xs
xsm
sm
md
lg

เลขานุการ รมว.อว.ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ ชื่นชมนักวิจัยค้นพบ “เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า NST-009” ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช-ทำลายเชื้อก่อโรค ช่วยเกษตรกรสวนส้มโอทับทิมสยามนครศรีธรรมราชเพิ่มผลผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขานุการ รมว.อว.การอุดมศึกษาฯ ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ ชื่นชมนักวิจัยค้นพบ “เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า NST-009” ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช-ทำลายเชื้อก่อโรค ช่วยเกษตรกรสวนส้มโอทับทิมสยามนครศรีธรรมราชเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ลดใช้สารเคมี

เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อม น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัด อว. ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่หมู่บ้านแสงวิมาน อ. ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จของกลุ่มเกษตรกรผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า NST-009 ประกอบด้วย กลุ่มส้มโอทับทิมสยาม กลุ่มทุเรียนหมอนทอง กลุ่มนาข้าว และกลุ่มไร่พริก (P7.1-64) ของบริษัทวลัยไบโอคอนโทรล จำกัด ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพภายใต้โปรแกรมบ่มเพาะวิสาหกิจในมหาวิทยาลัย (UBI-64 และ P5-65) ซึ่งขออนุญาตใช้สิทธิในการผลิตและจำหน่ายเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า NST-009

เมื่อมาถึง รศ.ดร.วาริน อินทนา นักวิจัยด้านโรคพืช ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) ได้นำเสนอผลงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า NST-009 ว่า ปัญหาของเกษตรกรคือขาดความยั่งยืนและความมั่นคง ตนจึงได้สร้างนวัตกรรมเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า NST-009 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและการทำลายจากแมลงได้ถึง 31 โรค และมีความปลอดภัยเพราะไม่มีส่วนผสมของสารเคมี โดยถ่ายทอดให้เกษตรกรที่หมู่บ้านแสงวิมาน อ. ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งปลูกส้มโอ พันธุ์ทับทิมสยาม ของ อ.ปากพนัง ซึ่งเดิมได้รับผลกระทบจากโรคพืชในส้มโอ ทำให้ต้นส้มโอยืนตายและผลไม่ได้มาตรฐาน พร้อมกับเข้าไปสร้างศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า NST-009 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ค้นพบโดย มวล. จนสามารถทำให้ปัจจุบันสวนส้มโอทับทิมสยามแสงวิมานได้ผลผลิตจากเดิม 1,500-2,000 ลูก/ไร่/ปี เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ลูก/ไร่/ปี ที่สำคัญลดค่าใช้จ่ายการใช้สารเคมี ได้ 30,000 บาท/ไร่/ปี และมียอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 1.47 ล้านบาท/ปี เป็น 2.94 ล้านบาท/ปี หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 100% จากพื้นที่เพาะปลูกขนาด 14 ไร่

รศ.ดร.วาริน กล่าวต่อว่า ต่อมาได้จดทะเบียนบริษัทเพื่อรับอนุญาตใช้สิทธิจาก มวล. เป็นผู้จำหน่ายเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า NST-009 อย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อว่า บริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด มีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่ห้องบ่มเพาะผู้ประกอบการ โซน บี อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มวล. โดยปัจจุบันมียอดขายอยู่ที่ 6.1 ล้านบาท/ปี และขณะนี้มีลูกค้าจาก 5 ประเทศ เช่น อินเดีย เวียดนาม เป็นต้น ให้ความสนใจเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า NST-009

ด้านนายอิมรอน แสงวิมาน เจ้าของสวนส้มโอทับทิมสยามแสงวิมาน กล่าวว่า โชคดีที่ได้เจอนักวิจัยของอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มวล. ที่มาช่วยพลิกชีวิต จากที่เคยประสบปัญหาจากแมลงศัตรูพืช ปกติส้มโอจะใช้เวลาในการออกผลผลิตระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า NST-009 ช่วยได้และไม่มีสารเคมีเจือปนในผลผลิตเลย

จากนั้น ดร.ดนุช กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ และ อว. มีหน้าที่เอาองค์ความรู้จากนักวิจัยไปแก้ปัญหาให้เกษตรกร เพื่อทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และผลงานที่ทำกับสวนส้มโอแห่งนี้ก็ชัดเจนว่า งานวิจัยไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาแต่ยังเพิ่มรายได้และลดการใช้สารเคมีตามนโยบายเศรษฐกิจบีซีจีของ อว. ตนขอชื่นชมอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ว่าเป็นโซ่ข้อกลางในการประสานนักวิจัยให้เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการและประชาชนอย่างแท้จริง


















กำลังโหลดความคิดเห็น