โต้ลมหนาว! สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพบรรยากาศ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” ริมอ่างเก็บน้ำที่เชียงใหม่ คืนวันที่ 14 ธ.ค. ปรากฏ “ดาวตก” ให้เห็นเป็นระยะ เฉลี่ยประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง
วันนี้ (15 ธ.ค.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า บรรยากาศการชมฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 ธันวาคม 2565 ชาวไทยสนใจติดตามชมฝนดาวตกกันคึกคัก โดยเฉพาะเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยลาน จ.เชียงใหม่ประชาชนนับพันร่วมนอนนับดาวตก ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นสมใจ โดยเริ่มเห็นตั้งแต่สองทุ่มเป็นต้นไป ด้านบรรยากาศที่หอดูดาวภูมิภาคโคราชและฉะเชิงเทรา คนก็แน่นขนัดเช่นกัน
สำหรับกิจกรรม “โต้ลมห่มหนาว นอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์” ในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ณ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ที่ สดร.และชุมชนออนใต้ร่วมจัด มีประชาชนทยอยร่วมปักหลักรอชมฝนดาวตกเจมินิดส์ตั้งแต่หัวค่ำ ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นสบาย โดยสังเกตเห็นดาวตกดวงแรกเวลา 20:08 น. จากนั้นมีดาวตกปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นคืนที่มีจำนวนมากที่สุดราว 150ดวง/ชม. หลายคนนำเต็นท์มากางและเข่าพักในพื้นที่ทำให้การท่องเที่ยวชุมชนคึกคักไปด้วย ซึ่งสดร. ได้ตั้งกล้องโทรทรรศน์ชนิดต่าง ๆ ให้ประชาชนส่องวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ อาทิ ดาวอังคาร ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี เนบิวลานายพราน กระจุกดาวคู่ เป็นต้น พร้อมบรรยายการดูดาวเบื้องต้น ด้านบรรยากาศการจัดกิจกรรมชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ
พระชนมพรรษา นครราชสีมา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ก็พบว่า เนืองแน่นไปด้วยผู้คนเช่นกัน โดยเฉพาะที่ฉะเชิงเทรา เปิดพื้นที่ให้กางเต็นท์ค้างคืน มีประชาชนให้ความสนใจร่วมกางเต็นท์ชมฝนดาวตกเต็มพื้นที่หอดูดาว
ทั้งนี้ปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านสายธารของเศษหินและเศษฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ที่หลงเหลือทิ้งไว้ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 4 - 20 ธันวาคมของทุกปี