xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวง อว.หนุน มทร.ล้านนาผุดโครงการ “การจัดตั้งแพลตฟอร์มอุทยานนวัตกรรม เทคโนโลยี และการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ” ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวง อว.หนุน มทร.ล้านนาผุดโครงการ “การจัดตั้งแพลตฟอร์มอุทยานนวัตกรรม เทคโนโลยี และการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ” ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐเอกชน (PPP Model)


เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม “การพัฒนากลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง” โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ผู้บริหารกระทรวง อว.และ มทร. เข้าร่วม ที่ มทร.ล้านนา จ.เชียงใหม่ มีวาระสำคัญ คือ โครงการ “การจัดตั้งแพลตฟอร์มอุทยานนวัตกรรม เทคโนโลยี และการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ” ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา)

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นโอกาสในการจับคู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและสร้างกำลังคน โดยหน่วยพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคบริการ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและคุณภาพของประเทศ และส่งผลกระทบ “กินดี อยู่ดี มีสุข” ต่อไป สิ่งสำคัญ มทร.ล้านนา ควรพิจารณานำภาคเอกชนและภาคธุรกิจมาร่วมดำเนินการด้วย และควรร่วมมือกับ BOI โดยตนพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่

“มทร.มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ที่เข้าถึงความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น แต่สิ่งที่ตนอยากให้เกิดขึ้นหลังจากนี้คือ มทร.ต้องปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบันที่จำนวนประชากรในวัยแรงงานลดลง ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้เวลาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาลดลงเหลือ 2 หรือ 3 ปี แทนที่จะต้องเรียนนานถึง 4 ปี และปรับให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริงกับสถานประกอบการ รวมทั้งมีรายได้ตั้งแต่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยปีแรก นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยและอาจารย์ก็ต้องมีทัศนคติในการเป็นผู้ประกอบการ สามารถหารายได้และสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษา สร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจหรือการคิดแบบนักธุรกิจให้มากขึ้น นำนักธุรกิจหรือคนที่มีฝีมือดีในด้านต่างๆ ระดับโลกมาร่วมทำงาน หรือมาสอนนักศึกษาของเราได้” รมว.อว.กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน อธิการบดี มทร.ล้านนา รายงานว่า โครงการนี้มุ่งผลิตหลักสูตรยกระดับทักษะ เสริมทักษะและสร้างทักษะใหม่ด้านการพัฒนาแรงงานไม่น้อยกว่า 120 หลักสูตร สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไม่น้อยกว่า 150 ราย ยกระดับแรงงานสาขาวิชาชีพดิจิทัลไม่น้อยกว่า 7,000 ราย และปรับเปลี่ยนสถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อมสู่ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ซึ่งจะเกิดการจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท สร้างรายได้อุตสาหกรรมดิจิทัลไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท และมีการร่วมทุนของเอกชนไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาท เป็นต้น ขณะนี้ โครงการผ่านความเห็นชอบในหลักการโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว และอยู่ในขั้นตอนขอความเห็นชอบจากกระทรวง อว. เพื่อสนับสนุนให้สามารถของบประมาณจากสำนักงบประมาณในปีแรก โดยจะดำเนินการในรูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐเอกชน (PPP Model)




กำลังโหลดความคิดเห็น