จากข่าวการเผยแพร่ภาพการเกิดปรากฏการณ์ เหมยขาบแรกของฤดูหนาวปีที่บริเวณ ลานจอดรถหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่ อน.5 อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ทำให้ชาวโซเชียลต่างตื่นเต้นดีใจที่ฤดูหนาวในปีนี้ของประเทศไทยนั้นมาเร็ว และในวันนี้ ดอยอินทนนท์ยังมีอุณภูมิหนาวสุดในรอบปีคือ 4 องศาเซลเซียส Science MGROnline จึงขอพาไปทำวคามรู้จัก “เหมยขาบ” ปรากฏการณ์ธรรมชาติยามเช้าในฤดูหนาวที่สวยงาม ว่าคืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร
“เหมยขาบ” เป็นภาษาพื้นเมืองทางภาคเหนือ ที่ใช้เรียก ปรากฏการณ์ละอองน้ำค้างที่กลายเป็นน้ำแข็งแผ่นบางๆ เกาะอยู่บนใบไม้ใบหญ้าในเวลาที่อากาศหนาว โดยคำว่า เหมยขาบ ราชบัณฑิตยสภาได้อธิบายไว้ว่า คำนี้ประกอบด้วยคำว่า “เหมย” ซึ่งแปลว่า น้ำค้าง กับคำว่า “ขาบ” แปลว่า ชิ้นเล็กๆ รวมกันเป็นเหมยขาบที่แปลว่าน้ำค้างแข็งแผ่นบางๆ ภาษาไทยถิ่นเหนือเรียกไอน้ำที่แข็งตัวเพราะความเย็นจัดว่า เหมยแขง แต่ถ้าน้ำค้างที่ลงจัดจนเหมือนละอองฝน จะเรียกว่า เหมยช้าง (อ่านว่า เหฺมย-จ๊าง) คือน้ำค้างที่ลงหนักมากแข็งเป็นแผ่นใหญ่ และในภาษาถิ่นอีสานบางถิ่นเรียกว่า แม่คระนิ้ง (อ่านว่า แม่-คะ-นิ้ง)
การเกิด“เหมยขาบ” ในประเทศไทยนั้น จะเกิดขึ้นช่วงเช้าในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ เกล็ดน้ำแข็งที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะวิบวับอยู่ตามใบไม้ยอดหญ้าในช่วงเช้าที่มีอากาศเย็น ซึ่งปรากฏการร์ทางธรรมชาติอันงดงามนี้ จะเกิดขึ้นบนยอดดอยสูง เช่นที่ ดอยอินทนนท์ ดอยเชียงดาว ดอยอ่างขาง ดอยผ้าห่มปก ภูเรือ ภูหลวง
ในข้อมูลการเกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ “เหมยขาบ” ไม่ใช้ “น้ำค้างแข็ง” เพราะเหมยขาบจะเกิดขึ้นเมื่ออากาศชื้นใกล้ผิวดินมีอุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ไอน้ำในอากาศจะกลายเป็นน้ำแข็งทันทีโดยไม่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำก่อน
ในส่วนของ “น้ำค้างแข็ง” จะเกิดเมื่อไอน้ำในอากาศกลั่นตัวเป็นหยดน้ำค้าง หลังจากนั้นหยดน้ำค้างจึงจะแข็งตัวเป็นหยดน้ำแข็งในภายหลัง เมื่ออุณหภูมิลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง สามารถพบได้ในที่อากาศหนาวจัด
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง – รูป : อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ - Doi Inthanon National Park / สำนักงานราชบัณฑิตยสภา