xs
xsm
sm
md
lg

ดอกทานตะวันของ van Gogh กับคุณค่าทางพฤกษศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในอดีตเมื่อ 400 ปีก่อน การทำงานศิลปะในราชสำนักเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และได้รับการยกย่องมาก เพราะมีรายได้ที่มั่นคง ดังเช่นเมื่อ Gian Bernini (1598–1680) ซึ่งเป็นปฏิมากรอัจฉริยะชาวอิตาเลียน ผู้มีบทบาทมากในการออกแบบสร้างมหาวิหาร St. Peter ที่กรุง Vatican ในอิตาลี ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไปถวายงานสร้างพระราชวัง Versailles ให้สมเด็จพระเจ้า Louis ที่ 14 เมื่อปี 1664 เขาได้นำบุตรชาย 1 คน คนรับใช้ 40 คน และพนักงานครัวไปด้วย 1 คน ตลอดการเดินทางจากโรมในครั้งนั้น ไม่ว่าจะไปถึงเมืองใด บรรดาเจ้าหน้าที่ชั้นสูงในเมืองนั้น จะพากันออกมาต้อนรับอย่างเต็มที่


ด้าน Peter Paul Rubens (1577-1640) ก็ใช่ย่อย การเป็นศิลปินประจำราชสำนักดัตช์ ได้ทำให้เป็นคนที่มีฐานะดี เพราะสามารถขายผลงานภาพวาดได้ในราคาดีมาก จนมีทรัพย์มากเพียงพอจะซื้อปราสาทเป็นที่พักอยู่นอกเมือง Antwerp ใน Belgium ได้


แต่อีก 150 ปีต่อมา เมื่อถึงยุคของ Vincent van Gogh (1853–1890) ซึ่งได้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแนว Impressionism ที่แสดงอารมณ์ของคนวาดจากประสบการณ์ที่ได้เห็นในตอนแรก โดยใช้สีที่ฉูดฉาด ซึ่งแตกต่างจากสไตล์ Romanticism อย่างสิ้นเชิง ทำให้ผู้คนในสังคมสมัยนั้นตามไม่ทัน และไม่ชื่นชมภาพที่ van Gogh วาดเลย ทำให้ขายภาพที่วาดแทบไม่ได้เลย (คือ ขายได้เพียง 3 ภาพตลอดชีวิต) ฐานะความเป็นอยู่ของ van Gogh จึงยากลำบากมาก ทำให้ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง เพราะไม่มีใคร “อุปถัมภ์” และในที่สุดก็ได้ฆ่าตัวตายในวัย 37 ปี


แต่ปัจจุบันภาพวาดต่างๆ ของ van Gogh กลับยิ่งใหญ่มาก เพราะรสนิยมของสังคมในปัจจุบันได้ชื่นชอบภาพที่ van Gogh วาด เช่น ภาพ The Starry Night, Café Terrace at Night, Irises, Gladioli, Asters แต่ภาพที่ทำให้ van Gogh มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ ภาพดอกทานตะวัน (sunflower) ที่มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นชื่อ Yasuo Gota ได้ซื้อไปด้วยราคา 39.92 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 1957 ส่วนคนธรรมดาที่ไม่มีทรัพย์มาก และใจก็ไม่ถึง สามารถชื่นชมภาพวาดอื่น ๆ ของ van Gogh ได้ที่พิพิธภัณฑ์สำคัญของโลก เช่นที่ van Gogh Museum ในกรุง Amsterdam ประเทศ Netherlands ที่ National Gallery ในกรุง London อังกฤษ ที่ Metropolitan Museum of Art ในกรุง New York สหรัฐอเมริกา และที่ Neue Pinakothek ณ เมือง München ในเยอรมนี เป็นต้น


van Gogh เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ปี 1853 ที่หมู่บ้าน Groot-Zundert เมือง Brabant ใน Netherlands บิดาเป็นนักเทศน์ ในวัยเด็ก van Gogh คิดจะเจริญรอยตามบิดา แต่เมื่อสอบวิชาการสอนคริสต์ศาสนาไม่ผ่าน เพราะเมื่อเวลาไปเทศน์ให้ชาวเหมืองที่มีฐานะยากจนและไม่มีความรู้ เขาไม่สามารถสื่อความหมายทางศาสนาให้ชาวเหมืองเข้าใจได้ จึงได้เปลี่ยนใจไปเป็นจิตรกรแทน และตั้งใจว่าจะใช้ภาพวาดช่วยในการสอนศาสนาด้วยการทำงานเป็นศิลปิน

เมื่ออายุ 16 ปี ได้เข้าทำงานเป็นพนักงานขายภาพที่กรุง Hague แม้จะผ่านที่นี่นาน 4 ปี สภาพแวดล้อมก็ไม่ได้ชักจูงใจให้วาดภาพเป็นอาชีพ จึงหวนกลับเป็นสอบเข้าเรียนเทววิทยาที่มหาวิทยาลัย Amsterdam แต่เข้าสอบไม่ได้อีก ครั้นไปสมัครเป็นมิชชันนารีที่ Brussels ในเบลเยียม ก็ไม่มีใครรับ ความผิดหวังเหล่านี้ทำให้ van Gogh มีอาการจิตตกมาก จึงทดลองวาดภาพขายเอง

ภาพแรกในชีวิตของ van Gogh เป็นภาพเกษตรกรกำลังทำงานในทุ่งนา (The Sower) โดยได้วาดในสไตล์เดียวกับ Jean-François Millet (1814-1875) เป็นภาพสไตล์ Realism แต่ภาพนี้ใช้สีทึม ๆ ดูหมองเศร้า จึงขายไม่ได้

ในเวลาต่อมา เมื่อสภาพจิตใจของ van Gogh หม่นหมองขึ้น ๆ เขาก็ยิ่งวาดภาพที่แสดงความทุกข์ยากลำบากมากขึ้น เช่นภาพ The Potato Eaters เป็นภาพครอบครัวชาวไร่มันฝรั่ง จำนวน 5 คน ที่กำลังบริโภคมันฝรั่ง 3 หัวบนโต๊ะอาหาร ภาพชาวไร่ที่ผอมแห้งแรงน้อยเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกนี้ ได้บีบคั้นหัวใจคนดูภาพมาก (มันเป็นภาพแนว Realism ผนวกกับ Expressionism) และนับเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอีกภาพหนึ่งของ van Gogh

ครั้นเมื่อง van Gogh ถูก Sien Hoornik (ซึ่งเป็นโสเภณีลูกติดที่ van Gogh ต้องการจะสร้างครอบครัวกับเธอ) ปฏิเสธการแต่งงานกับเขา เขาก็ยิ่งผิดหวัง จึงตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือทางการเงินจากน้องชาย Theo van Gogh ซึ่งเปิดร้านขายงานศิลปะอยู่ที่ Paris ขณะพำนักอยู่ที่นั่น van Gogh ได้รู้จักศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น Camille Corot กับ Honore Daumier และได้ประกอบอาชีพวาดภาพขาย รวมทั้งได้นำภาพที่วาดออกแสดงในงานศิลปะต่าง ๆ แต่ผลงานถูกนักวิจารณ์ศิลปะวิพากษ์ไปในทางลบหมด van Gogh จึงตัดสินใจหนีสังคนไปใช้ชีวิตเงียบ ๆ ที่เมือง Arles ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เพราะที่นั่นเป็นที่ทำงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคน


ก่อนออกเดินทางไป Arles van Gogh ได้วาดภาพดอกทานตะวันที่เหี่ยวเฉา 4 ดอก วางกองอยู่บนพื้น ในภาพนี้ van Gogh ได้ให้สีดอกทานตะวันเป็นสีน้ำตาลแทนสีเหลือง เพราะกำลังรู้สึกท้อแท้มาก และภาพนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นภาพที่แห้งแล้งและไร้จิตวิญญาณ

ที่ Arlesvan Gogh ได้พบกับ Paul Gauguin (1848–1903) ซึ่งเป็นศิลปินฝรั่งเศส ผู้มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง และเป็นคนที่ไม่ชื่นชมสไตล์การวาดภาพของ van Gogh มาก ดังนั้นเวลา Gauguin วิพากษ์ภาพที่ van Gogh วาด ก็จะเป็นไปในแนวที่ว่า ดอกไม้จริง ๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น หรือภูเขาในแถบนั้นก็มิได้เป็นแบบนี้ เป็นต้น

เมื่อความขัดแย้งมีมากขึ้น ๆ Gauguin จึงได้ลาจาก van Gogh เพื่อเดินทางกลับ Paris เหตุการณ์ถูกทอดทิ้งนี้ได้ทำให้ van Gogh รู้สึกเสียใจมาก จึงหาทางออกด้วยการตัดใบหูข้างหนึ่งของตน แล้วส่งให้เพื่อนดู พร้อมกันนั้นก็ได้วาดภาพเหมือนของตน ขณะมีผ้าพันแผลที่ใบหูเป็นหลักฐานให้ทุกคนเห็นด้วย


เวลาวาดภาพ van Gogh เป็นคนจริงจังมาก ดังนั้นผลงานที่ได้ จึงแสดงให้เห็นฝีแปรงเป็นเส้นที่หนักแน่น ในบางครั้งเขาก็ใช้สีฉูดฉาด แต่ในบางครั้งก็ใช้สีที่สะท้อนความหดหู่ ดังเช่นภาพ The Potato Eaters ซึ่งวาดโดยใช้สีทึบและเข้ม แสดงใบหน้าของคนในภาพว่ามีอารมณ์สิ้นหวัง และมีท่าทางอ่อนล้า

van Gogh ได้ระดมวาดภาพแนวนี้ จนวันหนึ่งเมื่อได้เห็นงานศิลปะของจิตรกรชาวญี่ปุ่นที่นิยมใช้สีสว่างสดใส เขาจึงทดลองใช้สีสดและสว่างในงานวาดบ้าง แต่ก็ยังคงความหนักแน่นในการลงฝีแปรง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ van Gogh เอง ให้ปรากฏอยู่ในทุกภาพ

ตามปกติ van Gogh ชอบวาดภาพที่ตนคุ้นเคย ดังนั้นเราจึงได้เห็นภาพบุรุษไปรษณีย์แห่งเมือง Arles และแพทย์ประจำตัวของ van Gogh ชื่อ Paul Gachet รวมถึงภาพร้านกาแฟ Café Terrace at Night ที่ van Gogh เช่าห้องอาศัยอยู่ ด้านสีที่ใช้วาดก็มีเอกลักษณ์สำคัญ คือ เป็นสีหนา ซึ่งได้จากบีบหลอดสี แล้วใช้แปรงระบายสีนั้นในทันที โดยไม่ได้นำไปผสมกับสีอื่น สีจึงเป็นสีดิบ การใช้สีปริมาณมากทุกครั้ง ทำให้ van Gogh ขาดแคลนสีบ่อย ส่วนสไตล์การปาดแปรงที่รวดเร็วและคมชัดก็แสดงให้เห็นความรู้สึก และอารมณ์ที่ร้อนแรงของ van Gogh ในเวลานั้นด้วย ภาพจึงมี “ชีวิต” ทั้ง ๆ ที่ศิลปินผู้วาดกำลังอดอาหารใกล้ “ตาย”


ผลงานชิ้นสุดท้ายของ van Gogh คือภาพ Wheatfield with Crows ที่วาดในปี 1890 เป็นภาพนาข้าวสาลีที่มีรวงข้าวสุกสีเหลืองอร่าม ครึ่งบนของภาพมีสีฟ้าและมีก้อนเมฆขาวลอยอยู่ กลางภาพมีถนนที่ตัดผ่านทุ่งนา ซึ่งแสดงให้เห็นภาวะจิตใจของคนวาดว่ามีความหวังในชีวิตอยู่บ้าง เหนือทุ่งนาข้าวสาลีมีฝูงกาโบยบิน แต่ดูเหมือนฝูงค้างคาวมากกว่าฝูงนก ภาพนี้จึงแสดงความสิ้นหวังในชีวิตของ van Gogh เพราะหลังจากที่วาดภาพนี้แล้ว van Gogh ก็ยิงตัวตาย และเสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา เป็นการจากไปของจิตรกรผู้เห็นภาพวาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และชีวิตคือการจัดเรียงภาพทั้งหลายอย่างต่อเนื่องกัน

จากภาพวาดทั้งหมด ภาพดอกทานตะวันของ van Gogh เป็นภาพวาดที่มีชื่อเสียงมากที่สุด โดยได้วาดเป็นดอกที่มีจำนวนน้อยและมีจำนวนมากบ้างปักอยู่ในแจกัน โดยให้ดอกมีสีเหลืองที่สดใสแตกต่างกัน เช่น เป็นสีเหลืองอ่อน เหลืองอร่าม เหลืองซีดและเหลืองเข้มจัด ส่วนแจกันก็มีรูปแบบที่แตกต่างกัน การเน้นเรื่องสีของดอกที่แตกต่างกันในภาพเดียวกันเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีจิตรกรคนใดเคยทำมาก่อน และนี่คงเป็นจุดประสงค์หลักของ van Gogh ที่ต้องการจะให้โลกรู้ว่า เขาเป็นคนที่วาดภาพดอกทานตะวันได้ดีที่สุด และทานตะวันก็ได้กลายเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของ van Gogh จนในเวลาครบรอบการเสียชีวิตของเขา ในงานจะมีดอกทานตะวันประดับประดามากมาย


ทานตะวันเป็นต้นไม้ดอกชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวกรีกมีตำนานว่า นางไม้ Clytie ได้ตกหลุมรักสุริยเทพ Helios แต่ต้องประสบความผิดหวัง เพราะเป็นการหลงรักข้างเดียว โดยที่นางได้แต่ชะเง้อคอยการมาเยือนขององค์เทพ นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ทรงปรากฏพ้นขอบฟ้า จนกระทั่งทรงตกลับขอบฟ้า การเฝ้าคอยทุกวันให้เสด็จมาใกล้ มิได้ผลเลย ใบหน้ากลมของนางจึงได้กลายเป็นเกสรดอกไม้ และเส้นผมสีทองได้กลายเป็นกลีบสีเหลืองของดอกทานตะวัน เมื่อเรื่องเล่าเป็นเช่นนี้ ชื่อสกุลทางชีววิทยาของทานตะวันจึงเป็น Helianthus (จากคำ helios ที่แปลว่า ดวงอาทิตย์ และคำ anthos ที่แปลว่าดอกไม้)

แต่เทพนิยายเรื่องนี้มิได้กล่าวถึงสถานที่และเวลาที่ทานตะวันถือกำเนิด ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงต้องหาคำตอบสำหรับเรื่องนี้


ในปี 2003 V.D. Barreda แห่งพิพิธภัณฑ์ Argentina Museum of Natural Sciences ที่ Argentina ได้เสนอรายงานในวารสาร Science ว่า พบฟอสซิลของทานตะวันต้นแรก ที่มีอายุ 50 ล้านปี ในดินแดน Patagonia ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ การสืบค้นเส้นทางการแพร่พันธุ์ของทานตะวันแสดงว่าจาก Patagonia ทานตะวันได้แพร่พันธุ์ขึ้นเหนือผ่านเปรู ถึงเม็กซิโก และได้กลายเป็นที่นิยมปลูกในสวนของชน Aztec ซึ่งนิยมใช้เมล็ดดอกเป็นพืชสมุนไพร และใช้ดอกที่มีสีเหลืองสวยสะพรั่งตบแต่งเรือนผมของสาวพรมจารีในเทศกาลทางศาสนา


ในปี 1581 เมื่อกองทัพล่าอาณานิคมของสเปนภายใต้การนำของนายพล Hernán Cortés (1485-1547) เข้ายึดครองอาณาจักร Aztec ได้แล้ว Cortés ได้นำต้นทานตะวันไปทดลองปลูกในยุโรป และพบว่าผู้คนชื่นชมดอกไม้ชนาดนี้มาก ไม่เพียงแต่คนธรรมดาเท่านั้นที่หลงไหล แม้แต่พระเจ้า Louis ที่ 14 ก็ทรงโปรดปรานมากเช่นกัน และเมื่อพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นทุ่งทานตะวันที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา และทอดพระเนตรเห็นดอกทานตะวันทุกดอกหันหน้ามาถวายการต้อนรับ เสมือนแสดงความจงรักภักดีอย่างพร้อมเพรียงกัน พระองค์จึงทรงรู้สึกปรีดามาก จนทำให้ปวงพสกนิกรพากันถวายพระนามของพระองค์ว่าสุริยะกษัตริย์ (Sun King)


ในอังกฤษ Oscar Wilde (1854–1900) ซึ่งเป็นกวีและนักประพันธ์บทละครชาวอังกฤษ แห่งสมาคม Aesthetic Movement ได้ชักนำให้สมาคมใช้ทานตะวันเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของสมาคม ด้านจิตรกร Vincent van Gogh ก็นิยมวาดภาพดอกทานตะวัน เพราะสีเหลืองที่สดใสของดอกสามารถช่วย van Gogh ซึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ได้รู้สึกดีขึ้นบ้าง

ทานตะวัน (Helianthus annuus) เป็นพืชล้มลุกชนิดใบเลี้ยงคู่ ในวงศ์ Asteraceae ลำต้นมักขึ้นตรงสูงตั้งแต่ 1 ถึง 5 เมตร โดยมีขนเล็ก ๆ ปกคลุมเต็มและสามารถอุ้มน้ำได้ดี ขณะมีอายุยังน้อย ลำต้นจะหักง่าย แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ต้นจะแข็งแรงขึ้น ใบมีสีเขียวเป็นรูปหัวใจ ตัวใบยาวตั้งแต่ 10 ถึง 15 เซนติเมตร ต้นทานตะวันต้นหนึ่งอาจมีใบได้ตั้งแต่ 20 ถึง 70 ใบ โดยใบจะแตกออกจากลำต้นเป็นคู่ ๆ ทำมุมกัน เพื่อให้ใบสามารถรับแสงอาทิตย์ได้มากที่สุด

เมื่อต้นออกดอกแล้ว การแตกใบจะน้อยลง ๆ ส่วนดอกที่ออกมักเป็นกลุ่มดอก (inflorescence) มีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ทานตะวันจึงไม่จำเป็นต้องอาศัยแมลงในการผสมเกสร หัวดอกที่กลมใหญ่อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร เพราะกลุ่มดอกหนึ่งๆ อาจมีดอกย่อยได้นับพันเรียงรายอยู่กันแน่นบนช่อดอก
หลังจากที่ดอกออกแล้วประมาณหนึ่งเดือน กลีบดอกทานตะวันจะเปลี่ยนจากสีเหลืองสดเป็นสีน้ำตาล ซึ่งบ่งบอกว่าดอกกำลังจะแก่และพร้อมให้ตัดไปผึ่งแดด ส่วนลำต้นที่ตากแดดแห้งก็เหมาะสำหรับการนำไปใช้ทำกระดาษ เชื้อเพลิง และราก อาจใช้ทำแป้ง

หลังจากที่ดอกออกแล้วประมาณหนึ่งเดือน กลีบดอกทานตะวันจะเปลี่ยนจากสีเหลืองสดเป็นสีน้ำตาล ซึ่งบ่งบอกว่าดอกกำลังจะแก่และพร้อมให้ตัดไปผึ่งแดด ส่วนลำต้นที่ตากแดดแห้งก็เหมาะสำหรับการนำไปใช้ทำกระดาษ เชื้อเพลิง และราก อาจใช้ทำแป้ง


ทานตะวันมักแพร่พันธุ์ด้วยเมล็ดที่มีสีดำแกมเทา ดอกทานตะวันดอกหนึ่งอาจมีเมล็ดได้มากตั้งแต่ 250 ถึง 1,500 เมล็ด เมล็ดมีความยาวตั้งแต่ 7 ถึง 25 มิลลิเมตร และกว้างตั้งแต่ 4 ถึง 13 มิลลิเมตร เนื้อเมล็ดมีสารอาหารประเภทโปรตีน ที่อาจจะมีมากถึง 50% โดยน้ำหนัก

ในปี 1716 Arthur Bunyan นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้วิจัยพบว่า น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดทานตะวัน นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการใช้ทำเนยเทียม น้ำสลัด ปรุงอาหาร ทำสีและพลาสติกแล้ว ยังมีกรดไขมันที่สามารถลด cholesterol ได้ด้วย จึงเป็นน้ำมันพืชที่มีคุณภาพดีรองจากน้ำมันถั่วเหลือง กากที่เหลือจากสกัดสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 โลกผลิตน้ำมันทานตะวันได้ประมาณปีละ 1 แสนตัน ปัจจุบันรัสเซียประเทศเดียวก็ผลิตได้ปีละ 1 ล้านตัน โดยมีจีน ยูเครน และ อาร์เจนตินา ตามมาติดๆ

ตามปกติดินที่เหมาะสำหรับการปลูกทานตะวันมักมี pH ระหว่าง 5.7 ถึง 8.0 และเป็นดินร่วนปนทราย และเดือนที่เหมาะสำหรับการปลูก คือ ตั้งแต่กันยายนถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นปลายฤดูฝน ทานตะวันชอบขึ้นในบริเวณไม่มีน้ำขัง อากาศมีอุณหภูมิ 18 ถึง 25 องศาเซลเซียส รากสามารถลงลึกได้ตั้งแต่ 1.5 ถึง 2-7 เมตร แม้เป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมาก แต่มันก็ต้องการปุ๋ย และยากำจัดวัชพืชและแมลงที่เป็นศัตรู เช่น ยา alachlor สำหรับฉีดกันโรคราสนิม และโรคเหี่ยว ส่วนแมลงร้าย คือ เต่าทอง


สมบัติประหลาดที่เรารู้เกี่ยวกับดอกทานตะวัน คือ ก่อนต้นจะออกดอก ลำต้นจะควบคุมปลายต้นให้หันไปทางทิศตะวันออกในเวลาเช้าเสมอ และให้หันไปทางทิศตะวันตกในเวลาบ่าย กระบวนการ “บิดตัว” ตามดวงอาทิตย์ในลักษณะนี้ นักชีววิทยารู้จักในนาม heliotropism ครั้นเมื่อถึงเวลากลางคืน ปลายต้นก็จะบิดตัวกลับไปทางทิศตะวันออกอีก เพื่อเตรียมตัวรับแสงอาทิตย์ในยามเช้า กระบวนการนี้ Hagop Atamian แห่งมหาวิทยาลัย California ที่วิทยาเขต Davis ได้พบและเผยแพร่ในวารสาร Science ฉบับที่ 353 เมื่อปี 2016 ว่า เพราะทานตะวันมีฮอร์โมนชนิด auxin ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปในลำต้นสู่ด้านที่ไม่ถูกแดด เพื่อทำให้ลำต้นโค้งกลับมาตั้งตรงในเวลาเที่ยงวัน และเมื่อพระอาทิตย์ตกฮอร์โมน auxin ก็จะช่วยให้ปลายต้นโค้งกลับทางทิศตะวันตก และให้กลับตั้งตรงอีกในเวลาเที่ยงคืน


ในปี 2017 Helene Badouin แห่งห้องปฏิบัติการ Laboratory of Biometry and Evolutionary Biology (LBEB) ที่เมือง Lyon ในฝรั่งเศสกับคณะ ได้ถอดรหัสพันธุกรรม (genome) ของทานตะวัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีคุณค่ามาก เพื่อช่วยเกษตรกรให้สามารถพัฒนาสายพันธุ์ จนสามารถขึ้นได้ในภูมิประเทศที่แห้งแล้ง หรือในที่ ๆ มีฝนตกชุกได้ เพราะการรู้ gene ทุกตัวที่มีบทบาทในการควบคุมการเจริญเติบโตของราก ลำต้น ใบ และดอก จะช่วยเกษตรกรได้มาก เวลาสภาพภูมิอากาศมีปัญหา รายงานของ Badouin ได้ลงเผยแพร่ในวารสาร Nature ฉบับที่ 546 ปี 2017

การรู้หน้าที่ของ gene บน chromosome ทั้ง 17 ตัว ได้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า ทานตะวันมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างไร ทานตะวันจึงได้กลายเป็นพืชตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อพืชทุกชนิดบนโลก ทั้งพืชปลูก และพืชป่า เพราะทานตะวันสามารถปรับตัวได้เร็วต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น สภาพความแห้งแล้ง สภาพการเจริญเติบโตในน้ำเค็ม และความต้องการปุ๋ยน้อย ดังนั้นทานตะวันจึงเหมาะสำหรับการใช้ในการเตรียมตัวสู้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วของสภาพอากาศ เพราะมันขึ้นได้ทั้งในที่ลุ่มและในทะเลทราย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พืชอื่น ๆ ไม่สามารถขึ้นได้เลย

อ่านเพิ่มเติมจาก “One plant has the ability to help us understand climate change” โดย Meta Moran ในวารสาร Quartz ฉบับวันที่ 13 มีนาคม 2018


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น