xs
xsm
sm
md
lg

การสำรวจ “ดวงจันทร์” จากโครงการ Apollo ถึง Artemis

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลอดเวลาร่วม 50 ปีที่ผ่านมานี้ ในเวลากลางคืนที่มี "ดวงจันทร์" อยู่บนท้องฟ้า ณ ตำแหน่งที่เหมาะสม ทีมนักดาราศาสตร์แห่งหอดูดาว Apache Point ณ เมือง Sunspot ในรัฐ New Mexico สหรัฐอเมริกาจะยิงห้วงแสงเลเซอร์ (laser pulse) ตรงไปที่แผงกระจกสะท้อนแสง ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากระเป๋าเดินทาง นี่เป็นกระจกที่มนุษย์อวกาศใน โครงการ Apollo 11, 14 และ 15 ได้ทิ้งไว้บนดวงจันทร์ ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1969, 31 มกราคม ปี 1971 และ 26 กรกฎาคม ปี 1971 ตามลำดับ แล้วได้ตรวจพบว่า จาก photon จำนวน 3 ล้านล้านอนุภาคที่ถูกส่งไปกระทบกระจกในแต่ละครั้ง มี photon เพียง 5 อนุภาคเท่านั้น ที่สะท้อนกลับมาถึงเครื่องรับที่หอดูดาว เพราะอนุภาคส่วนใหญ่ได้ถูกบรรยากาศโลกดูดกลืน และอนุภาคแทบทั้งหมดได้สูญหายไป เพราะไปตกกระทบและสะท้อนจากเป้าอย่างผิดพลาด

การรู้เวลาที่อนุภาคแสงใช้ในการเดินทางไป-กลับระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ได้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์รู้ระยะทางที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลก ณ เวลาที่ทำการทดลองอย่างผิดพลาดไม่เกิน 1-2 มิลลิเมตร ซึ่งความแม่นยำระดับซูเปอร์ละเอียดนี้ ได้ช่วยให้นักฟิสิกส์ตระหนักในความประเสริฐของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปได้ หรือตัดสินให้รู้ชัดว่า ทฤษฎีนี้ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร การทดลองที่ใช้เลเซอร์วัดระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ จึงเป็นมรดกทางวิทยาศาสตร์ชิ้นสำคัญที่สุด ที่โครงการ Apollo ได้มอบให้แก่ชาวโลก

ในความเป็นจริง เมื่อครั้งที่ NASA ได้ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ เสนอโครงการทดลองที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการจะทำบนดวงจันทร์นั้น ได้มีคนเสนอโครงการจะใช้แสงเลเซอร์วัดระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ค่าคงตัวโน้มถ่วงสากล (universal gravitational constant) หรือค่า G ในสูตร F=Gm_1 m_2∕r^2 เมื่อ F เป็นแรงดึงดูดระหว่างมวล m_1 กับ m_2 และ r เป็นระยะทางระหว่างมวลทั้งสอง โดยที่ G มีค่าไม่คงตัว คือ ขึ้นอยู่กับเวลา แต่เมื่อได้มีการพบว่า การวัดความคงตัวของค่า G นี้ จะต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี NASA จึงไม่อนุมัติโครงการ

ครั้นเมื่อ Ken Nordtvedt (1939-ปัจจุบัน) จากสถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้คำนวณพบว่า ข้อมูลระยะทางระหว่างดวงจันทร์กับโลกที่เก็บได้ภายในเวลาเพียง 2 ปี ก็มากเพียงพอที่จะใช้ทดสอบความถูกต้องของหลักสมมูล (Equivalence Principle) ซึ่งเป็นเสาหลักของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปได้ NASA จึงอนุมัติให้นำการทดลองนี้เข้าไว้ในโครงการ Apollo ทันที


สำหรับความสำคัญของหลักสมมูลที่ Einstein ใช้ในการสร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปนั้น เป็นสมมติฐานที่ตั้งอยู่บนหลักการว่า วัตถุทุกชนิดในเอกภพมีมวล ซึ่งมวลนี้มี 2 ชนิด คือ ชนิดแรก เรียก มวลโน้มถ่วง (gravitational mass) ที่ทำให้เกิดแรงดึงดูดระหว่างมวล กับชนิดที่สอง ซึ่งเรียก มวลเฉื่อย (inertial mass) ที่ใช้บอกความพยายามยาก-ง่ายในการเปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่ของวัตถุ เมื่อมีแรงมากระทำ เช่น จากหยุดนิ่งไปเป็นมีความเร่ง หรือเปลี่ยนทิศการเคลื่อนที่

หลังจากที่ตระหนักได้ว่า มวลของวัตถุมีสองชนิด Einstein ก็ได้ตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่า มวลทั้งสองชนิดนี้ มีค่าเท่ากันทุกประการ คือ ไม่ได้มีค่าที่แตกต่างกันเลย นี่เป็นสมมติฐานที่ Einstein ตั้งขึ้น โดยปราศจากการทดลองใดๆ มาสนับสนุน
ดังนั้นการพิสูจน์ความถูกต้องของหลักสมมูล จึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เพราะถ้ามวลเฉื่อยมีค่าไม่เท่ากับมวลโน้มถ่วงของวัตถุก้อนเดียวกัน นั่นก็แสดงว่า เสาหลักของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปไม่ถูกต้อง และอาจจะต้องทำทฤษฎีแรงโน้มถ่วงอื่น เช่น ทฤษฎี scalar-tensor ของ Carl Brans (1935-ปัจจุบัน) และ Robert Dicke (1916-1997) มาใช้แทน ซึ่งทฤษฎีนี้ จะให้ค่าระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ แตกต่างไปจากทฤษฎีของ Einstein ประมาณปีละ 13 เมตร ดังนั้น การวัดระยะทางที่ละเอียดและผิดพลาดไม่เกิน 10 เมตร จึงมีความสำคัญมากในการตัดสินความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปหรือทฤษฎีของ Brans-Dicke

ผลการทดลองตลอดเวลาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าวิถีโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเป็นไปตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และมวลเฉื่อยมีค่าเท่ากับมวลโน้มถ่วง คือ แตกต่างกันไม่เกิน 1 ส่วนใน 10 ล้านล้านส่วน (หรือ 1:10^13)


นี่เป็นการทดลองที่ยืนยันความถูกต้องของหลักสมมูลในกรณีระหว่างโลกกับดวงจันทร์ แต่หลักสมมูลนี้ก็อาจจะไม่ได้เป็นจริงในกรณีหลุมดำที่มีมวลมากมหาศาล และสนามโน้มถ่วงมีความเข้มสูงถึงอนันต์ ดังนั้นการทดสอบหลักสมมูล จึงต้องมีการดำเนินการต่อไปในกรณีของหลุมดำ เพื่อยืนยันว่าหลักนี้ทรงความเป็นจริงในทุกกาลเทศะ

นอกจากแรงดึงดูดโน้มถ่วงที่เป็นสาเหตุหลักในการกำหนดวิถีโคจรของดวงจันทร์รอบโลกแล้ว ความดันแสงจากดวงอาทิตย์ที่กระทำต่อดวงจันทร์ก็มีบทบาทในการทำให้ดวงจันทร์ถอยห่างจากโลก ประมาณปีละ 4 มิลลิเมตร ข้อมูลนี้จึงจำต้องนำมาพิจารณาด้วยเวลานักฟิสิกส์ตรวจสอบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และสำหรับประเด็นการวัดระยะทางนั้น ให้วัดจากจุดศูนย์กลางมวลของโลกถึงจุดศูนย์กลางมวลของดวงจันทร์ มิใช่วัดจากยอดเขา Chimborazo ใน Ecuador ถึงยอดเขา Mons Huygens ที่สูงที่สุดบนดวงจันทร์

นอกจากประเด็นระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์แล้ว การศึกษาธรรมชาติด้านธรณีวิทยาของหินและดินบนดวงจันทร์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน เพราะการวิเคราะห์อายุและองค์ประกอบของดินและหินแร่ที่อยู่บนดวงจันทร์ จะทำให้เรารู้ว่าดวงจันทร์มาจากไหน ถือกำเนิดมาพร้อม ๆ กับโลก หรือได้แยกตัวจากโลกออกไป หรือเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ได้โคจรหลงเข้ามาเป็นบริวารของโลก หรือในขณะที่โลกเพิ่งถือกำเนิดใหม่ ๆ (ประมาณ 500 ล้านปี) โลกได้ถูกดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เท่าดาวอังคารพุ่งชนแบบเฉียง ๆ ทำให้ชิ้นส่วนของโลกได้กระเด็นหลุดออกไปรวมตัวกันเป็นดวงจันทร์ (ข้อสันนิษฐานสุดท้ายนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ถูกต้อง จึงตอบปัญหาได้ว่า ดวงจันทร์มาจากไหน)


ส่วนคำถามอื่น ๆ เช่นว่า บนดวงจันทร์มีภูเขาไฟที่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และมีธาตุอะไรบ้างที่มีมากหรือที่โลกไม่มี ใต้ผิวดวงจันทร์มีน้ำมันหรือไม่ การทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์จะเป็นไปได้หรือไม่ และสมควรทำหรือไม่ ถ้าพิจารณาความคุ้มค่าในการเปิดเหมือง ปัจจุบันบนดวงจันทร์มีน้ำหรือไม่ ในอดีตดวงจันทร์เคยมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่ ในอนาคตเมื่อโลกร้อนมาก ดวงจันทร์จะเป็นแหล่งพำนักให้มนุษย์อพยพไปอาศัยอยู่ได้หรือไม่ และที่ใดบนดวงจันทร์จะเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด เพราะดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศหรือสนามแม่เหล็กที่จะปกป้องมนุษย์ให้ปลอดภัยจากรังสีคอสมิก สำหรับการดำรงชีพบนดวงจันทร์โดยการทำเกษตรกรรมนั้น ดินบนดวงจันทร์จะใช้ในการเพาะปลูกได้หรือไม่ ส่วนนักวิทยาศาสตร์เองก็มีประเด็นว่า จะใช้พื้นที่บนดวงจันทร์ ด้านที่หันออกจากโลกตลอดเวลา เป็นสถานที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุ เพื่อใช้สำรวจเอกภพได้หรือไม่ เพราะจานรับคลื่นวิทยุจะปราศจากสัญญาณรบกวนที่มาจากโลก ด้านเภสัชกรก็สนใจจะใช้สนามโน้มถ่วงที่มีความเข้มน้อยประมาณ 1/6 ของโลก ผลิตตัวยาชนิดใหม่ๆ ในสุญญากาศ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีความสำคัญต่อวิทยาการด้านสาธารณสุขมากในอนาคต แต่ยังไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์ เพราะมนุษย์อวกาศได้ไปเยือนดวงจันทร์เพียง 6 ครั้งเท่านั้นเอง และได้ลงไปสำรวจด้านที่หันมาสู่โลก โดยมิได้ไปสำรวจด้านตรงกันข้ามเลย หรือแม้แต่บริเวณขั้วของดวงจันทร์ก็ยังไม่เคยมีใครไปเหยียบย่าง เหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้มนุษย์ต้องกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกหลายครั้ง แม้การไปเยือนนี้จะต้องลงทุนสูงมากสักปานใด ก็ต้องไป ตามโครงการ Artemis (ซึ่งเป็นพระขนิษฐาแฝดของเทพ Apollo) ต่อจากโครงการ Apollo ที่ได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 1972


เพื่อให้เห็นประวัติการสำรวจดวงจันทร์ทั้ง 6 ครั้ง ว่าได้เกิดขึ้นเมื่อใด ณ ที่ใด และมนุษย์อวกาศได้นำหินหนักกี่มากน้อยกลับมายังโลก เพื่อวิเคราะห์ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า

การเยือนครั้งแรก ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1969 ในโครงการ Apollo 11 ซึ่งได้ส่ง Neil Armstrong กับ Buzz Aldrin ลงสำรวจที่ Sea of Tranquility (ชื่อของบริเวณนี้เป็นทะเล แต่ในความเป็นจริงไม่มีน้ำเลย กลับมีแต่ฝุ่น) เพื่อนำหินและดินหนัก 22 กิโลกรัมกลับมายังโลก

การเยือนครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ปี 1969 ในโครงการ Apollo 12 ซึ่งมนุษย์อวกาศได้ลงสำรวจที่ Oceanus Procellarium เพื่อนำหินแร่ หนัก 34 กิโลกรัมกลับมาวิเคราะห์บนโลก

การเยือนครั้งที่ 3 โดยมนุษย์อวกาศในโครงการ Apollo 14 ได้ลงสำรวจที่ Fra Mauro Formation เมื่อวันที่ 31 มกราคม ปี 1971 และได้นำหินหนัก 42 กิโลกรัมกลับมายังโลก


การเยือนครั้งที่ 4 โดยมนุษย์อวกาศในโครงการ Apollo 15 ซึ่งได้ลงสำรวจที่ Mare Imbrium เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปี 1971 เพื่อนำหิน 77 กิโลกรัมกลับมายังโลก

ครั้งที่ 5 มนุษย์อวกาศในโครงการ Apollo 16 ได้ลงสำรวจที่ Descartes Highlands ซึ่งเป็นดินแดนภูเขาไฟ เมื่อวันที่ 16 เมษายน ปี 1972 เพื่อนำหินภูเขาไฟ 45 กิโลกรัมกลับมายังโลก

และครั้งสุดท้าย คือ ครั้งที่ 6 โดยมนุษย์อวกาศในโครงการ Apollo 17 ได้ลงสำรวจที่หุบเขา Taurus-Littrow เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ปี 1972 เพื่อนำหิน 110 กิโลกรัม กลับมายังโลก

เพราะโครงการนี้ต้องลงทุนสูงมาก และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ค่าตอบแทนน้อย ดังนั้นโครงการ Apollo ของสหรัฐอเมริกา จึงจำต้องยุติ แต่ชาติอื่น ๆ อีกหลายชาติ เช่น รัสเซีย อังกฤษ อินเดีย จีน และสหภาพยุโรป ก็ยังส่งยานอวกาศ และดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ ทำแผนที่ภูมิศาสตร์ และสำรวจแหล่งแร่ ฯลฯ เช่น ในปี 2003 ดาวเทียม SMART-1 ของสหภาพยุโรป ได้พุ่งชนดวงจันทร์ เพื่อศึกษาโครงสร้างภายใน และเหตุการณ์แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์


ปี 2007 จีนได้ส่งยานอวกาศ Chang’e-1 พุ่งชนดวงจันทร์ และได้ส่งยาน Chang’e อีกหลายลำ เช่น ได้ส่ง Chang’e-5 ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 เพื่อนำตัวอย่างหินกลับมาวิเคราะห์ในห้องทดลองบนโลก เป็นต้น


และในปี 2008 อินเดีย ได้ส่งยานอวกาศ Chandrayaan-1 ไปโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์ของดวงจันทร์อย่างสมบูรณ์แบบ

คำถามที่ทุกคนต้องการจะรู้คำตอบ คือ ดวงจันทร์เป็นสมบัติของชาติใด และใครจะมีสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ใด โดยใช้หลักการว่า ใครไปถึงก่อน ก็จับจองก่อน ได้หรือไม่ ใครจะใช้ดวงจันทร์เป็นฐานทัพในการโจมตีชาติอื่น ได้หรือไม่ และทรัพยากรแร่บนดวงจันทร์ เช่น ทองคำ เหล็ก ฯลฯ จะเป็นของชาติที่ไปขุด ได้หรือไม่

ในปี 1979 สหประชาชาติได้มีสนธิสัญญา Moon Treaty for the Peaceful Use ซึ่งได้กำหนดให้ทรัพยากรทุกรูปแบบบนดวงจันทร์เป็นของมนุษยชาติทั้งโลก ในเวลานั้น มีเพียง 9 ประเทศเท่านั้น ที่ลงนามรับรอง คือ ออสเตรเลีย ออสเตรีย ชิลี เม็กซิโก โมร็อกโก เนเธอร์แลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และอุรุกวัย ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีโอกาสจะได้ไปดวงจันทร์เลย ดังนั้นสนธิสัญญาจึงเป็นเพียงกระดาษที่ไม่มีผลบังคับ เพราะแม้แต่จีน อเมริกา รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางอวกาศ ก็ไม่ลงนาม

ในปี 2020 รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายห้ามทำเหมืองแร่ใด ๆ บนดวงจันทร์ และห้ามทำกิจกรรมใด ๆ ที่ทำลายสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์

การค้นหาแหล่งพลังงานสะอาด เพื่อลดปัญหาโลกร้อน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีทั่วโลกในปัจจุบันให้ความสนใจมาก ก็มีคนที่เสนอความคิดจะใช้ดวงจันทร์เป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่อาจจะนำมาใช้บนโลกได้ คือ ในปี 1986 John Santarius จากมหาวิทยาลัย Wisconsin ที่ Madison ในสหรัฐอเมริกา ได้เสนอให้นำธาตุ helium-3 ที่คาดว่าจะมีมากเป็นล้านตันบนดวงจันทร์ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานแบบ fusion
เตาปฏิกรณ์พลังงานปรมาณูแบบ fission ที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิง uranium (U-235) ซึ่งให้พลังงานมากกว่าถ่านหินที่หนักเท่ากันถึง 2.5 ล้านเท่า โดยการยิงอนุภาคนิวตรอนให้พุ่งชนนิวเคลียสของ U-235 ทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ ดังสมการ


จากนั้นอนุภาคนิวตรอนที่เกิดขึ้นใหม่ จำนวน 3 อนุภาค ก็จะแบ่งแยกนิวเคลียส U-235 ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ซึ่งข้อเสียของการได้พลังงานชนิดนี้ คือ มีกากกัมมันตรังสีเกิดขึ้น ซึ่งจะสร้างปัญหาในการจัดเก็บและกำจัด ด้านอนุภาคนิวตรอนที่เกิดใหม่ เมื่อไม่มีประจุก็จะพุ่งชนกำแพงผนังของเตาปฏิกรณ์ ทำให้ผนังเสื่อม ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุม และระมัดระวังเตาปฏิกรณ์มิให้ปริแตก ซึ่งจะเป็นอันตราย นอกจากนี้เชื้อเพลิง U-235 ที่ใช้ก็อาจจะนำไปใช้ในการสร้างระเบิดปรมาณูได้
ในปี 1934 Mark Oliphant (1901-2000) ได้ทำนายว่า ในธรรมชาติอาจจะมีธาตุ helium-3 ซึ่งนิวเคลียสของธาตุนี้ มีโปรตอน 2 อนุภาค และนิวตรอน 1 อนุภาค จึงเป็นธาตุที่มี atomic mass = 3 และเป็นธาตุเดียวในโลกที่มีจำนวนโปรตอนมากกว่านิวตรอนในนิวเคลียส จนกระทั่งถึงปี 1939 โลกก็ได้พบธาตุ helium-3 ในห้องปฏิบัติการ


ส่วน helium-4 ซึ่งเป็น isotope กลุ่มเดียวกับ helium-3 นั้น มีโปรตอน 2 อนุภาค กับนิวตรอน 2 อนุภาคในนิวเคลียส และมีพบบ้างบนโลก แต่พบมากที่สุดบนดวงอาทิตย์

ส่วนโครงการ ITER (International Thermonuclear Experimental Reactor) ซึ่งใช้ isotope ของ hydrogen อันได้แก่ deuterium ((_1^2)H) กับ tritium ((_1^3)H) เป็นเชื้อเพลิงหลัก ดังปฏิกิริยา


และอนุภาคนิวตรอนที่เกิดใหม่ จะพุ่งชนผนังของเตาปฏิกรณ์ tokamak ทำให้ผนังเป็นสารกัมมันตรังสี จึงต้องมีการทำความสะอาดเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ปฏิกิริยาดังกล่าวข้างบนจะเกิดขึ้นได้ ต้องใช้แสงเลเซอร์ที่มีความเข้มสูงมหาศาล และต้องใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงในการควบคุมผลผลิตที่เกิดขึ้น

แต่ถ้าใช้ helium-3 แทน tritium ดังปฏิกิริยา


อนุภาคโปรตอนที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งมีประจุบวก จะถูกบังคับไม่ให้พุ่งชนผนัง tokamak เตาปฏิกรณ์จึงปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ helium-3 จึงเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญมาก สำหรับใช้ในเตาปฏิกรณ์ fusion ในอดีตสหรัฐอเมริกาเคยผลิต helium-3 จาก helium-4 แต่พบว่าได้ผลผลิตที่ไม่คุ้มค่า จึงหยุดผลิต


เพราะโลกไม่มี helium-3 และทฤษฎีนิวเคลียร์ระบุว่า helium-3 มักจะอยู่รวมกับ titanium ซึ่งเป็นธาตุที่มีพบมากบนดวงจันทร์ โดย titanium จะทำหน้าที่ดูดซับ helium-3 ที่มากับลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นตลอดเวลาร่วม 4,000 ล้านปีที่ผ่านมา ดวงจันทร์น่าจะมี helium-3 มากในปริมาณ 1.1 ล้านตันแล้ว โดยจะแฝงอยู่ที่ผิวดวงจันทร์ ซึ่งลึกไม่เกิน 3 เมตร


ดังนั้น การไปสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตแทนที่จะขนหินแร่ที่หนัก 382 กิโลกรัมกลับมายังโลก เพื่อวิเคราะห์ในห้องทดลอง และเก็บสะสมในพิพิธภัณฑ์ มนุษย์อวกาศก็จะไปสำรวจหาธาตุ helium-3 แทน และวางแผนจะนำ helium-3 ที่พบกลับมายังโลก เพื่อผลิตพลังงานสะอาดแบบ fusion ให้มนุษย์ได้ใช้เป็นเวลานานอีก 10,000 ปี

อ่านเพิ่มเติม The Seventh Landing: Going Back to the Moon, This Time to Stay โดย Michael Carroll จัดพิมพ์โดย Springer ปี 2009


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน -  ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น