“เอนก” รับสนองแนวพระราชดำริ “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” แก้ปัญหาคนกับช้าง ผนึกพลัง 3 หน่วยงาน “สสน.- NIA - วช.” จัดหาแหล่งน้ำชุมชน สร้างและฝึกอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมปลูกพืชที่ไม่เป็นที่สนใจของช้าง เผยนี่คือโอกาสเพิ่มประชากรช้างรวมทั้งสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ “การขับเคลื่อนแนวพระราชดำริด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” ระหว่าง 3 หน่วยงานภายใต้ อว. ได้แก่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช./NIA และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. โดยมี ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สสน. ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สนช. และ ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. ร่วมลงนาม ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานร่วมกันของ 3 หน่วยงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 2 ด้าน คือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชุมชน และโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (การจัดการปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า) ด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงาน จะต้องร่วมขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสร้างกลไกการดำเนินงานให้เอื้อต่อการทำงาน และต้องเชื่อมโยงสอดรับแนวนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน
“หลายคนอาจเห็นเรื่องช้างป่าเป็นปัญหา แต่ตนกลับเห็นว่าเป็นโอกาส เมื่อก่อนช้างป่าแทบจะสูญพันธุ์ไปพร้อมกับเสือ แต่พอพวกเราช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้พวกเราได้เห็นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ช้างป่าในประเทศก็กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ทำให้พื้นที่ป่าของไทยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนปัญหาที่เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน เราก็ไม่ได้ละเลยและหาทางจัดการปัญหาเพื่อให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล พร้อมจัดหาแหล่งน้ำชุมชนให้มีน้ำกินน้ำใช้พอเพียง ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
ด้าน ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า สสน.พร้อมส่งเสริม สนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง น้ำท่วมและจากช้างป่า
ขณะที่ ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า NIA จะนำ “นวัตกรรม” มาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่สำหรับการแก้ไขปัญหาภายใต้ “โครงการระบบจัดการปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า” และ “โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อให้ชุมชนสามารถวางแผนการเพาะปลูกด้วยตนเองเพื่อเพิ่มผลผลิต และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนได้” เพื่อช่วยคืนความสมดุลให้กับทรัพยากรธรรมชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ดร. วิภารัตน์ กล่าวว่า วช.ได้สนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการตามแนวพระราชดำริด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้ดำเนินแนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งระดับภูมิปัญญาและระดับสากล มาปรับใช้ในพื้นที่เป้าหมายรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ในการสร้างอาชีพเสริมแก่ประชากรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ด้วยการฝึกอาชีพโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน และสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกพืชที่ไม่เป็นที่สนใจของช้าง และขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อบริหารจัดการและแก้ปัญหาให้แก่ชุมชน อันเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สืบไป
โอกาสนี้ รมว.อว. ยังมอบโล่รางวัลวิศวนฤมิตให้กับผู้ชนะการประกวด “THAIWATER HACK รู้น้ำ ลดภัย สร้างโอกาส” ซึ่ง สสน. ร่วมกับวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประกวดแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาด้านน้ำของประเทศ ด้วยวิศวกรรม และคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ (Thaiwater.net) ของ สสน. ชิงเงินรางวัลรวม 180,000 บาท โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีม Hydroinformatics for Highways อันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Platform รายงานอุทกภัย กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อันดับที่ 3 ได้แก่ ทีม On-Farm Solution โดยทั้ง 3 ทีมจะได้ร่วมงานกับ NIA ในการพัฒนาไอเดียจากการประกวดครั้งนี้ให้ไปสู่ความเป็นจริงต่อไป