เผย Young Smart Farmer มีมากที่สุดที่ จ.เชียงราย เลขานุการ รมว.อว. ลงพื้นที่โอโซนฟาร์ม อ.แม่จัน ประกาศเชิญชวนคนรุ่นใหม่มาช่วยกันพลิกโฉมการทำเกษตรไทยแบบแม่นยำ หวังผลได้ ผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์ในทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการ อว. และ น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัด อว. ลงพื้นที่เยี่ยมชมโอโซนฟาร์ม อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยมีนายพิเชษฐ กันทะวงค์ กรรมการผู้จัดการโอโซนฟาร์ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) นำเยี่ยมชมพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยโรงเรือน 18 หลัง แต่ละโรงเรือนจะปลูกเมล่อน มะเขือเทศ ผ่านระบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารที่นำผลผลิตจากฟาร์มมาปรุงจำหน่าย โดยผลผลิตทั้งหมดของโอโซนฟาร์มเป็นออร์แกนิกส์และปลอดสารพิษ
นายพิเชษฐ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มฟล. ได้เข้ามาช่วยโอโซนฟาร์ม โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาทำเรื่องของเมล่อนที่ให้มีรสชาติหวาน ทำเป็นฟรีชดรายแปรรูปส่งตลาดได้ รวมทั้งการใช้ระบบให้อาหารพืชที่ปลูกในโรงเรือนแบบแม่นยำ สามารถลดต้นทุนได้ และยังจัดทำระบบเครื่องจ่ายปุ๋ยผ่านโทรศัพท์มือถือที่สามารถควบคุมได้ ทำให้ผลผลิตในโอโซนฟาร์มมีคุณภาพ เป็นการพลิกโฉมการทำเกษตรแบบใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะหาองค์ความรู้แบบนี้มาจากแหล่งใด ที่สำคัญ ขณะนี้เกษตรกรรุ่นใหม่ใน จ.เชียงราย หรือที่เรียกว่า Young Smart Farmer มีสมาชิกถึง 120 คน ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทยที่ทำการเกษตรแบบใหม่ ซึ่งทำแล้วสนุกและได้ประโยชน์มากขึ้น สามารถนำผลิตผลทางการเกษตรไปแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง เป็นเซรั่ม หรือแม้กระทั่งการออกแบบแพ็คเกจจิ้งใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรได้โดยผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์ มฟล. และไม่ต้องทำการเกษตรแบบลองผิดลองถูกอีกต่อไป แต่ต้องเป็นการเกษตรที่แม่นยำ จึงเป็นทางรอดของเกษตรกรไทย
ด้าน ดร.ดนุช กล่าวว่า ขณะนี้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการทำการเกษตรแบบแม่นยำหรือปรับเปลี่ยนมาเป็น Young Smart Farmer มากขึ้น เพราะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้ามาช่วยควบคุมทั้งเรื่องดิน น้ำ ปุ๋ย ได้มากขึ้น โอโซนฟาร์มใน 18 โรงเรือน มี 5 โรงเรือนที่ปลูกเมล่อน มีรายได้ 4-5 หมื่นต่อโรงเรือนต่อการตัด 1 ครั้ง ขณะที่ใน 1 ปีสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 2-3 ครั้ง หรืออย่างมะเขือเทศ มีเพียงโรงเรือนเดียวยังเก็บผลผลิตมาขายได้ทุกวัน เพราะทุกอย่างเราควบคุมได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ดังนั้น อยากจะเชิญชวนคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเป็น Young Smart Farmer ให้ไปที่อุทยานวิทยาศาสตร์ได้ทุกแห่งในมหาวิทยาลัย เพื่อเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรของประเทศไทยให้แม่นยำและหวังผลได้ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้เกษตรอย่างเป็นรูปธรรม