xs
xsm
sm
md
lg

Göbekli Tepe ศาสนาสถานแห่งแรกของมนุษย์ที่มีอายุมากกว่าปิระมิด ถึง 7,000 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Göbekli Tepe (กู เบก ลี เต เพ) คำนี้ในภาษาตุรกี แปลว่า เนินดินที่มีรูปทรงโค้งคล้ายหน้าท้องของคนอ้วน เป็นมูนดินที่สูงเหนือบริเวณโดยรอบ ซึ่งเป็นที่ราบ ประมาณ 780 เมตร และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ห่างจากเมือง Urfa 9.5 กิโลเมตร และเป็นสถานที่ๆ มีความสำคัญมาก จนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี 2018 เพราะที่นี่มีสิ่งก่อสร้างเป็นเสาหินมากมาย วางเรียงราย และถูกจัดตั้งในแนวดิ่งเป็นวงกลมหลายวง จึงมีลักษณะเหมือน Stonehenge ในอังกฤษ แต่มีอายุมากกว่า คือ 11,600 ปี จึงนับว่ามากกว่าปิระมิดแห่งอียิปต์ถึง 7,000 ปี

ถ้าการวัดอายุของเสาหินนี้ถูกต้อง ช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มสร้าง Göbekli Tepe นั้น เป็นเวลาที่ยุคน้ำแข็งเริ่มสิ้นสุด สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ทำให้มนุษย์ (Homo sapiens)ได้เปลี่ยนวิถีชีวิต จากการร่อนเร่พเนจรเก็บผักผลไม้ และเปลี่ยนจากการล่าสัตว์ในป่าเป็นอาหาร มาอยู่รวมกัน เพื่อตั้งหลักแหล่ง แล้วได้เริ่มสร้างวิหารบนเนินดิน ด้วยการแกะสลักหิน แล้วยกเสาหินขึ้นเนินโดยไม่ได้รู้จักการใช้ล้อ และไม่มีสัตว์ขนาดใหญ่ช่วยในการลากขน อีกทั้งยังไม่มีภาษาเขียนและไม่รู้จักวิธีถลุงแร่ใด ๆ เลย แล้วได้เริ่มมีศาสนา นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอารยธรรมมนุษย์เป็น ยุคหินใหม่ (Neolithic era)


ในอดีตนักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา และนักประวัติศาสตร์ทั้งหลาย เคยคิดว่า การปฏิรูปอารยธรรมได้เกิดขึ้น ณ สถานที่หนึ่งเดียวก่อน คือที่ Mesopotamia ซึ่งเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำ Tigris กับ Euphrates และอยู่ทางใต้ของอิรักในปัจจุบันจากนั้นอารยธรรมใหม่นี้ก็ได้แพร่สู่อินเดีย ยุโรป จีน ฯลฯ ดังนั้นนักโบราณคดีในอดีตจึงเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศบนโลกได้ผลักดันให้มนุษย์รู้จักทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์

แต่การค้นคว้าทางโบราณคดีในปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปด้านอารยธรรมของมนุษย์ได้เกิดขึ้นในหลายสถานที่และในเวลาเดียวกัน แต่ไม่ใช่โดยอิทธิพลของสภาวะอากาศ กลับเป็นโดยอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น นั่นคือ ศาสนา


ตามปกติเวลาเราพูดถึงศูนย์กลางของศาสนา เรามักนึกถึง Vatican, Mecca, Jerusalem, Bodh Gaya ซึ่งต่างก็เป็นสถานที่รวบรวมของศรัทธาและจิตใจของผู้คนที่นับถือศาสนา ที่ต่างก็ได้เดินทางมาจากสถานที่ไกล ๆ เพื่อจะได้มาเห็นความอลังการ ความสวย และความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่เหล่านั้น อันจะทำให้ทุกคนที่มาเยือนมีความคิดใหม่ ๆ และมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การมีอารยธรรมใหม่ในเวลาต่อมา

ดังนั้นในมุมมองนี้ การมีศาสนาจึงเป็นความรู้สึกและความเชื่อที่ได้ชักนำมนุษย์ไปสู่การมีอารยธรรม มิใช่การมีอารยธรรมได้ทำให้มนุษย์มีศาสนา

การโต้เถียงทางวิชาการในประเด็นนี้ จึงต้องการหลักฐานและเหตุผลในหลายมิติมาสนับสนุนในปี 1963 Peter Benedict แห่งมหาวิทยาลัย Chicago ได้เคยขึ้นไปสำรวจเนินดิน Göbekli Tepe เป็นครั้งแรก และได้เห็นเศษหินเหล็กไฟกับแผ่นหินปูนจำนวนมาก วางกระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมดบนยอดเนิน เขาจึงคิดไปว่านี่เป็นสถานที่ฝังศพของชาวตุรกีโบราณในยุค Byzantine (ประมาณค.ศ.395-1453) จึงไม่ได้ให้ความสนใจใดๆ


จนกระทั่งถึงปี 1994 เมื่อ Klaus Schmidt ซึ่งเป็นนักโบราณคดีชาวเยอรมัน แห่งสถาบัน German Archaeological Institute ที่ Berlin และสนใจประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในยุคหินใหม่ เมื่อเขาได้ฟังคำบอกเล่าของชาวนาคนหนึ่งว่า บนเนิน Göbekli Tepe มีแผ่นหินที่แกะสลักชื่อผู้ตายบนหลุมฝังศพมากมาย เขาจึงตามขึ้นไปสำรวจ และพบว่า ในบริเวณนั้น มีเสาหินขนาดใหญ่จำนวนมากฝังอยู่ใต้ดิน อีกทั้งได้เห็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยหินเหล็กไฟ วางอยู่อย่างระเกะระกะ Schmidt จึงลงมือขุด และได้พบเสาหินจำนวนมากถูกแกะสลักเป็นลวดลายรูปสัตว์ร้าย เช่น แมงป่อง สิงโต เสือ ฯลฯ แต่ไม่พบหลุมฝังศพของคน กลับพบเสาหินที่แกะสลักเป็นตัวสัตว์ และเสามีอายุมากกว่า 10,000 ปี ซึ่งเสาหินเหล่านั้นได้ถูกฝังลืมมาเป็นเวลานานแล้ว นอกจากนี้ก็ยังได้พบกระดูกของคน และสัตว์ป่าด้วย แต่ไม่พบกระดูกของสัตว์เลี้ยง (สุนัข แมว ม้า ฯลฯ) เลย

Schmidt จึงขอทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยโบราณคดีของเยอรมัน และจากพิพิธภัณฑ์แห่งเมือง Sanliurfa (ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ ชาวคริสเตียนเชื่อว่า ศาสดา Abraham ทรงประสูติ) แล้วได้เริ่มลงมือขุด Göbekli Tepe อย่างเป็นระบบในปี 1994

ปริศนาที่ Schmidt ต้องการคำตอบมาก คือ กระดูกและวัตถุโบราณที่เขาขุดพบนั้น มีอายุมากเพียงใด แต่การวัดอายุของกระดูกจะมีปัญหาเล็กน้อย เพราะ DNA ของกระดูกถูกได้ทำลายไปบ้างแล้ว Schmidt จึงใช้วิธีเปรียบเทียบอายุของ DNA กับอายุของอุปกรณ์ที่ทำด้วยหินเหล็กไฟ โดยใช้เทคโนโลยีวัดอายุแบบ carbon-14 แล้วได้ข้อมูลว่า วัตถุต่าง ๆ ที่ Göbekli Tepe มีอายุประมาณ 11,000 ปี


แม้ตัวเลขของอายุจะไม่แน่นอนมาก แต่ตัวเลขหยาบๆ ก็ได้ทำให้ทุกคนรู้สึกตื่นเต้น เพราะเมื่อ 11,000 ปีก่อน มนุษย์ยังไม่รู้จักทำการเกษตรกรรม แต่สามารถแกะสลักเสาหินเป็นภาพของวัว auroch ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว รวมถึงกวางด้วย และเมื่อ Schmidt ได้ขุดลึกลงไปอีก ก็ได้เห็นเสาหินจำนวนมากวางตั้งในแนวดิ่งเป็นวงกลมบ้าง วงรีบ้าง การสำรวจวงหินทั้งหมดพบว่า มี 20 วง และเสาหินปูนที่สูงที่สุดมีความสูง 6 เมตร หนัก 16 ตัน ที่ผิวเสามีรูปแกะสลักนูนต่ำ เป็นสัตว์ในอิริยบทต่าง ๆ กัน เสาหินปูนถูกแกะสลักเป็นอักษรรูปตัว T โดยมีความกว้างเป็น 5 เท่าของความหนา


ในมุมมองของ Schmidt เสารูปตัว T ดูคล้ายคน เพราะที่ด้านข้างทั้งสองด้านของเสา ถูกแกะเป็นเส้นขนาน 2 เส้น เหมือนมือที่อ้อมมาประสานกันที่ด้านหน้า และเสาทุกเสาหันหน้าเข้าหาเสากลาง เหมือนฝูงคนกำลังทำพิธีกรรม ส่วนภาพของสัตว์ร้ายที่ถูกแกะอยู่บนเสานั้น ก็ดูดุร้ายมาก เพราะเป็นสัตว์ป่า เช่น หมีป่า สิงโต งู และแมงป่อง เป็นต้น

ไม่มีใครรู้ว่าภาพสัตว์ต่าง ๆ เหล่านั้น สื่อความหมายถึงอะไร Schmidt เอง ก็สงสัยมากว่า สถานที่ ๆ มีเสาหินเป็นจำนวนมากวางตั้งในแนวดิ่งนั้น ผู้คนในแถบนั้นใช้เป็นสถานที่ทำอะไร แต่คงไม่ใช่เป็นสถานที่อาศัย เพราะบนเนิน Göbekli Tepe ไม่มีแหล่งน้ำเลย อีกทั้งไม่มีการขุดพบเตาไฟหรือห้องน้ำ ดังนั้นเขาจึงคิดว่า Göbekli Tepe คงเป็นสถานที่ให้ผู้คนในแถบนั้น มาชุมนุมกันเป็นครั้งคราว เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรม ทุกคนก็แยกย้ายจากกันไป


แต่ก็มีนักโบราณคดีหลายคนที่มีความเห็นต่าง เพราะคิดว่าสถานที่นี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ การจะทรงสภาพอยู่ได้จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมากดูแล และการสร้างเสานั้นก็ต้องใช้เวลาในการแกะสลักนานเป็นเดือน ดังนั้น Göbekli Tepe จึงต้องมีคนดูแล และ Schmidt ก็ยอมรับ แต่ก็ยืนยันว่า มันเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม อีกทั้งเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผู้คนในแถบนั้นด้วย ส่วนสัญลักษณ์รูปสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่บนเสานั้น ก็มีลักษณะคล้ายกับรูปที่ปรากฏในหมู่บ้าน Jerf el-Ahmar ซึ่งอยู่ทางใต้ของ Syria และที่หมู่บ้าน Nevali Cori ในดินแดน Anatolia ซึ่งสถาปัตยกรรมในทั้งสองหมู่บ้านนี้ก็มีอายุน้อยกว่าที่ Göbekli Tepe ดังนั้นในขณะที่หมู่บ้านอื่นมีโบสถ์ Göbekli Tepe กลับมีมหาวิหาร


Schmidt ยังอ้างต่ออีกว่าการไม่พบซากพืช และซากกระดูกสัตว์เลี้ยงที่ Göbekli Tepe เลย นั่นแสดงให้เห็นว่าคนแถบนั้น ยังไม่มีอารยธรรมเลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืช แต่ก็มีศาสนาแล้ว ดังนั้นศาสนาจึงเป็นแรงดลใจให้มนุษย์มีวัฒนธรรมเลี้ยงสัตว์ และทำเกษตรกรรม Schmidt ยังได้พบหลักฐานว่า ที่หมู่บ้าน Nevali Cori ซึ่งอยู่ห่างออกไป 30 กิโลเมตร มีการปลูกข้าวสาลี หลังจากที่ผู้คนได้สร้าง Göbekli Tepe แล้วถึง 500 ปี

Schmidt ได้จากโลกไปเมื่อปี 2014 ทั้ง ๆ ที่งานขุดของเขายังไม่บรรลุจุดสมบูรณ์ ถึงกระนั้นคนทั้งโลกก็รู้จักเขาแล้ว เพราะในปี 2006 นิตยสาร Der Spiegel ของเยอรมัน ได้ยกย่องให้เขาเป็นผู้พบสรวงสวรรค์แห่ง Eden

ในบทสัมภาษณ์ Schmidt ได้เปิดเผยความรู้สึกว่า เขามีปัญหาในการทำงานภายใต้กำกับของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของตุรกี ณ เมือง Ankara บ้าง เพราะทางการต้องการให้เขาแจกแจงรายละเอียดของการทำงานทุกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มขุด และถ้าเขาขุดเร็วไป ทางการก็จะตั้งข้อสังเกตแล้วว่า เขาไม่สนใจรายละเอียด และถ้าเขาขุดช้า ก็จะถูกติงว่า เขาไม่มีผลงานอะไรใหม่ๆ จะให้นักท่องเที่ยวดู และไม่มีข้อมูลวิชาการให้นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และนักมานุษยวิทยาได้รู้เพิ่มเติม สำหรับชาวบ้านเอง ทุกคนรู้สึกดีใจที่ Göbekli Tepe ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก เพราะนั่นหมายความว่า พวกเขาทุกคนจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

หลังจากที่ Schmidt ได้จากโลกนี้ไปแล้ว นักโบราณคดีชาวตุรกีชื่อ Necmi Karl ก็ได้เขารับงานค้นคว้าวิจัยที่ Göbekli Tepe ต่อ เพราะยังมีงานสำรวจที่ต้องทำอีกมากถึง 90% เช่น ในปี 2017 ได้มีการพบว่า ที่นี่ยังมีเสาหินอีกกว่า 200 ต้น และวิหารอีกกว่า 15 วิหารที่จะต้องสำรวจต่อไปในอนาคต

กระนั้นคำตอบที่โลกได้รับ ณ วันนี้ ก็มีมากพอสมควร แต่ก็มีอีกหลายคำถาม และหลายความสงสัยที่ยังไม่กระจ่าง เช่นว่า ถ้า Göbekli Tepe คือ แหล่งอารยธรรมโบราณที่สุดของมนุษย์จริง แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ต้องละทิ้งสถานที่นี้ไป
คำตอบที่เป็นไปได้มีมากมาย เช่นว่า ได้เกิดศึกสงครามขึ้น และการสู้รบได้นำมาซึ่งความหายนะ และความพินาศ จึงทำให้ผู้คนต้องละทิ้งถิ่นที่อยู่ไป หรือไม่ก็ได้เกิดเหตุการณ์โรคระบาดร้ายแรง หรือสภาพแวดล้อมของ Göbekli Tepe ได้ทำให้พื้นที่แห้งแล้งจัด จนเกิดทุพภิกขภัย และผู้คนจำนวนมากได้ล้มตาย และอีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือความเชื่อทางศาสนาของผู้คนในท้องถิ่นนั้นได้เปลี่ยนไป จึงได้ล้มเลิกความเชื่อเดิม แล้วนำดินมาทับถมวิหารจนมิด เพื่อลบล้างความศักดิ์สิทธิ์และความขลังของสถานที่ให้หมดไป เพราะถ้าไม่มีการทับถมวิหาร ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเนินแล้ว วิหารจะไม่ถูกดินฝังกลบ ดังนั้น Schmidt จึงคิดว่า การทับถมวิหารที่ Göbekli Tepe จึงเกิดขึ้นอย่างเจตนา

ครั้นเมื่อโลกไม่มีหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษร การสันนิษฐานต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการพิสูจน์ และคำตอบสุดท้ายสำหรับประเด็นนี้จึงยังไม่มี จนกว่าเราจะมีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม


ถึงกระนั้น เราก็มีองค์ความรู้พื้นฐานของ Göbekli Tepe มากพอสมควรแล้ว เช่นว่า มันมีอายุมากกว่า Stonehenge ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ก้อนหิน ที่มนุษย์ยุคหินได้สร้างขึ้นในอังกฤษ เมื่อ 6,000 ปีก่อน และ Göbekli Tepe มีอายุมากกว่าปิระมิด Giza ในอียิปต์ ประมาณ 7,000 ปี โดยในเวลาที่ชาวตุรกีโบราณสร้าง Göbekli Tepe นั้น ประชากรในยุโรปตะวันตก ยังมีจำนวนไม่มาก แต่อีก 2,000-3,000 ปีต่อมา เมื่อสภาพอากาศในยุโรปอบอุ่นขึ้น ชาวยุโรปได้เริ่มรู้จักเลี้ยงสัตว์ และผู้คนที่ Göbekli Tepe ก็เริ่มรู้จักล่าสัตว์ แต่ได้ถูกเกษตรกรที่ทำการเกษตรในดินแดนพระจันทร์เสี้ยว (Fertile Crescent) ได้เริ่มเข้ามาแทนที่นักล่าสัตว์

นักโบราณคดีบางคน ได้เสนอข้อคิดว่าในอดีต Göbekli Tepe มิใช่ศาสนสถาน แต่เป็นสถานที่สังสรรค์ของเหล่านายพรานในแถบนั้น โดยให้เหตุผลว่าได้พบกระดูกสัตง์ป่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนมีความสามารถในการล่าสัตว์ และหลังจากการล่าสัตว์แล้วก็ได้มาร่วมชุมนุมกันเป็นครั้งคราวตามเวลาที่เป็นเทศกาล จึงได้จัดสร้างอาคารขึ้นมา เพื่อให้เหมาะสมสำหรับการพบปะกัน

นักประวัติศาสตร์บางคนยังได้ให้ความเห็นว่า Göbekli Tepe อาจจะเป็นแหล่งผลิตเบียร์และขนมปังก็ได้ เพราะในปี 2021 ได้มีการขุดพบหม้อต้มธัญพืชที่มีขนาดใหญ่ถึง 200 ลิตร คำถามที่ตามมาอีกประการหนึ่ง คือ ผู้คนในแถบนั้นบริโภคอะไรเป็นอาหารหลัก และมีวิธีปรุงอาหารอย่างไร ซึ่งความสงสัยในประเด็นนี้อาจจะหาคำตอบได้จากการศึกษา DNA ของตะกอนอาหารที่อาจติดค้างหลงเหลืออยู่ในภาชนะหุงต้ม


สำหรับประเด็นที่ว่า Göbekli Tepe อาจจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนที่มีพฤติกรรมแปลก ๆ คือ ชอบสะสมกะโหลกคนนั้นก็น่าสนใจ เพราะแม้จะไม่มีการพบหลุมฝังศพของใคร แต่นักโบราณคดีก็ได้พบโครงกระดูก และกะโหลกศีรษะของคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการตัดศีรษะคน เพื่อนำกะโหลกไปเก็บสะสม แสดงให้เห็นว่า ศพของคนที่ตายไปแล้ว ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ดังนั้น Göbekli Tepe จึงอาจจะเป็นสถานที่บูชายันต์ก็ได้


Karahan Tepe เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่นักโบราณคดีได้ขุดพบในปี 1997 แต่ไม่มีใครไปสำรวจ จนกระทั่งปี 2000 และก็ได้พบว่าสถานที่นี้มีอ่างหิน ขวานหิน หม้อหิน หัวลูกศร และมีดที่ทำจากหินเหล็กไฟ หรือแร่ obsidian การมีอุปกรณ์แนวอาวุธ แสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ Karahan Tepe เป็นพราน พี่เลี้ยงสัตว์ และที่ Karahan Tepe เอง ยังได้มีการขุดพบเสาหิน 266 เสา รวมทั้งได้พบภาพสัตว์ที่แกะบนเสาว่ามีสัตว์หลายชนิด เช่น งู แมลง นก กระต่าย ละมั่ง ฯลฯ และภาพแกะสลักที่ Karahan Tepe ยังแสดงให้เห็นภาพของคนมากกว่าภาพของคนที่ Göbekli Tepe นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้คนในเวลานั้น ได้เริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์แล้ว

ความอุดมสมบูรณ์ของ Göbekli Tepe ได้ทำให้นักโบราณคดีบางคนเรียกดินแดนนี้ว่า สรวงสวรรค์แห่ง Eden ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ พระเจ้าได้ทรงสร้างให้ Adam และ Eve เพราะคนเหล่านี้คิดว่า คำว่า Eden มาจากคำ edinu ในภาษา Akkadian ที่แปลว่า สวย เพราะในเวลานั้น ไม่มีใครรู้ว่า สรวงสวรรค์ Eden อยู่ที่ใดในโลก จึงได้เดาจากการอ่านคัมภีร์ว่า อยู่ที่แม่น้ำ Tigris, Euphrates, Gihon และ Pishon ไหลมาบรรจบกัน แต่นักโบราณคดีบางคนคิดว่า สรวงสวรรค์ Eden อยู่ที่อ่าว Persia หรือที่ทางตอนใต้ของ Mesopotamia คือบนที่ราบสูงใน Armenia หรือ Iran ดังนั้นข้อสรุปในเรื่องนี้ จึงยังไม่มีการยุติ

สำหรับการเสนอแนะว่า Göbekli Tepe เคยเป็นสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ของชาวบ้านในแถบนั้น ก็เป็นข้อเสนอแนะที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันอีกเช่นกัน

ตลอดเวลา 28 ปีที่ผ่านมานี้ โลกได้ตื่นเต้นกับข่าวการพบว่า Göbekli Tepe เป็นวิหารแห่งแรกของมนุษย์ยุคหิน แต่ยังไม่มีรายละเอียดของการใช้ และสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ศาสนสถานแห่งนี้ถูกทอดทิ้ง ดังนั้นการขุดหาหลักฐานเพิ่มเติมในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติมจาก “Birth of Religion” โดย Charles C. Mann ใน National Geographic ฉบับเดือนมิถุนายน ปี 2011


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น