คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (อว.) รับตัวอย่างชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาโบราณจากกลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร หวังไขปริศนาเรื่องราวในอดีตยุคทวารวดีผ่านชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาด้วยแสงซินโครตรอน ปูทางสู่ความเข้าใจเรื่องของเทคนิค วิธีการผลิต หรือแม้กระทั่งเรื่องการติดต่อ ค้าขาย แลกเปลี่ยนของคนในสมัยโบราณ
วันนี้ (14 พ.ย.) กรุงเทพมหานคร – ดร.ศิรินาฏ ศรีจันทร์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมคณะ ได้รับตัวอย่างชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาโบราณยุคทวารวดี ณ กองโบราณคดี กรมศิลปากร โดยนางสาวสุภมาศ ดวงสกุล นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร เป็นตัวแทนนำส่งตัวอย่าง เพื่อนำไปวิเคราะห์ด้วยเทคนิคแสงซินโครตรอนที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา สำหรับเป็นฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ทางโบราณคดีต่อไป
นางสาวสุภมาศ ดวงสกุล กล่าวว่า “การมอบตัวอย่างเพื่อไปวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนนี้เป็นความร่วมมือในระยะแรก โดยกรมศิลปากรได้คัดเลือกตัวอย่างชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในประเทศไทย ที่มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8-9 ไปถึงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งเป็นช่วงเวลาร่วมสมัยทวารวดี โดยเป็นตัวอย่างที่ได้จากการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีในเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองโบราณหริภุญชัยในเขตจังหวัดลำพูน ชุมชนโบราณพงตึก จังหวัดกาญจนบุรี และจากชั้นดินในเมืองโบราณไชยา จ.สุราษฎร์ธานี”
ตัวอย่างที่กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดีเลือกให้นั้นสะท้อนลำดับพัฒนาการและความนิยม เทคนิค รูปแบบของภาชนะดินเผาในแหล่งโบราณคดีหนึ่งๆ และคัดเลือกแหล่งโบราณคดีที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อสามารถศึกษาเปรียบเทียบกันได้ว่า แต่ละแหล่งมีเทคนิคการทำเครื่องปั้นดินเผาที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และยังมีชุดตัวอย่างที่เลือกให้เป็นตัวอย่างเครื่องถ้วยเคลือบจากแหล่งเตาล้านนา ได้แก่ ตัวอย่างเครื่องถ้วยเคลือบจากแหล่งเตาพาน แหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเมืองน่าน แหล่งเตาพะเยา ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยเคลือบที่เราทราบแหล่งผลิต โดยมีวัตถุประสงค์ให้ศึกษาเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทั้งในตัวเนื้อดินที่ผลิต เทคนิค หรืออุณหภูมิในการเผาภาชนะนั้นๆ และองค์ประกอบของตัวเคลือบหรือน้ำเคลือบที่เคลือบภาชนะ ว่าในแต่ละแหล่งเตามีการใช้วัสดุในการทำน้ำเคลือบแตกต่างกันหรือไม่
“ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทั้งหมดจะนำมารวบรวมเพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบองค์ประกอบแร่ธาตุในภาชนะและตัวเคลือบ เพื่อให้เราเห็นความเหมือนและความแตกต่าง โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นตัวอย่างเครื่องถ้วยเคลือบจากแหล่งเตา ผลการวิเคราะห์จะช่วยให้เราจำแนกหรือชี้ชัดตัวหลักฐานเครื่องถ้วยหรือภาชนะอื่นๆ ที่เราอาจจะได้พบอยู่ในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ต่อไปว่า ถ้ามีการวิเคราะห์และศึกษาเปรียบเทียบในลักษณะเดียวกันแล้วพบว่ามีองค์ประกอบเคมีคล้ายหรือเหมือนกับตัวที่เราได้ทำฐานข้อมูลไว้ ก็น่าจะเป็นของที่มาจากแหล่งเตาเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้นักโบราณคดีกำหนดอายุ หรือแปลความทางโบราณคดีได้ถูกต้องมากขึ้น” นางสาวสุภมาศ ดวงสกุล กล่าว
นางสาวสุภมาศ ดวงสกุล คาดหวังว่าการส่งตัวอย่างโบราณวัตถุในครั้งนี้ จะทำให้นักโบราณคดีสามารถอธิบายเรื่องราวของคนในอดีต ผ่านการศึกษาวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์จากตัวอย่างภาชนะดินเผาชุดนี้ได้มากขึ้น และหวังว่าต่อไปเมื่อเห็นข้อมูลจากการนำร่องศึกษาตัวอย่างภาชนะดินเผานี้ จะได้เริ่มทดลองหรือขยายไปสู่การศึกษาโบราณวัตถุอื่นๆ เพื่อช่วยให้นักโบราณคดีได้เข้าใจเรื่องของเทคนิค วิธีการผลิต หรือแม้กระทั่งเรื่องของการติดต่อแลกเปลี่ยนของคนในสมัยโบราณ หรือการติดต่อสัมพันธ์ของคนผ่านตัวโบราณวัตถุที่นำมาศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบได้มากขึ้น
ตัวอย่างโบราณวัตถุชุดแรกที่กองโบราณคดี กรมศิลปากรส่งไปให้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนวิเคราะห์นั้นได้จากชุมชนโบราณพงตึก จ.กาญจนบุรี เป็นแห่งแรก โดยได้วิเคราะห์ด้วยเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับแสงซินโครตรอน ได้แก่ เทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ (XRD) เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (XRF) และเทคนิคการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด (IR) และหลังจากได้รับตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผายุคทวารวดีแล้ว ดร.ศิรินาฏ ศรีจันทร์ และคณะนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง จึงได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งชุมชนโบราณดังกล่าว
“เราลงพื้นที่จริงเพื่อดูว่าชุมชนโบราณพงตึกลักษณะเป็นอย่างไร และทำความเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมพื้นที่นี้ถึงเป็นแหล่งสำคัญ เมื่อเราเดินดูรอบๆ จึงเห็นแหล่งขุดสำรวจที่ใหญ่สุดของชุมชนโบราณ และจากข้อมูลเบื้องต้นพื้นฐาน สมัยก่อนชุมชนโบราณพงตึกเป็นจุดพักการเดินทาง จากทางพม่ามาพักตรงนี้ก่อนจะไปต่อ ที่นี่ยังมีการค้นพบวัตถุโบราณชิ้นสำคัญ อย่างตะเกียงกรีก-โรมัน และมีโบราณวัตถุอื่นๆ ที่พบและถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ส่วนตัวอย่างที่เจอนอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นภาชนะดินเผาซึ่งเราได้รับมาศึกษา” ดร.ศิรินาฏ ศรีจันทร์ กล่าว
ดร.ศิรินาฏ ศรีจันทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้เรามีชุดตัวอย่างภาชนะดินเผาโบราณครอบคลุมในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคอีสาน ซึ่งทำให้การทำงานภายใต้โครงการวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศไทย (ธัชชา) ของเรามีข้อมูลที่นำมาประกอบในฐานข้อมูลภาชนะดินเผาจากหลายแหล่งในประเทศไทย แต่เรายังรอตัวอย่างจากที่อื่นเข้ามาเพิ่มเติม ถ้ายิ่งมีหลายแหล่งมากเท่าไหร่ ฐานข้อมูลก็จะยิ่งมีข้อมูลแน่น และจะเป็นประโยชน์มากเท่านั้น แต่เบื้องต้นครอบคลุมหลายๆ ภาคของประเทศไทยแล้ว งานนี้นับได้ว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักโบราณคดีที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณและนักวิทยาศาสตร์ที่วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของตัวอย่างและสร้างเป็นฐานข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และช่วยสนับสนุนให้นักโบราณคดีเข้าใจหลักฐานทางโบราณคดีมากขึ้น”