วันนี้ (24 พ.ย. 2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) หรือ NIA และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ร่วมกันลงนามความร่วมมือ "การขับเคลื่อนแนวพระราชดำริด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม" เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ให้ร่วมกันสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริ พร้อมการส่งเสริม ผลักดันงานวิจัย และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการยกระดับทักษะเทคโนโลยีและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดฯ พร้อมมอบนโยบาย
"การขับเคลื่อนการทำงานของหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว." และ มอบโล่รางวัลวิศวนฤมิตงานประกวด "THAIWATHER HACK รู้น้ำ ลดภัย สร้างโอกาส" และมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. ดร.พันธุ์อาจ
ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. และ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สสน. เป็นผู้ลงนามฯ ณ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว. อว. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานร่วมกันของ 3 หน่วยงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 2 ด้าน คือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชุมชน และโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (การจัดการปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า) ด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงาน จะต้องร่วมขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสร้างกลไกการดำเนินงานให้เอื้อต่อการทำงาน และต้องเชื่อมโยงสอดรับแนวนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน
“หลายคนอาจเห็นเรื่องช้างป่าเป็นปัญหา แต่ตนกลับเห็นว่าเป็นโอกาส เมื่อก่อนช้างป่าแทบจะสูญพันธุ์ไปพร้อมกับเสือ แต่พอพวกเราช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้พวกเราได้เห็นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ช้างป่าในประเทศก็กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ทำให้พื้นที่ป่าของไทยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ส่วนปัญหาที่เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน เราก็ไม่ได้ละเลยและหาทางจัดการปัญหาเพื่อให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล พร้อมจัดหาแหล่งน้ำชุนชนให้มีน้ำกินน้ำใช้พอเพียง ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” รมว.อว. กล่าว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กว่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการตามแนวพระราชดำริด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ชึ่ง วช. ได้ดำเนินแนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งระดับภูมิปัญญาและระดับสากล
มาปรับใช้ในพื้นที่เป้าหมายรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ในการสร้างอาชีพเสริมแก่ประชากรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ด้วยการฝึกอาชีพโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน และสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกพืชที่ไม่เป็นที่สนใจของช้าง และขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อบริหารจัดการและแก้ปัญหาให้แก่ชุมชน
อันเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล
อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สืบไป”
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า NIA มีเป้าหมายสร้างความร่วมมือในการผลักดัน โครงการระบบจัดการปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้าง และ โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อให้ชุมชนสามารถวางแผนการเพาะปลูกด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มผลผลิต และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา NIA ได้สนับสนุนโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนกว่า 30 โครงการ ฯ อาทิ ระบบสูบน้ำแบบขั้นบันไดพลังงานแสงอาทิตย์, ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง ฯลฯ นอกจากนี้ NIA ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยภูมิภาค ลงไปช่วยอบรมเพิ่มความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับชุมชมและผู้ประกอบทางสังคมให้สามารถพัฒนา "ผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม"
ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สสน. กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ สสน. คือการนำจุดแข็ง และจุดเด่นของ 3 หน่วยงาน มาร่วมกันทำงานภายในพื้นที่ ซึ่ง สสน. เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและถ่ายทอดขยายผลการใช้งานโดยสร้างและพัฒนาเครือข่ายเฉพาะเครือข่ายชุมชน เอกชน วิจัย เพื่อนำเสนอ ถ่ายทอดผลการวิจัย รวมถึงพัฒนา และส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ สสน. มีแนวทางดำเนินงานที่จะส่งเสริมสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อบริหารทรัพยากรน้ำ และให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ รมว. อว. ได้มอบโล่รางวัลวิศวนฤมิต ให้กับผู้ชนะการประกวด “THAIWATER HACK รู้น้ำ ลดภัย สร้างโอกาส” ซึ่งจัดโดย สสน. ร่วมกับ วิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประกวดแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาด้านน้ำของประเทศ ด้วยวิศวกรรม และคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ (Thaiwater.net) ของ สสน. โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีม Hydroinformatics for Highways อันดับที่ 2 ได้แก่
ทีม Platform รายงานอุทกภัย กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อันดับที่ 3 ได้แก่ ทีม On-Farm Solution ชึ่งทั้ง 3 ทีมจะได้ร่วมงานกับ สสน. ในการพัฒนาไอเดียจากการประกวดครั้งนี้ให้ไปสู่ความเป็นจริงต่อไป
หลังจากเสร็จพิธีลงนามฯ ผู้ร่วมลงนาม ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ การดำเนินงานของ สสน. อาทิ วีดีทัศน์เทคโนโลยีการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ, ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงสำหรับประมวลผลข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และสภาพภูมิอากาศ, นิทรรศการ "จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที และระบบโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศและระดับน้ำอัตโนมัติ อีกด้วย