xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาภัยอันตรายจากเหตุการณ์ "ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2004 ขณะเวลา 7.59 นาฬิกาได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงขนาด 9.2 ตามมาตรา Richter ในบริเวณใต้ทะเลนอกฝั่งทางตอนเหนือของเกาะ Sumatra ทำให้เกิดคลื่นสึนามิที่มีความสูงตั้งแต่ 15-30 เมตร คลื่นที่เข้าถล่มบรรดาเมืองใหญ่-น้อยที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเล Andaman และมหาสมุทร India จนมีผลทำให้มีผู้เสียชีวิตไปร่วม 228,000 คน

ส่วนบนท้องฟ้าในช่วงเวลาเดียวกัน นักดาราศาสตร์ทั่วโลกก็กำลังพะว้าพะวัง กังวลเรื่องมหันตภัยที่อาจจะรุนแรงยิ่งกว่า นั่นคือ อุกกาบาตภัย ที่มีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งกำลังจะพุ่งชนโลก และความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ได้


ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ เป็นดาวดวงที่นักดาราศาสตร์ชื่อ David Tholen แห่ง หอดูดาว Kitt Peak ในรัฐ Arizona สหรัฐอเมริกา ได้เห็นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2004 ต่อจากนั้นนักดาราศาสตร์ที่หอดูดาว Siding Spring ในออสเตรเลียก็ได้ติดตามดูวิถีโคจร และวัดสมบัติทางกายภาพของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ และคำนวณพบว่ามันมีโอกาสจะพุ่งชนโลก ในวันที่ 13 เมษายน ปี 2029 แม้ผลการคำนวณแสดงว่า โอกาสการชนจะเป็นเพียง 0.3% ก็ตาม แต่ความรุนแรงของภัยตามมาตรา Torino มีค่าเท่ากับ 4 (สเกลความรุนแรงของอุกกาบาตภัยนี้ Richard Binzel แห่งสถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) เป็นคนสร้างขึ้น และได้นำเสนอในที่ประชุมของ International Astronomical Union (IAU) เป็นครั้งแรกที่เมือง Torino ในอิตาลี ดังนั้นสเกลความรุนแรงของอุกกาบาตภัยจึงเป็น Torino) ซึ่งถ้าความรุนแรงมีค่าเท่ากับ 0 นั่นแสดงว่า ดาวเคราะห์น้อยจะไม่ชนโลก แต่ถ้าเท่ากับ 10 นั่นหมายความว่าหลังการชน มนุษย์อาจจะสูญพันธุ์ได้


แต่แล้วค่าภัยเสี่ยงนี้ก็ได้ถูกปรับแก้อีก เมื่อการสังเกต ซึ่งได้กระทำอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา ที่หอดูดาว Kitt Peak ได้ให้ข้อมูลระยะทางที่ดาวเคราะห์น้อยอยู่ห่างจากโลก ทิศทาง และความเร็วของดาวเคราะห์น้อย ข้อมูลที่เปลี่ยนไปแสดงให้เห็นว่า ดาวเคราะห์น้อยจะชนโลกในปี 2029 ก็เป็นพุ่งชนในปี 2036 แต่ในที่สุดก็กลับเป็นว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะไม่ชนโลกเลย


ดาวเคราะห์น้อยดวงที่ทำให้คนทั้งโลกมีอาการอกสั่นขวัญแขวนนี้มีชื่อเป็นทางการว่า 99942 Apophis (ชื่อนี้ในภาษากรีก
เป็นพระนามของเทพเจ้าแห่งความมืด ตามเทพนิยายของชาวอียิปต์ และเป็นเทพผู้ทรงกลืนดวงอาทิตย์ให้วูบหายไปจากท้องฟ้าในเวลากลางคืนและทรงคายดวงอาทิตย์กลับออกมาในเวลากลางวัน) ดาวเคราะห์น้อยApophis โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี มีระยะห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ย 138 ล้านกิโลเมตร และเมื่อโลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ150 ล้านกิโลเมตร ดังนั้นApophis จึงโคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าโลกนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มันถูกค้นพบค่อนข้าง “ช้า” เพราะเวลาสังเกตมัน มันจะถูกแสงจ้าจากดวงอาทิตย์บดบัง ในขณะที่ดาวเคราะห์น้อยทั่วไปจะโคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไกลกว่ามันมากคือ อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี

กระนั้นข้อมูลพื้นฐานของ Apophis ที่ได้จากการสำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุArecibo ในประเทศ‎Puerto Rico ได้ให้ข้อมูลว่า มันมีรูปทรงเรียวรีเหมือนถั่วลิสงมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 370 เมตร มีมวล27,000 ล้านกิโลกรัม มีความเร็วในวงโคจรเท่ากับ 37 กิโลเมตร/วินาที มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์เท่ากับ 324 วัน (ของโลก365 วัน) ข้อมูลที่ได้ในปี 2004 นี้ แสดงว่า Apophis จะพุ่งผ่านโลกที่ระยะใกล้31,000 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าใกล้โลกยิ่งกว่าดวงจันทร์ประมาณ 10 เท่า และที่ระยะทางนี้ โอกาสที่มันจะชนโลก มีค่าเท่ากับ 2.7%

แต่เมื่อการสังเกตทางดาราศาสตร์ที่กระทำมีคุณภาพดีขึ้นการวัดความเร็วของดาวเคราะห์น้อยก็ถูกต้องและละเอียดขึ้น การรู้ระยะทางที่ดาวเคราะห์น้อยอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์และกับโลกก็ถูกต้องมากขึ้นตัวเลขภัยเสี่ยงจึงลดจาก2.7% ในปี2029 เป็น0.03% ในปี 2036 แต่เมื่อถึงวันนี้โอกาสการชนระหว่าง Apophis กับโลก มีค่าเป็นศูนย์ในปี2100

ความยากลำบากในการพยากรณ์อุกกาบาตภัยให้แน่นอนอาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่สำคัญเกิดจากการที่มันมีรูปทรงบิดเบี้ยวไม่เป็นทรงเรขาคณิต (คือไม่กลมดิก แบบลูกบิลเลียด ไม่รีแบบไข่) นอกจากนี้มันก็ไม่มีแกนหมุนที่แน่นอน
เพราะลักษณะการหมุนรอบตัวเองของมันเป็นแบบอลวน คือ ทิศของแกนหมุนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาผลลัพธ์ทั้งหมดนี้ เกิดจากปรากฏการณ์Yarkovskyที่บริเวณผิวของดาวเคราะห์น้อย ซึ่งทำให้เกิดแรงดันที่มีทิศไม่คงที่ ขณะดาวเคราะห์น้อยหมุนรอบตัวเองในอวกาศดาวเคราะห์น้อยดวงที่ทำให้คนทั้งโลกมีอาการอกสั่นขวัญแขวนนี้มีชื่อเป็นทางการว่า 99942 Apophis (ชื่อนี้ในภาษากรีกเป็นพระนามของเทพเจ้าแห่งความมืด ตามเทพนิยายของชาวอียิปต์ และเป็นเทพผู้ทรงกลืนดวงอาทิตย์ให้วูบหายไปจากท้องฟ้าในเวลากลางคืนและทรงคายดวงอาทิตย์กลับออกมาในเวลากลางวัน) ดาวเคราะห์น้อยApophis โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี มีระยะห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ย138 ล้านกิโลเมตร และเมื่อโลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ150 ล้านกิโลเมตร ดังนั้น Apophis จึงโคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าโลก

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มันถูกค้นพบค่อนข้าง“ช้า” เพราะเวลาสังเกตมัน มันจะถูกแสงจ้าจากดวงอาทิตย์บดบัง ในขณะที่ดาวเคราะห์น้อยทั่วไปจะโคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไกลกว่ามันมาก
คือ อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี


ปรากฏการณ์ Yarkovsky นี้ วิศวกรชาวโปแลนด์-รัสเซียชื่อ Ivan Osipovich Yarkovsky (1844-1902) เป็นผู้พบว่า มักจะเกิดกับดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดตั้งแต่ 10 เซนติเมตร จนกระทั่งถึง 10 กิโลเมตร และแรงนี้มิใช่แรงโน้มถ่วง แต่เป็นแรงที่เกิดเวลาแสงอาทิตย์ตกกระทบวัตถุในอวกาศ แล้วแสงได้ทำให้วัตถุร้อนขึ้น หลังจากที่ความร้อนที่เกิดขึ้นได้แพร่กระจายไปทั่ววัตถุแล้ว วัตถุนั้นก็จะแผ่รังสีความร้อนกลับคืนสู่อวกาศ และการคายรังสีความร้อน จะทำให้เกิดแรงดันในทิศตรงกันข้ามกับทิศที่ปล่อยรังสี เพราะผิวของดาวเคราะห์น้อยมีลักษณะไม่ราบเรียบ ดังนั้นทิศของแรงที่กระทำบนดาวเคราะห์น้อย จึงมีได้หลายทิศทาง มีผลทำให้แรงลัพธ์มีค่าไม่แน่นอนในระยะยาว


นอกจากนี้ก็มีเหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า เนื้อดาวที่เป็นองค์ประกอบของดาวเคราะห์น้อยประกอบด้วยธาตุหรือสารประกอบชนิดใดบ้าง ดังนั้นกระบวนการคาย photon ของพลังงานแสงออกมาจึงมีค่าที่ไม่มีใครรู้ชัด และเมื่อขนาดและทิศทางของแรงมีค่าไม่สม่ำเสมอในทุกทิศทาง เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงทำให้ความแม่นยำในการพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับดาวเคราะห์น้อยมีความไม่แน่นอนไปด้วย

ตามปกตินอกจากแรง Yarkovsky แล้ว ดาวเคราะห์น้อยก็ยังได้รับแรงโน้มถ่วงที่โลก ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์กระทำต่อมันด้วย ถ้ามวลของดาวเคราะห์น้อยมีค่าคงตัว การใช้กฎการเคลื่อนที่ของ Newton ก็ไม่มีปัญหาใด ๆ แต่ดาวเคราะห์น้อยอาจสูญเสียมวลบางส่วน ขณะที่มันโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก หรือดาวเคราะห์น้อยอาจถูกดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นพุ่งชน ทำให้ชิ้นส่วนของดาวกระเด็นแตกออกไป มวลของมันจึงน้อยลง การพยากรณ์เรื่องนี้จึงต้องมีการติดตามดูดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นตลอดเวลาด้วย เราจึงจะสามารถพยากรณ์เหตุการณ์ที่มันจะสร้างได้แม่นยำ แต่เมื่อดาวมีจำนวนมากเป็นแสนดวง และมีขนาดเล็ก การสังเกตดูตลอดเวลาจึงเป็นปัญหา

ในประเด็นการวัดความเร็วของดาวเคราะห์น้อยในทิศต่าง ๆ นั้น ก็มีความแน่นอนมากพอสมควร เพราะตามปกตินักดาราศาสตร์สามารถวัดความเร็วของดาวเคราะห์น้อยในแนวขนานกับทิศการสังเกตได้ดี (ไม่ว่าจะพุ่งเข้าหาหรือพุ่งออกจากผู้สังเกต) แต่การจะรู้ความเร็วในแนวตั้งฉากกับทิศการสังเกตนั้น เรายังทำได้ไม่ดีนัก นี่ก็เป็นความไม่แน่นอนอีกประเด็นหนึ่งที่สามารถทำให้คำพยากรณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของดาวเคราะห์น้อยผิดพลาด

สถิติการสำรวจในปี 2022 แสดงให้เห็นว่า เรามีดาวเคราะห์น้อยที่โคจรใกล้โลก near-Earth object (NEO) จำนวน 30,503 ดวง และได้แบ่งแยกประเภทของ NEO ที่มีศักยภาพจะทำลายโลก ปรากฏว่ามีจำนวน 2,304 ดวง และที่มีขนาดใหญ่ คือ มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่า 1 กิโลเมตรนั้น มีประมาณ 80%

สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อย คือ โลกได้ถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2013 ที่ Chelyabinsk ในรัสเซีย การระเบิดในอากาศของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้คิดได้เทียบเท่ากับดินระเบิด 500 กิโลตัน หรือระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงที่ Hiroshima จำนวน 30 ลูก

ประวัติศาสตร์ไม่ได้ระบุว่า เคยมีเครื่องบินลำใดถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน แต่ในกรณีของคนพบว่า มีเพียง 1 คน ที่ถูกอุกกาบาตขนาดเล็กพุ่งชนที่ขา เมื่อปี 1954 แต่ไม่เป็นอันตรายใด ๆ สำหรับคนทั่วไปที่อยู่บนโลกนั้น ก็ได้พบว่าในพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร โอกาสที่จะถูกอุกกาบาตตกกระทบมีค่าประมาณ 2x10^(-4) % เท่านั้นเอง 

ตารางแสดงจำนวนดาวเคราะห์โดยประมาณ และผลกระทบที่จะเกิดตามมา เวลาดาวเคราะห์น้อยตกสู่โลก และเนื้อดาวได้ถูกอากาศเสียดสีไป จนเหลือแต่อุกกาบาต




เมื่อความหายนะมีโอกาสจะเกิดได้มากเช่นนี้ การรู้ตัวล่วงหน้านานๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้นักดาราศาสตร์ได้ตระเตรียมป้องกันตัว โดยในเบื้องต้น เขาจะต้องรู้ว่าดาวเคราะห์น้อยมีขนาดใหญ่-เล็กเพียงใด มีความเร็วมาก-น้อยเพียงใด จะพุ่งชนโลกเมื่อใด ณ ประเทศใด หรือจะพุ่งลงมหาสมุทร ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องสามารถบอกล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง เช่นว่าในวันนั้นหรือวันนี้ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนประเทศใด และถ้าประเทศนั้นเป็นประเทศอิหร่านหรือเกาหลีเหนือ รัฐบาลสหรัฐฯ จะวางเฉยหรือไม่ และถ้าเทคโนโลยีการเบี่ยงเบนวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยเกิดความผิดพลาด แล้วดาวเคราะห์น้อยได้พุ่งลงที่ตุรกีหรือญี่ปุ่นแทน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และถ้าดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งลงที่ประเทศไทย คนไทยจะมีวิธีป้องกันตัวและป้องกันภัยอย่างไร ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ควรสังวร คือ ถ้าการพยากรณ์เรื่องนี้ผิดพลาดบ่อย ๆ ก็จะไม่มีใครให้ความไว้วางใจทีมพยากรณ์นั้นอีกเลย

สำหรับหลักการที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการคำนวณเรื่องนี้ ตามปกตินอกจากจะต้องมีความรู้เรื่องแรงต่าง ๆ ที่กระทำต่อดาวเคราะห์น้อยอย่างสมบูรณ์และดีที่สุดแล้ว ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไป ก็คือ ถ้าดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นพุ่งผ่านรูกุญแจ (keyhole) ที่เป็นบริเวณเหนือโลกเมื่อใด ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นก็จะเบนลงชนโลกอย่างแน่นอน แต่ถ้าดาวนั้นพุ่งผ่านเลยรูกุญแจไป เหตุการณ์นรกบนโลกก็จะไม่บังเกิด

ในการศึกษาเรื่องรูกุญแจที่ว่านั้น นักดาราศาสตร์รู้ว่าเวลาวัตถุขนาดเล็กเคลื่อนที่เข้าใกล้วัตถุที่มีขนาดใหญ่ แรงโน้มถ่วงของวัตถุใหญ่จะทำให้วิถีโคจรของวัตถุเล็กเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย และวัตถุเล็กจะมีความเร็วมากขึ้น จึงดูเสมือนว่ามันถูกวัตถุใหญ่ “เหวี่ยง”

แต่ในการพิจารณาว่า วัตถุเล็กจะชนวัตถุใหญ่หรือไม่นั้น นักดาราศาสตร์จะต้องพิจารณาจากวงโคจรพ้อง (resonance circle) ซึ่งเป็นโลกัสของจุดที่แสดงให้เห็นการเผชิญหน้าระยะใกล้ระหว่างดาวทั้งสองดวงในอนาคต เช่น ถ้าวงโคจรนั้นมีคาบการโคจรเป็นอัตราส่วนง่าย ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับโลก เช่น 7:6 ซึ่งหมายความว่า ถ้าดาวเคราะห์น้อยโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ได้ 6 รอบ ในขณะที่โลกโคจรได้ครบ 7 รอบ นั่นก็หมายความว่า ภายในเวลา 7 ปีหลังจากที่ Apophis โคจรใกล้โลกในปี 2029 แล้ว มันก็ใกล้จะชนโลกได้อีกในปี 2036 โดยดาวเคราะห์น้อย Apophis จะต้องพุ่งผ่านรูกุญแจ (“ประตูนรก” ในอวกาศ) ซึ่งอยู่ในวงโคจร และมีความยาวเป็นระยะทางประมาณ 300 เมตร

โดยการอาศัยการคำนวณเช่นนี้ และพิจารณาจำนวนดาวเคราะห์น้อยที่มีอยู่ในอวกาศ ความถี่ที่มันพุ่งชนโลกและจำนวนประชากรโลก นักดาราศาสตร์ เช่น Harry Atkinson ชาวอังกฤษ ได้เคยคำนวณพบว่า โอกาสที่คน ๆ หนึ่งจะเสียชีวิต เพราะถูกอุกกาบาตชนนั้น มีค่าเท่ากับ 1/20,000 คือเท่ากับ 0.005% ซึ่งนับว่ามากเท่าโอกาสที่ผู้โดยสารจะเสียชีวิต เพราะเครื่องบินตก
แต่ถ้าเราพิจารณาการเสียชีวิตเพราะผลกระทบที่เกิดจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ก็มีภัยอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การตกของดาวเคราะห์น้อยในมหาสมุทร ซึ่งทำให้เกิดคลื่นสึนามิยักษ์ท่วมประเทศต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบมหาสมุทร

การสำรวจหลุมอุกกาบาตที่พบบนโลกได้ข้อมูลที่แสดงว่า มีทั้งหมด 190 หลุม และเมื่อพื้นที่ของโลกที่เป็นทวีปต่อพื้นของโลกที่เป็นมหาสมุทรมีค่าประมาณ 30 ต่อ 70 เราก็สามารถอนุมานได้ว่า หลุมอุกกาบาตในมหาสมุทรคงจะมีมากประมาณ 440 หลุม เช่น หลุมที่เกิดจากดาวเคราะห์น้อย Eltanin พุ่งชนเมื่อ 2.16 ล้านปีก่อน และหลุ่มนี้อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก การศึกษาสภาพของหลุมใต้มหาสมุทรแสดงให้เห็นว่า ดาวเคราะห์น้อย Eltanin ที่พุ่งชนโลกมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 4 กิโลเมตร ทำให้เกิดหลุมกว้าง 60 กิโลเมตร และลึก 5 กิโลเมตร แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้วยคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นว่า หลังการพุ่งชนเพียง 5 ชั่วโมง คลื่นสึนามิที่มีความสูง 70 เมตร ได้เดินทางไปไกล 3,000 กิโลเมตร และภายในเวลา 10 ชั่วโมง คลื่นก็เดินทางถึงประเทศปานามา อีก 20 ชั่วโมงต่อมา คลื่นได้เดินทางถึง Alaska นอกจากนี้คลื่นสึนามิบางส่วนยังได้อ้อมผ่านช่องแคบ Magellan ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงทวีปแอฟริกาด้วย


สำหรับวิธีป้องกันภัยที่จะเกิดจากการที่โลกถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนนั้น นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีได้คิดไว้หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน


วิธีแรก คือ ใช้วิธียิงจรวดหรือยานอวกาศให้พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยตรง ๆ วิธีนี้จะทำให้ดาวเคราะห์น้อยมีความเร็วมากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งมีผลทำให้วงโคจรมีขนาดเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น จนทำให้ดาวเคราะห์น้อยนั้นโคจรผ่านโลกไปได้อย่างปลอดภัย วิธีนี้มีข้อจำกัดตรงที่ความเร็วของดาวเคราะห์น้อยจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากประมาณ 1 เซนติเมตร/วินาที การที่ความเร็วเปลี่ยนไปน้อยมากเช่นนี้ เพราะมวลของยานอวกาศที่ใช้ยิงมีค่าน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับมวลของดาวเคราะห์น้อย และข้อเสียอีกประการหนึ่ง ก็คือ กระบวนการนี้ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวนานหลายปี (12 ปี) สำหรับดาวเคราะห์น้อยที่มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์เท่ากับ 1.15 ปี จนในที่สุดเวลาดาวเคราะห์น้อยเผชิญโลกที่ระยะใกล้ ดาวจะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของโลกประมาณ 6,720 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ปลอดภัย (อ่านเพิ่มเติมจากบทความของผู้เขียน ในผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน ปี 2565)


วิธีที่สอง ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ โดยการยิงระเบิดเข้าไปใกล้ดาวเคราะห์น้อย แล้วจุดชนวนระเบิด ให้ระเบิดอยู่ใกล้ดาวเคราะห์น้อย วิธีนี้มีข้อเสีย คือ ดาวเคราะห์น้อยอาจแตกกระจัดกระจาย แล้วชิ้นส่วนเล็ก ๆ อาจพุ่งมาทำร้ายโลกได้อีก วิธีนี้จึงเหมาะที่จะใช้ ถ้าดาวเคราะห์น้อยดาวที่ต้องการจะทำลายอยู่ไกลจากโลกมาก แต่ถ้าอยู่ใกล้มาก เช่น ในกรณีที่นักดาราศาสตร์เห็นมันอย่างไม่คาดฝัน การเตรียมระเบิดและจรวดที่จะใช้ยิงก็มักจะไม่ทันการณ์ ดังนั้นการใช้ระเบิดก็จะทำไม่ได้ เพราะจะเป็นอันตรายต่อชาวโลก


วิธีที่สาม คือ การใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่วางบนดาวเคราะห์น้อย แล้วโฟกัสแสงอาทิตย์หรือแสงเลเซอร์ไปกระทบกระจก แรงดันแสงที่เกิดขึ้น จะผลักดาวเคราะห์น้อยห้พุ่งไปข้างหน้า หรืออาจใช้ลำแสงเลเซอร์จำนวนมากที่มีกำลังและความเข้มสูง โฟกัสไปที่จุด ๆ หนึ่งบนดาวเคราะห์น้อย ให้เนื้อดาวระเหิด ซึ่งจะทำให้เกิดแรงดันดาวเคราะห์น้อยไปข้างหน้า วิธีนี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนมาก และการเตรียมการต้องใช้เวลานาน

เหล่านี้เป็นวิธีตัวอย่างที่มนุษย์ได้คิดไว้สำหรับการป้องกันโลกจากการถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน

ในอดีตตั้งแต่ปี 1801 ที่ได้มีการพบดาวเคราะห์น้อยดวงแรกชื่อ Ceres โดย Giuseppe Piazzi แล้ว ในเวลาต่อมาดาวเคราะห์น้อย Ceres ก็ได้ถูกลดฐานะเป็นดาวเคราะห์แคระ Ceres จากนั้นจำนวนดาวเคราะห์น้อยก็ได้เพิ่มขึ้นมากเป็นจำนวนล้าน และพบว่ามันสามารถอยู่ได้ทุกหนแห่ง ทั้งที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าโลก และที่อยู่ไกลนอกวงโคจรของดาว Neptune ออกไป จนเวลานักดาราศาสตร์พยายามศึกษาดาวฤกษ์ต่าง ๆ แล้วมีดาวเคราะห์น้อยโคตรผ่านตัดหน้า นักดาราศาสตร์ในอดีตมักจะรู้สึกรำคาญ แต่เมื่อถึงวันนี้ ไม่มีใครรู้สึกรำคาญแล้ว เพราะใคร ๆ ก็ต้องการจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อย ซึ่งข้อมูลที่ได้จะทำให้เรามีวิธีป้องกันตัวให้เราปลอดภัย รวมถึงให้เข้าใจที่มาและที่ไปของสรรพสิ่งในสุริยะจักรวาลด้วย

อ่านเพิ่มเติมจาก “Asteroid motion is tough to predict” ในวารสาร Astronomy ฉบับเดือนเมษายน 2016


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น