xs
xsm
sm
md
lg

NARIT เผย ยานโอไรออนกลับถึงโลกอย่างปลอดภัย สิ้นสุดภารกิจ “Artemis1” ปิดฉากภารกิจ 26 วัน ในการเดินทางสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผย ยานโอไรออนกลับถึงโลกอย่างปลอดภัย ในวันที่ 12 ธันวาคม 2022 เวลา 0:40 น. ตามเวลาประเทศไทย ยานสำรวจดวงจันทร์โอไรออนเดินทางกลับสู่โลกได้สำเร็จ ลงจอดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ปิดฉากภารกิจ Artemis 1 อย่างงดงาม

ข้อมูลในช่วงเวลาลงจอดสู่โลก ในช่วงเวลา 0:00 น. หรือประมาณ 40 นาทีก่อนลงจอดบนมหาสมุทร ส่วน Crew Module ของยานโอไรออนได้แยกตัวออกจากส่วน Service Module ได้สำเร็จ เพื่อเตรียมตัวฝ่าเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่ง Service Module ถูกวางแผนเอาไว้ว่าจะให้เสียดสีกับชั้นบรรยากาศ จนกระทั่งเผาไหม้และสลายไปในที่สุด ขณะที่ส่วน Crew Module ซึ่งเป็นส่วนบรรทุกนักบินอวกาศที่มีโล่กันความร้อน จะฝ่าชั้นบรรยากาศเข้ามา และกางร่มชูชีพเพื่อลงจอดบนพื้นผิวมหาสมุทร


ภารกิจ Artemis 1 เป็นหนึ่งในภารกิจที่ยานอวกาศจะต้องเจอความร้อนสูงที่สุด เนื่องจากเป็นภารกิจที่โคจรรอบดวงจันทร์ห่างไกลที่สุด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของนักบินอวกาศในอนาคต ทีมนักวิจัยจึงได้ออกแบบให้โล่กันความร้อนของส่วน Crew Module สามารถกันความร้อนได้สูงถึง 2,800 องศาเซลเซียส และนอกจากนี้ยังเป็นการทดลองเทคนิคใหม่ในการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก เรียกว่า “skip entry” ซึ่งแทนที่จะค่อย ๆ ไต่ระดับความสูงลงเรื่อย ๆ เหมือนกับยานอะพอลโล แต่เทคนิคนี้ ทันทีที่ยานลดระดับถึงชั้นบรรยากาศด้านบน ยานจะ “เด้ง” กลับสู่อวกาศอีกครั้ง แล้วจึงดิ่งกลับลงมาใหม่ ลักษณะเดียวกันกับการโยนก้อนหินให้เด้งไปบนผิวน้ำ

เทคนิคนี้เป็นครั้งแรกที่มีการทดลองกับยานอวกาศในภารกิจที่จะมีมนุษย์เดินทางไปด้วย ช่วยในเรื่อง aerodynamic ของยาน ทำให้ไม่เกิดการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจนมีอุณหภูมิสูงเกินไป ลดแรง g ที่เกิดขึ้น และช่วยให้การเดินทางกลับสู่โลกราบรื่นกว่าเดิม

ระหว่างที่ยานกำลังฝ่าชั้นบรรยากาศเข้ามานั้น ความร้อนสูงที่เกิดขึ้นรอบยานจะทำให้แก๊สในชั้นบรรยากาศกลายสภาพเป็นพลาสมา ซึ่งพลาสมาเหล่านี้จะ block สัญญาณคลื่นวิทยุที่ทีมควบคุมใช้ในการติดต่อกับยาน จึงทำให้มีบางช่วงระหว่างการไลฟ์มีสัญญาณที่ขาดหายไป


หลังจากนั้นเมื่อถึงระดับความสูง 8 กิโลเมตร ยานจึงกางร่มชูชีพออก ชะลอความเร็วจากประมาณ 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้เหลือต่ำกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้สามารถลงสัมผัสผิวมหาสมุทรได้อย่างปลอดภัย แล้วหลังจากนั้นทีมเรือและเฮลิคอปเตอร์จะเข้าไปเก็บกู้ยานอวกาศ เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์ผลการทดสอบต่างๆ ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ต่อไป

ภารกิจ Artemis 1 นับเป็นครั้งแรกของการทดสอบยานสำรวจอวกาศรูปแบบใหม่ ตั้งแต่จรวด SLS ที่ทรงพลังที่สุดแห่งยุคนี้ ยานโอไรออนหรือยานสำรวจดวงจันทร์รุ่นใหม่ที่นักบินอวกาศจะได้ใช้งานจริง ไปจนถึงระบบสนับสนุนภาคพื้นโลกที่ก็เป็นเทคโนโลยีใหม่เช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถปิดฉากภารกิจ 26 วันได้อย่างสวยงาม เตรียมพร้อมสู่ภารกิจ Artemis 2 ที่จะเป็นการส่งนักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายในปี 2024

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
กำลังโหลดความคิดเห็น