบ Bering เข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือและไปถึง Greenland ในที่สุด
ปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์รู้แล้วว่า SNP มีเป็นจำนวนมากนับล้าน และเป็นตัวที่ใช้บอกเอกลักษณ์ของมนุษย์ได้ ในการวิเคราะห์ครั้งนั้น นักวิจัยได้พบว่า SNP ของชาวเอสกิโมโบราณมีรูปแบบเหมือนกับ SNP ของชาวไซบีเรียตะวันออก และชาวเอสกิโมโบราณมีเลือดกลุ่ม A+ มีตาสีน้ำตาล มีฟันรูปเสียม มี body-mass index (BMI) เหมือนคนที่อาศัยอยู่ในเขตหนาวทั่วไป
ข้อมูลทั้งหลายนี้สามารถช่วยให้เราสามารถสร้างใบหน้าของคนที่เสียชีวิตไปนานแล้วหลายพันไปได้ แต่สำหรับประเด็นคำถามที่ว่า คนไทยมาจากที่ใดนั้น อาจจะมีปัญหาเพราะ เราอยู่ในเขตร้อน ซึ่งได้ทำให้อัตราการเสื่อมสลายของ DNA เป็นไปอย่างค่อนข้างเร็ว แต่เราก็หวังว่า เทคโนโลยีด้านนี้ในอนาคตคงดีขึ้นมาก จนสามารถจะบอกให้เราได้ว่า บรรพบุรุษของเรามาจากที่ใด
อ่านเพิ่มเติมจาก Paleoart : Visions of the Prehistoric Past โดย Zoë Lescaze จัดพิมพ์โดย Taschen ในปี 2017
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์