xs
xsm
sm
md
lg

หมู่เกาะที่กำลังจะ "จมน้ำทะเล" ในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เราหลายคนคงไม่ตระหนักว่า ณ เวลานี้ และต่อๆ ไปในอนาคต พื้นที่ของทุกประเทศที่มีพรมแดนติดทะเลและมหาสมุทรกำลังลดขนาดลงตลอดเวลา เพราะปรากฏการณ์โลกร้อนได้ทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกกับเกาะ Greenland และธารน้ำแข็งบนยอดเขาสูงละลายเป็นน้ำมากขึ้น จึงมีผลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นด้วย จนได้บุกรุกชายหาด เข้ากัดเซาะชายฝั่งทุกหนแห่ง นอกจากเหตุผลดังกล่าวนี้แล้ว อุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้น ก็ได้ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นตามไปด้วย ปริมาตรของน้ำในทะเลจึงขยายตัว ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งของหมู่เกาะต่าง ๆ ทั้งในมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และแอตแลนติก เพราะพื้นที่อยู่อาศัยของชาวเกาะ และพื้นที่ทำเกษตรกรรมของชาวเกาะหลายส่วนจะจมน้ำ ด้านเมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลและแม่น้ำ ก็จะเผชิญภาวะวิกฤตเช่นกัน เพราะจะเกิดการหนุนของน้ำทะเลขึ้นไปตามลำน้ำ ทำให้แหล่งน้ำจืดได้รับผลกระทบเพราะมีเกลือปน เหตุการณ์ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงนี้จึงเป็นภัยคุกคามต่อคุณภาพการดำรงชีวิตของผู้คนจำนวนมากทั่วโลก


ไม่เพียงแต่คนและสัตว์บกเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุณหภูมิน้ำในทะเลและมหาสมุทรเพิ่มสูง สัตว์น้ำและระบบนิเวศใต้ทะเลก็ได้รับผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์นี้ด้วย เพราะการที่น้ำทะเลดูดกลืนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ จะทำให้น้ำทะเลมีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งจะฟอกขาวปะการัง และจะทำให้พืชใต้ทะเลล้มตาย จนสภาพนิเวศใต้น้ำถูกทำลายไปอย่างสมบูรณ์


องค์กร Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ได้เคยพยากรณ์ไว้ว่า เมื่อย่างเข้าปลายคริสต์ศตวรรษที่ 21 (ปี 2100) ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มสูงถึง 1 เมตร และถ้าน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้กับที่เกาะ Greenland ละลายหมด ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มสูงถึง 65 เมตร (กรุงเทพฯ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2 เมตร) แม้ความรุนแรงขณะนี้จะไม่มากถึง 65 เมตรก็ตาม แต่บรรดา megacity เช่น Bombay ในอินเดีย Dhaka ในบังคลาเทศ Venice ในอิตาลี Jakarta ในอินโดนีเซีย และ Lagos ในไนจีเรีย ก็จะเผชิญปัญหาน้ำท่วมเมืองแน่นอน

สำหรับกรณีของไทย ถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงถึง 2 เมตร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 2 เมตร จะได้รับผลกระทบพอสมควร แต่นครปฐม (ที่อยู่สูง 4 เมตร) ชลบุรี (6 เมตร) ลพบุรี (9 เมตร) จะได้รับผลกระทบน้อย


ครั้นเมื่อระดับน้ำทะเลสูงถึง 10 เมตร กรุงเทพฯ จะเป็นนครที่จมบาดาล ด้านสมุทรสงคราม (5 เมตร) ระยอง (8 เมตร) หัวหิน (9 เมตร) ฯลฯ ก็กลายเป็นนคร Atlantis ไปเรียบร้อย และเมื่อพื้นที่ของประเทศส่วนที่เป็นภาคกลางจะจมอยู่ใต้น้ำหมด ดังนั้น แผนที่อาณาเขตของประเทศ และสภาพทางภูมิศาสตร์ของชาติจะเปลี่ยนไปมาก นั่นหมายความว่า ใครวันนี้ ถ้ามีชีวิตอยู่จนถึงวันนั้น ก็จะคาดไม่ถึงว่าสภาพของประเทศในวันข้างหน้า จะแตกต่างจากสภาพของประเทศในวันนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะพื้นที่ภาคกลางจะถูกน้ำท่วมจนมิดหมด จะเหลือก็แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นภัยคุกคามต่อสถานที่อยู่อาศัยและการทำมาหากินแล้ว ความเสียหายก็อาจจะบังเกิดต่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติด้วย จนอาจทำให้ประชาชนต้องมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีที่ถูกสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน รวมถึงอาจจะมีการสูญเสียสมบัติที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติด้วย


อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ เวลาใครเอ่ยถึงระดับน้ำทะเลลดต่ำหรือเพิ่มสูง เขาใช้ระดับน้ำทะเล ณ ที่ใดเป็นเกณฑ์กลางในการเปรียบเทียบ เพราะในความเป็นจริง เราไม่มีระดับน้ำทะเลที่เป็นมาตรฐานกลาง เหมือนกับที่มีมาตรฐานกลางของเวลา ระยะทาง และมวล เพราะบนโลกในแต่ละสถานที่ น้ำทะเลมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน ความเค็มก็ไม่เท่ากัน และมีอุณหภูมิแตกต่างกันด้วย นอกจากนี้การเคลื่อนที่ของเปลือกโลกใต้ทะเลแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน ทำให้แรงดึงดูดแบบโน้มถ่วงระหว่างน้ำทะเลกับแผ่นดินแตกต่างกัน เมื่อทุกส่วนของทะเลมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาเช่นนี้ ดังนั้น การวัดความสูงระดับน้ำทะเลจึงให้ค่าแตกต่างกัน ในกรณีของยุโรป ซึ่งมี European Vertical Reference System เป็นหน่วยงานที่เก็บมาตรฐานกลาง ก็ได้ค่าระดับความสูงของน้ำทะเลแตกต่างกัน เช่น ในอังกฤษ (วัดที่ Newlyn ใน Cornwall) ได้ 7 เซนติเมตร ในฝรั่งเศส ซึ่งวัดที่เมือง Marseille ได้ค่า -5 เซนติเมตร เป็นต้น ความแตกต่างเหล่านี้ ยังแสดงให้เห็นอีกว่า อัตราการเพิ่มและลดระดับของน้ำทะเลในทุกสถานที่ทั่วโลกมีค่าไม่เท่ากัน แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ถ้าโลกเป็นทรงกลมที่สมบูรณ์แบบ เราอาจใช้ระบบ GPS คำนวณระยะทางที่ผิวทะเลอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของโลกได้ แต่โลกของเราไม่กลมดิก เพราะมีรัศมีในแนวเส้นศูนย์สูตรยาวกว่ารัศมีในแนวขั้วโลกประมาณ 21 กิโลเมตร และความหนาแน่นของเนื้อโลกก็ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นผิวสนามโน้มถ่วง (geoid) ของโลกจึงเป็นผิวที่ไม่กลมอย่างสมบูรณ์แบบ ข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ผิวของน้ำทะเลทั่วโลกก็ไม่กลมสมบูรณ์แบบเช่นกัน และเมื่อ geoid เปลี่ยนรูปทรงตามเวลา ปัจจุบันเทคโนโลยีวัดความสูงของระดับน้ำทะเลยังไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากในสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโกแล้ว ชาติอื่น ๆ ก็ยังไม่ยอมรับ เพราะหลายคนคิดว่าระดับความสูงของน้ำทะเลในบริเวณใกล้สถานที่ตนอยู่เท่านั้นที่มีความสำคัญ ระดับความสูงของน้ำทะเล ณ ที่อื่นหาได้เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนในชาติตนไม่ ดังนั้นเราคงต้องใช้เวลาอีกนาน ในการจะมีระดับความสูงของน้ำทะเลที่เป็นมาตรฐานจริงๆ


ในทำนองเดียวกัน การตกลงเรื่องความสูงของยอดเขา Everest ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะถ้าวัดจากระดับน้ำทะเลในแถบนั้น Everest จะสูง 8,850 เมตร ส่วน Mauna Kea ในเกาะฮาวายก็จะสูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,207 เมตร แต่ถ้าวัดจากท้องทะเลใรบริเวณรอบเกาะฮาวาย Mauna Kea จะสูง 10,203 เมตร และถ้ากำหนดให้จุดศูนย์กลางของโลกเป็นจุดเริ่มต้นของการวัดความสูง ยอดเขา Chimborazo ในประเทศ Ecuador ก็จะสูง 6,310 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เพราะยอดเขานี้ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ดังนั้นถ้าจะวัดจากจุดศูนย์กลางโลก Chimborazo จะสูงกว่า Everest เกือบ 2 กิโลเมตร

สำหรับกรณีชาวเกาะที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน นับเป็นชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากฝีมือการปล่อยแก๊ส CO2 ในปริมาณมากของชาติที่พัฒนาแล้ว โดยที่ชาวเกาะแทบไม่ได้สร้างปัญหานี้เลย ทำให้ความเป็นอยู่และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ บนเกาะได้รับความกระทบกระเทือนมาก เพราะเกาะตั้งอยู่บนพื้นที่ต่ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง การทรุดตัวของผิวดินบนเกาะ การกัดเซาะชายฝั่ง ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำทะเลท่วมเกาะบ่อย นอกจากนี้ก็มีปัญหาการปนเปื้อนของน้ำเค็มจากทะเลในบ่อน้ำจืด และดินที่เค็มผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีปัญหาในการเพาะปลูก จนทำให้ชาวเกาะมีปัญหาในการดำรงชีวิตยิ่งขึ้นไปอีก และ IPCC ได้คาดการณ์ว่า หมู่เกาะดังต่อไปนี้จะกลายเป็น นคร Atlantis ในอีกไม่นาน คือ ไม่เกินปี 2100

หมู่เกาะที่ทุกคนคาดว่า จะจมน้ำทะเลในอนาคตอีกไม่นาน ได้แก่

หมู่เกาะ Kiribati แห่งสาธารณรัฐ Kiribati ในมหาสมุทร Pacific

หมู่เกาะ Christmas ในมหาสมุทร India ซึ่งอยู่ทางใต้ของเกาะชะวา มีพื้นที่ 135 ตารางกิโลเมตร

หมู่เกาะ Maldives อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของศรีลังกาและอินเดีย เคยถูกปกครองโดยชาวโปรตุเกส อังกฤษ และดัตช์

หมู่เกาะ Carteret อยู่ใน Papua New Guinea ในมหาสมุทร Pacific ทางตอนใต้ เป็นเกาะรูปเกือกม้า มีพื้นที่ 0.6 ตารางกิโลเมตร และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1.5 เมตร

หมู่เกาะ Fiji อยู่ในมหาสมุทร Pacific ทางตอนใต้ ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย ประมาณ 300 เกาะ อยู่ห่างจาก Australia 300 กม. และเมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงทุกปี รัฐบาล Fiji จึงได้เรียกร้องให้ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ชดใช้ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชาวเกาะ

หมู่เกาะ Palau ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยกว่า 500 เกาะ อยู่ในมหาสมุทร Pacific ทางทิศตะวันตก

หมู่เกาะ Vanuatu อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทร Pacific ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย 83 เกาะ

นอกจากนี้ก็มี หมู่เกาะ Seychelles ในมหาสมุทรอินเดีย และอยู่นอกฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งประกอบด้วยเกาะ 115 เกาะ

หมู่เกาะ Marshall ที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทร Pacific ระหว่างเกาะฮาวายกับฟิลิปปินส์ ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย ประมาณ 1,200 เกาะ การสำรวจในปี 2022 ได้แสดงว่ามีจำนวนประชากร 55,300 คน

บทความนี้ จะกล่าวถึงแต่หมู่เกาะ Carteret, Kiribati และ Maldives เพราะมีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ว่า ชื่อเกาะเหล่านี้อาจจะถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของทุกคนได้ เช่น หมู่เกาะ Carteret ซึ่งจะจมหายไปในทะเล หลังจากที่โลกได้รู้จักเกาะนี้มานานประมาณ 260 ปี เมื่อถึงวันนี้ Carteret ได้รับเกียรติเป็นเกาะแรกของโลกที่รัฐบาลได้บังคับให้ชาวเกาะอพยพออกจากเกาะ เพราะเกาะทั้งเกาะกำลังจะถูกน้ำทะเลท่วม


ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า Philip Carteret เป็นทหารเรือหนุ่มชาวอังกฤษ ที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เดินทางไปสำรวจโลก เพื่อค้นหาดินแดนใหม่และมีขนาดใหญ่ ที่อาจจะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทร Pacific (ในเวลานั้นกัปตัน James Cook ยังไม่พบทวีป Australia) โดยใช้เรือรบหลวงชื่อ Swallow ซึ่งเป็นเรือที่แล่นใบได้ช้ามาก และบังคับควบคุมได้ยาก นอกจากนี้พลทหารประจำเรือก็มีไม่เพียงพอ ห้องเก็บเสบียงอาหารก็คับแคบ แต่ Carteret เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นสูง เขารู้ดีว่าเมื่อได้รับคำสั่ง ก็ต้องทำ แม้ว่าอุปกรณ์ที่ทางการมอบให้ใช้นั้น จะมีคุณภาพไม่ดีถึงระดับที่เขาพอใจก็ตาม แต่เขาก็ตระหนักว่า ถ้าสามารถทำได้ โดยไม่มีลูกน้องคนใดเสียชีวิตไปเพราะเรือล่ม หรือล้มตาย เพราะป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) ชื่อเสียงของเขาก็จะเป็นอมตะนิรันดร์กาล

ในที่สุดแม้ Carteret จะไม่ได้ประสบความสำเร็จในการพบทวีปใหม่ก็ตาม แต่เขาก็ได้แสดงให้โลกได้เห็นความสามารถในการเดินเรือของเขาให้ทุกคนประจักษ์ นอกจากนี้ก็ยังได้พบหมู่เกาะใหม่ๆ หลายหมู่เกาะ เช่น หมู่เกาะ Solomon, หมู่เกาะ Pitcairn และหมู่เกาะ Carteret เป็นต้น


การเดินทางของ Carteret ได้เริ่มต้นในฤดูร้อนปี 1766 หลังจากที่ได้ใช้เวลาไป 2 ปี ในการเดินทางรอบโลกด้วยเรือหลวง Dolphin เพียงแค่สองสัปดาห์ Carteret ก็ต้องออกเดินทางสำรวจโลกอีก โดยไปกับเรือ Dolphin ที่มีกัปตันชื่อ Samuel Wallis

เรือ Dolphin
เป็นเรือที่แข็งแรง สามารถแล่นใบได้เร็ว และมีอุปกรณ์เดินทางที่ดีพร้อม แต่เรือ Swallow ของ Carteret เป็นเรือเก่าที่ไม่เคยเดินทางไกล ดังนั้นการเดินทางไปสำรวจโลกของเรือทั้งสองด้วยกัน จึงมีปัญหาตั้งแต่เรือยังไม่ได้ออกจากท่า
เมื่อถึงวันที่ 21 สิงหาคม ปี 1767 เรือทั้งสองได้ออกเดินทางจากท่าเรือเมือง Plymouth และมุ่งหน้าลงทางใต้ของมหาสมุทร Atlantic ครั้นเมื่อกัปตันของเรือทั้งสองได้พบกันที่หมู่เกาะ Madeira ของโปรตุเกส Wallis ก็ได้บอกความจริงให้ Carteret ทราบว่า ทั้งสองได้รับคำสั่งให้ออกค้นหาดินแดนใหม่ในมหาสมุทร Pacific

จากนั้น Carteret ก็ต้องนำเรือ Swallow ผ่านช่องแคบ Magellan ที่แสนจะอันตราย เพื่อเข้าสู่มหาสมุทร Pacific และได้พบว่า Wallis ได้นำเรือ Dolphin แล่นใบหนีหายไปแล้ว โดยไม่ได้บอกกล่าวว่าจะไปที่ใด

Carteret จึงต้องแล่นใบขึ้นเหนือ เพื่อค้นหาเสบียงอาหารและน้ำจืดบนเกาะชื่อ Juan Fernández ของสเปน จากนั้นได้มุ่งหน้าลงใต้ข้ามมหาสมุทร Pacific ด้าน Wallis หลังจากที่ได้ทอดทิ้ง Carteret ไปแล้ว ก็ได้พบหมู่เกาะ Tahiti ซึ่งถือกันว่าเป็นดินแดนสวรรค์บนดินของบรรดาลูกเรือ จึงพำนักที่นั่นนาน 6 สัปดาห์ แล้วเดินทางกลับอังกฤษทันที เพราะรู้ว่าตนทำหน้าที่หมดแล้ว

ในวันที่ 2 กรกฎาคม ปี 1768 Carteret ได้พบหมู่เกาะ Pitcairn ที่ไม่มีใครในเวลานั้นรู้จัก จนอีก 30 ปีต่อมา เกาะนี้ได้เป็นที่ให้พวกกบฏบนเรือ Bounty หนีมาพำนักและซ่อนตัว

เมื่อถึงวันที่ 11 กรกฎาคม Carteret ก็ได้พบหมู่เกาะปะการัง Tuamotu และคาดหวังว่าตนจะพบหมู่เกาะ Solomon ที่นักเดินเรือชาวสเปนชื่อ Álvaro de Mendaña ได้พบเมื่อปี 1568 แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้พบเห็นเกาะนี้อีกเลย เกาะนี้เป็นเกาะที่น่าสนใจ เพราะหลายคนเชื่อว่า กษัตริย์ Solomon ได้ทรงนำทองคำมาซุกซ่อนไว้

ในวันที่ 12 สิงหาคม Carteret ได้พบหมู่เกาะ Queen Charlotte ซึ่งมีเกาะใหญ่ที่สุดชื่อ Egmont และที่เกาะนั้นมีป่ามะพร้าว รวมถึงมีน้ำจืด และชาวเกาะที่เป็นมิตรต่อคนแปลกหน้า แม้ชาวเกาะจะแสดงความเป็นมิตรต่อลูกเรือมากสักเพียงใด Carteret ก็ไม่ไว้ใจชาวเกาะ เขาจึงสั่งกะลาสีเรือไม่ให้ล่วงเกินสาวชาวเกาะ รวมถึงไม่ให้ลบหลู่ความเชื่อต่าง ๆ ของชาวเกาะด้วย แต่เมื่อกะลาสีตัดต้นมะพร้าว ซึ่งชาวเกาะถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ชาวเกาะจึงบุกโจมตี จนกะลาสีเรือ 4 คนเสียชีวิต

เหตุการณ์นี้ทำให้ Carteret ต้องรีบเดินทางด้วยเรือต่อไปยังเกาะชะวา เพื่อกลับอังกฤษ และในวันที่ 20 สิงหาคม เขาก็ได้พบเกาะใหม่อีกสามเกาะ และได้เห็นหมู่เกาะที่มีรูปลักษณ์เป็นวงแหวนปะการัง ที่อยู่เรียงรายกัน 6 เกาะ จึงได้ตั้งชื่อเกาะใหม่นี้ว่า หมู่เกาะ Carteret (ตามชื่อของตนเอง) แล้วเดินทางกลับบ้าน โดยได้แวะเติมเสบียงอาหารที่เกาะ Macassar (เกาะ Sulawesi ของอินโดนีเซีย) ซึ่งอยู่ในความปกครองของทหารชาวดัตช์ ซึ่งเมื่อเห็นเรือศัตรูกำลังเดินทางอยู่ในสภาพที่ยากลำบากมาก ทหารดัตช์ก็ต้องให้ความช่วยเหลือ ตามสนธิสัญญาสากล เหตุการณ์นี้ทำให้เรือ Swallow เดินทางกลับถึงอังกฤษได้ ภายในเดือนมีนาคม ปี 1769


คำถามที่ทุกคนสงสัย คือ แม้ Carteret จะเป็นนักเดินเรือที่เก่งกาจขนาดนี้ แต่เหตุใดที่เมื่อถึงทุกวันนี้ จึงแทบไม่มีใครรู้จัก Carteret เลย ทั้งๆ ที่ Carteret ก็ได้ทำแผนที่เดินทางให้นักเดินเรือรุ่นหลังได้ใช้ คำตอบ ก็คือ เพราะเขาโชคไม่ดี ที่ขณะออกสำรวจทะเลทางตอนใต้ของมหาสมุทร Pacific นั้น ได้มีนักเดินเรือคนสำคัญของโลกที่ชื่อกัปตัน James Cook ได้พบทวีป Australia และการค้นพบ Australia ของ Cook ได้ทำให้ผลงานของ Carteret ด้อยค่าไปมาก เพราะในที่สุด Cook ได้เป็นวีรบุรุษของชาติ แต่ Carteret เป็นเพียงนักเดินเรือธรรมดาที่ได้เสียชีวิตไปในปี 1796


แต่เมื่อถึงวันนี้ ชื่อ Carteret ก็กำลังเป็นข่าวใหญ่อีก เพราะเกาะ 6 เกาะของหมู่เกาะ Carteret กำลังจะจมน้ำทะเล โดยขณะนี้ มีเกาะหนึ่งที่ถูกน้ำทะเลตัดแบ่งครึ่งไปแล้ว และน้ำเค็มได้ทะลักเข้าท่วมดินบนเกาะ จนทำให้ดินมีสภาพเค็มเกินที่จะใช้ปลูกพืชได้ ด้วยเหตุนี้ประชากร 1,500 คนบนเกาะ จึงถูกบังคับให้อพยพออกจากเกาะ เพราะทุกคนตระหนักดีว่า วันสุดท้ายที่เกาะจะโผล่เหนือน้ำ ได้คืบคลานเข้ามาใกล้ทุกขณะแล้ว และเมื่อวันนั้นมาถึง ชื่อ Carteret ก็อาจจะถูกโลกลืมอีกคำรบหนึ่ง


ส่วนสาธารณรัฐ Kiribati (อ่าน Kiribas) ตั้งอยู่กลางมหาสมุทร Pacific ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรของโลก โดยมีเส้นแวงที่ 180 องศาลากผ่าน ดังนั้นชาวเกาะ Kiribati จึงเป็นชนกลุ่มแรกของโลก ที่ได้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้น แต่ปัจจุบัน Kiribati กำลังจะมีชื่อเสียงอีกด้านหนึ่ง คือเป็นเกาะ Atlantis ตัวจริงอีกเกาะหนึ่ง

หมู่เกาะ Kiribati ประกอบด้วยเกาะเล็ก ๆ 33 เกาะ มีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 811 ตารางกิโลเมตร และมีประชากร 1.5 แสนคน

ชาวเกาะมีรายได้จากนักทัศนาจรที่เดินทางจากเกาะ Fiji สภาพภูมิศาสตร์ของเกาะ คือ พื้นดินบนเกาะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 2 เมตร ในเวลากลางคืน น้ำทะเลจะเข้าท่วมบริเวณส่วนที่อยู่ต่ำของเกาะ ครั้นเมื่อถึงเวลาเช้า เกาะก็จะอยู่ในสภาพปกติ แต่เมื่อถึงเวลาบ่าย น้ำทะเลก็จะท่วมเกาะอีก วันละ 2 เวลา นี่จึงเป็นปัญหาใหญ่ เพราะชาวเกาะไม่มีที่ ๆ จะไปพำนักอยู่ชั่วคราวได้เลย


ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดี แห่ง Kiribati จึงได้ขอให้ชาวเกาะทุกคนเตรียมตัวอพยพ โดยได้จัดซื้อที่ดินพื้นที่ 22 ตารางกิโลเมตรบนเกาะ Fiji ในราคา 300 ล้านบาท ให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาว Kiribati

ด้านหมู่เกาะ Maldives ซึ่งประกอบด้วยเกาะเล็ก ๆ เป็นจำนวนเกือบ 1,000 เกาะนั้น ก็กำลังเผชิญปัญหาระดับน้ำทะเลขึ้นสูงเช่นกัน แต่แทนที่รัฐบาล Maldives จะหาซื้อที่บนเกาะอื่น เพื่ออพยพผู้คนไปอยู่ ผู้บริหารเกาะกลับใช้วิธีต่อสู้กับทะเลด้วยการสร้างกำแพงต้านน้ำทะเล โดยทำเป็นเกาะประดิษฐ์ชื่อ Hulhumale ให้อยู่ใกล้เมืองหลวงชื่อ Male และสร้างกำแพงด้วยการนำทรายจากเกาะปะการังไกล ๆ มาถมบนปะการังที่ล้อมรอบทะเลสาบบนเกาะ แล้วสร้างกำแพงสูง 3 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (พื้นที่เกาะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2.5 เมตร)

เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ ในปี 2023 Maldives ก็จะมีเกาะใหม่เกิดขึ้น 8 เกาะ ข้อดีสำหรับวิธีนี้ คือ ไม่มีใครต้องอพยพออกจากบ้านตัวเอง แต่ประเด็นที่จะทำให้ชาวเกาะเดือดร้อน คือ การนำทรายมาถมบนปะการัง ซึ่งอาจจะทำให้ปะการังตาย การสร้างเกาะใหม่และกำแพงใหม่นี้ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ชาว Maldives ใช้ในการต่อสู้ปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่ม ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย เพราะเชื่อในหลักการว่า จะต้องพยายามทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายน้อยที่สุด

ประเทศไทยเรามีโครงการหรือแผนการรูปแบบใด สำหรับชาวเกาะในอ่าวไทย และในทะเลอันดามันบ้าง เมื่อปี 2050 มาถึง

อ่านเพิ่มเติมจาก
Human adaptation to climate change โดย P.I. Palmer และ M.J. Smith ใน Nature ฉบับที่ 512 ปี 2014


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น