xs
xsm
sm
md
lg

สกสว.ประสานพลัง สถาบันวิทยสิริเมธี ขับเคลื่อนงานวิจิยชั้นแนวหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว. เยี่ยมชมผลดำเนินงาน สถาบันวิทยสิริเมธี พร้อมหารือแนวทางการส่งเสริมการขับเคลื่อนการวิจัยชั้นแนวหน้า และ แนวทางการพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูง เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

เมื่อเร็วนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รองศาสตราจารย์.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกําลังคนและสถาบันความรู้ สกสว. เยี่ยมชม และติดตามผลการดําเนินงานโครงการวิจัยที่ได้รับงบประมาณ สนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund; FF) จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ของสถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC เพื่อรับทราบทิศทางการบริหารจัดการแผนงานและโครงการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของหน่วยงาน รวมถึงการจัดทำคำของบประมาณและการบริหารจัดการงบประมาณด้าน ววน. และการสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานให้มีศักยภาพในการนำส่งผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบ ววน. โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี และนักวิจัย ให้การต้อนรับ ก่อนเยี่ยมชมโครงการเด่นของสถาบันฯ

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์.ดร.คมกฤต เล็กสกุล กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณเพื่อการจัดสรรทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งในส่วนของงบประมาณสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) จำนวนร้อยละ 60-65 ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ ตามแผนด้าน ววน. แก่หน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 แห่ง และ งบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) จำนวนร้อยละ 35-40 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานตามพันธกิจการพัฒนาประเทศ ทั้ง 188 หน่วยงาน ซึ่งสถาบันวิทยสิริเมธี และ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็อยู่ในกลุ่ม FF นี้ สำหรับในปี 2566 สกสว. ได้จัดสรรงบประมาณ ให้ดำเนินงานด้านการวิจัย รวมทั้งสิ้น 10 โครงการ อาทิ การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและเคมีไฟฟ้าสำหรับกระบวนการเปลี่ยนสารอนุพันธ์จากอ้อยและน้ำตาลไปเป็นสารเคมีและวัสดุมูลค่าเพิ่ม การศึกษาตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพ โครงการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนพลังงานสูงขนาด 18,650 ชนิดเอ็นเอ็มซีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และ วัสดุหน้าที่เฉพาะขั้นสูงเพื่อใช้ในการกักเก็บพลังงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ สกสว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สกสว. จะช่วยกันพัฒนา และ ยกระดับการวิจัยของประเทศ โดยเฉพาะการวิจัยชั้นแนวหน้า หรือ Frontier Research การวิจัยที่จะช่วยนำไปสู่การค้นพบใหม่ทางวิทยาศาสตร์ เกิดองค์ความรู้ใหม่และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ก่อให้เกิดเทคโนโลยีต้นน้ำที่สามารถประยุกต์ใช้ในหลายด้าน หรือมีการต่อยอดทางเทคโนโลยีระหว่างทางนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ และผู้เชี่ยวชาญระดับสูงต่อไป

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา VISTEC ยังคงให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะและสรรหาคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และ นักศึกษาที่มีคุณสมบัติสูง ในการสร้างวิทยาศาสตร์แนวหน้า การคิดค้นวิธีการที่ทันสมัย วัสดุที่ใช้งานได้ และผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ โดยมีเป้าหมายสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยใช้วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และนวัตกรรม โดยเน้นที่การวิจัยเมกะเทรนด์เกี่ยวกับพลังงาน วัสดุขั้นสูง วิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ และดิจิทัล ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไปในอนาคต โดยยกตัวอย่างโครงการสำคัญที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนจากกองทุน ววน. จากการพัฒนาตัวตรวจวัดชีวภาพสมัยใหม่

ซึ่งคณะผู้วิจัยคาดหวังว่าโครงการวิจัยนี้ จะให้ผลผลิตที่เป็นทั้งองค์ความรู้พื้นฐาน คือ ปฏิกิริยาเอนไซม์ที่สามารถใช้ในการตรวจวัดสารพันธุกรรมหรือโมเลกุลบ่งชี้โรค ณ จุดดูแลผู้ป่วย ที่มีความแม่นยำเทียบเท่าหรือดีกว่าวิธีมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ และสามารถใช้ในการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อหรือโมเลกุลบ่งชี้โรคหลากหลายได้พร้อม ๆ กัน ที่เป็นนวัตกรรม คือ ผลิตภัณฑ์ชุดตรวจวัดสารพันธุกรรมเชื้อโรค และอุปกรณ์ต้นแบบผลิตภัณฑ์ตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้าผสานกับปฏิกิริยาเอนไซม์และอุปกรณ์ไมโครฟลูอิดิกส์ ที่มีความเหมาะสมในการใช้งานทางคลินิก และที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างนักวิจัยผู้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนักวิจัยทางคลินิก ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ และ นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่การพัฒนาและรองรับความต้องการของประเทศต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น