xs
xsm
sm
md
lg

พบฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรก!! ในประเทศกัมพูชา หลักฐานชิ้นใหม่การแพร่กระจายในภูมิภาคอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีมนักบรรพชีวินวิทยาเผยว่า ได้มีการพบ ฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกในประเทศกัมพูชาครั้งแรก ในเขตสงวนธรรมชาติเกาะโป เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตาไท จังหวัดเกาะกง หนึ่งในจังหวัดของประเทศกัมพูชาที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งอ่าวไทย ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ เป็นชิ้นส่วนกระดูกขาของไดโนเสาร์ซอโรพอด และนับเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการแพร่กระจายของไดโนเสาร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ฟอสซิลนี้เป็นโครงกระดูกที่ขาซ้ายของไดโนเสาร์ วัดความยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร และ กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะมีอายุราวๆ 120 ล้านปีที่แล้ว โดยเป็นชิ้นส่วนกระดูกขาไดโนเสาร์ซอโรพอด ไดโนเสาร์กินพืชที่มีลำคอและหางที่ยาว เป็นเอกลักษณ์ที่เห็นได้คุ้นตาในหนังสารคดีโลกดึกดำบรรพ์


ตามแผนที่ทางธรณีวิทยา บริเวณที่พบฟอสซิลนี้ยังสามารถกลับเวลากลับไปได้ประมาณ 3 ล้าน – 120 ล้านปีก่อน ซึ่งหมายความว่าในจุดนี้อาจเชื่อมโยงกับสัตว์ที่อาศัยอยู่เมื่อไดโนเสาร์ยังมีชีวิตอยู่ โดยโครงการสำรวจนี้ได้รับการร่วมมือโดยทีมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม Royal University of Fine Arts - Ministry of Environment และการส่งเสริมความร่วมมือโดย Cambodia Amazing Trip Planner Apsara Media Services


สำหรับข้อมูลของไดโนเสาร์ซอโรพอดนั้น “ซอโรพอด” (sauropod) คือชื่อเรียกของกลุ่มไดโนเสาร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มซอริสเกีย (สะโพกคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน) ไดโนเสาร์ซอโรพอด โดยส่วนมากมีขนาดใหญ่ มีกะโหลกเล็กเมื่อเทียบกับลำตัว คอยาว หางยาว เดินสี่ขา ส่วนใหญ่แล้วจะมีคอยาวอย่างน้อย 5 เมตร มีอยู่หลายชนิด สกุลที่ใหญ่ที่สุดคืออาร์เจนติโนซอรัส ที่หนักถึง 80 ตัน และยาวถึง 35 เมตร ซอโรพอดชนิดแรกอาศัยอยู่ในยุคไตรแอสสิคตอนปลาย และชนิดสุดท้ายอาศัยอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนปลายเมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน






ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : AMS One-minute/ Panharoth Kim – Artist / PhotographerAMS One-minute / wikipedia


กำลังโหลดความคิดเห็น