กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประสบผลสำเร็จในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีย้อมผ้าพื้นถิ่นด้วยดินลูกรังที่ช่วยสะท้อนความร้อน พร้อมร่วมกับจังหวัดเลย พัฒนาเป็น “ผลิตภัณฑ์ผ้าทอสะท้อนความร้อน” ครั้งแรกของประเทศ ระบุเป็นการพัฒนานวอัตลักษณ์ เพื่อยกระดับชุมชนนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม โดยใช้วัตถุดิบที่มีและผลิตขึ้นในพื้นที่ เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่สะท้อนความร้อนได้ดีกว่าผ้าทั่วไป
ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ประสบผลสำเร็จในการดำเนินโครงการการย้อมผ้าพื้นถิ่นด้วยดินลูกรังที่พัฒนาให้เกิดการสะท้อนความร้อน ภายใต้กรอบโครงการพัฒนานวอัตลักษณ์ ยกระดับชุมชนนวัตกรรม โดยมีการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับจังหวัดเลย ณ กลุ่มทอผ้าและตัดเย็บบ้านสันติภาพพัฒนา ตำบลโนนป่าซาง อำเภอผาขาว จังหวัดเลย และมีต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาร่วมกัน ได้แก่ “ผลิตภัณฑ์ผ้าทอสะท้อนความร้อน” ซึ่งมีจุดเด่นคือ 1) ใช้วัตถุดิบที่มีและผลิตขึ้นในพื้นที่ และ 2) เป็นผ้าที่สะท้อนความร้อนได้ดีกว่าผ้าทั่วไป
“วว. และจังหวัดเลยเป็นพันธมิตรเครือข่ายที่มีความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรไม้ดอกไม้ประดับและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดเลย ร่วมกันสนับสนุนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมีหอการค้าจังหวัดเลยเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการส่งเสริมการผลิตและการตลาดให้แก่วิสาหกิจชุมชนในจังหวัด ดังนั้นความสำเร็จร่วมกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอสะท้อนความร้อนครั้งนี้ เป็นความภาคภูมิใจของเราที่สามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนศักยภาพในการบริหารจัดการเข้าไปช่วยตอบโจทย์ให้พี่น้องประชาชน ทั้งในแง่การเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรพื้นถิ่นสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างโอกาส สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับท้องถิ่น” ..... ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.ชุมพล บุษบก นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า บ้านสันติภาพพัฒนา ตำบลโนนป่าซาง อำเภอผาขาว จังหวัดเลย เป็นแหล่งที่มีดินลูกรังสีแดงสดและมีพืชที่มีเปลือกให้สีหลายชนิด เช่น ประดู่ จาน (ทองกวาว) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพืชที่เปลือกมีความเป็นด่างสูงเป็นจำนวนมาก เช่น ยูคาลิปตัส ฝรั่ง เป็นต้น จากความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าว ทีมวิจัย วว.ได้นำวัตถุดิบที่มีในพื้นที่มาพัฒนาเพื่อให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างจากงานของกลุ่มทอผ้าและตัดเย็บบ้านสันติภาพเดิม เพื่อให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นกับชุมชน คือ การใช้เม็ดสีจากดินลูกรังที่ถูกพัฒนาให้สะท้อนความร้อนด้วยเทคโนโลยีที่ วว. พัฒนาขึ้น แล้วนำไปย้อมด้ายโดยผสมกับน้ำเปลือกไม้เพื่อช่วยในการกระจายตัวและยึดติดกับด้าย จากนั้นใช้พืชที่มีความเป็นด่างสูงในการตรึงสีของดินไม่ให้หลุดออกจากด้ายอีกครั้ง แล้วนำไปทอเป็นผืน ทำให้ผ้าทอเป็นผ้าสะท้อนความร้อนและมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งยังไม่มีพื้นที่อื่นผลิตผ้าชนิดนี้ นอกจากนี้ วว. ยังได้ออกแบบสัญลักษณ์ของกลุ่มให้มีความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น โดยใช้ไม้ไผ่ซางและชื่อหมู่บ้านสันติภาพเป็นตัวตั้งต้นในการสร้างสัญลักษณ์ที่ใช้กับผ้าทอ ทำให้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพื้นที่ทั้งตัวผลิตภัณฑ์และตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์
“สมาชิกในกลุ่มทอผ้าและตัดเย็บบ้านสันติภาพพัฒนา ได้ย้อมผ้าและนำผ้าไปทอเป็นผืน แล้วจำหน่ายเป็นผ้าสะท้อนความร้อนซึ่งได้ราคาเพิ่มขึ้น ดังนี้ 1) ผ้าฝ้ายสะท้อนความร้อนสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าผ้าฝ้ายปกติ จาก 150 บาทต่อเมตร เป็น 300 บาทต่อเมตร เพิ่มขึ้น 100 % เมื่อเทียบกับราคาเดิม 2) ผ้าไหมสะท้อนความร้อนสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าผ้าไหมปกติจาก 800 บาทต่อเมตร เป็น 1,200 บาทต่อเมตร เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับราคาเดิม” ..... ดร.ชุมพล บุษบก นักวิจัย วว. กล่าวถึงผลลัพธ์ที่กลุ่มฯ ได้รับจากการบูรณาดำเนินงานของ วว. กับพันธมิตรจังหวัดเลย