xs
xsm
sm
md
lg

NARIT เผยภาพ “ปรากฏการณ์สไปร์ตแดง” ฝีมือคนไทย ที่เกิดขึ้นได้ยากในช่วงเวลาสั้นๆ ระดับวินาที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผยภาพ “ปรากฏการณ์สไปร์ตแดง” บันทึกภาพได้โดยคนไทยขณะอยู่บนเครื่องบิน เหนือเมืองสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเวลา 01:30 น. วันที่ 11 มิถุนายน 2562 นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถพบเห็นได้ง่าย ผลงานของคุณภคิน ทะพงค์ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก

ปรากฏการณ์ “สไปรต์” (sprite) หรือ “สไปรต์แดง” (red sprite) คือเหตุการณ์แสงสว่างวาบแบบชั่วคราว มักเกิดขึ้นร่วมกับพายุฝนฟ้าคะนอง ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ การที่หาชมได้ยากเนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ระดับวินาที หรืออาจเร็วกว่า 0.01 วินาที ที่ระดับความสูงราว 65-70 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเส้นสีแดงจางๆ พุ่งสูงขึ้นไปถึงระดับ 90 กิโลเมตร หรือมีเส้นสีฟ้าๆ เรียกว่า เทนดริล (tendril) มีเส้นห้อยลงมาถึงระดับ 24-32 กิโลเมตรจากพื้น ดูคล้ายกับแมงกระพรุนยักษ์ ซึ่งอาจมีความกว้างได้ถึง 50 กิโลเมตร


ปรากฏการณ์นี้เกิดร่วมกับฟ้าผ่าแบบบวก (positive flash) เสมอ ซึ่งเป็นการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าระหว่างบริเวณด้านบนของเมฆฝนฟ้าคะนองกับพื้น เมื่อประจุไฟฟ้าถูกปลดปล่อยออกไปจากยอดเมฆ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ระหว่างยอดเมฆกับบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์อย่างฉับพลัน อิเล็กตรอนจึงถูกเร่งให้เคลื่อนที่สูงขึ้นไปชนกับโมเลกุลของแก๊สในบรรยากาศ หากชนกับโมเลกุลของแก๊สไนโตรเจน ก็จะทำให้โมเลกุลอยู่ในสถานะถูกกระตุ้น ต่อมาโมเลกุลจะคายพลังงานออกมาในรูปของแสงสีแดงและสีฟ้า

สไปรต์อาจมีรูปร่างแบบอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาได้ แต่พบได้น้อยกว่า เช่น รูปร่างคล้ายแครอท และรูปร่างเป็นแท่งในแนวดิ่ง เรียกว่า “คอลัมนิฟอร์มสไปรต์" (columniform sprite) หรือ c-sprite

ผู้ถ่ายภาพนี้เป็นนักบินของสายการบินไทย ขณะที่บินอยู่บนเส้นทางเมล์เบิร์น-กรุงเทพ ที่ระดับความสูง 38,000 ฟุต ได้สังเกตเห็นฟ้าแลบอยู่ข้างหน้า จึงพยายามถ่ายภาพตรวจหายอดเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจร่วมกับภาพเรดาร์ตรวจสภาพอากาศของเครื่องบินเพื่อนำเครื่องบินหลบออกจากบริเวณที่มีเมฆ ในตอนแรกที่เห็นภาพนี้ ผู้ถ่ายคิดว่าเป็นแสงรบกวนจากเงาสะท้อนกระจก แต่เมื่อขยายและมองดูอีกทีจึงสังเกตได้ว่า เคยเห็นปรากฎการณ์นี้ในหนังสือมาแล้ว จึงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจนสามารถยืนยันได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สไปร์ตจริงๆ แต่เนื่องจากภาพนี้ ถ่ายผ่านกระจกขณะอยู่บนเครื่องบิน และสภาพอากาศโดยรอบมีการสั่นสะเทือนอยู่ตลอดเวลาจากกลุ่มเมฆ ประกอบกับเครื่องบินอยู่ในระหว่างการเลี้ยว ดาวในภาพจึงมีลักษณะหมุนแบบสั่นไหวดังภาพภาพ




ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT / ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ - ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ


กำลังโหลดความคิดเห็น