เวลา NASA ต้องการจะสำรวจดวงจันทร์ของโลกหรือดาวอังคาร การใช้ยานบังคับที่ไร้คนขับเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด แต่ถ้าต้องการจะศึกษา ดวงจันทร์ Titan ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ และมีบรรยากาศที่ประกอบด้วย แก๊ส nitrogen และ methane ที่หนาทึบ ในปี 2000 นั้น เจ้าหน้าที่ของ NASA ได้เคยเสนอว่า ควรใช้ helicopter
แต่อีก 20 ปีต่อมา ความคิดนี้ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนไปเป็นโครงการชื่อ Dragonfly (แมลงปอ) ที่มีมูลค่า 38,000 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดจะออกเดินทางในปี 2026 เพื่อไปให้ถึง Titan ในปี 2034 โดยจะใช้ยานไร้คนขับ (drone) ที่มีขนาดใหญ่เท่ารถยนต์ และจะให้ยานโฉบลงไปสัมผัสพื้นผิวของ Titan เป็นครั้งคราว เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตที่อาจจะมีบนดาวดวงนี้
โครงการ Dragonfly เป็นงานสำรวจที่มีนักวิจัยด้าน Applied Physics ในสังกัดมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ที่เมือง Laurel ในรัฐ Maryland เป็นเจ้าของ ซึ่งได้ตั้งความหวังว่า ไม่ว่าจะพบ “สิ่งมีชีวิต” หรือไม่ก็ตาม ภูมิทัศน์บนดาว Titan ที่โดรนส่งกลับมายังโลก ก็จะทำให้ทุกคนหยุดหายใจ (ชั่วคราว) เมื่อได้เห็นทะเลสาบและแม่น้ำที่เป็นของเหลว hydrocarbon และเห็นภูเขาหิมะที่มี hydrocarbon แข็งปกคลุม จนทำให้รู้สึกเสมือนกับว่า กำลังเยือนดินแดนในเทพนิยาย ยังไงยังงั้น
ในความเป็นจริง NASA ได้เคยส่งยาน Cassini ไปเยือน Titan มาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อปี 2005 และในการไปเยือนครั้งนั้น ยานได้ปลดปล่อยยานลูกชื่อ Huygens ให้ลอยตกผ่านชั้นบรรยากาศของ Titan เพื่อลงจอดบนพื้นดาว ภาพของพื้นผิวที่ Huygens ส่งกลับมายังโลก แสดงให้เห็นภูมิทัศน์ที่มีลักษณะคล้ายโลกมาก คือมีที่ราบสูง ทะเลทราย และมีทะเลสาบ methane กับ ethane ที่บริเวณขั้วทั้งสองของดาว ส่วนบรรยากาศของดาว มี helium, argon, hydrogen, diacetylene, acetylene, propane และมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ -179 °C (94 K) อุณหภูมิที่เย็นจัดนี้ ทำให้ “หิน” บนดาวนั้น ประกอบด้วย hydrocarbon แข็ง ข้อมูลอินทรีย์โมเลกุลต่าง ๆ ที่ Huygens รับได้ ยังแสดงให้เห็นอีกว่า บน Titan อาจมีกรด amino และ DNA ด้วย และนี่ก็เป็นความคาดหวังหนึ่งที่สำคัญมากของ Dragonfly
เพราะเหตุว่าพื้นผิวของ Titan มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์มาก ดังนั้นในการให้ยานลงไปสำรวจสถานที่หนึ่งใดเพียงสถานที่เดียว ก็คงตอบคำถามทั้งหลายได้ไม่หมดอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้น NASA จึงให้ ยาน Dragonfly กระโจนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งในทุก 2-3 สัปดาห์ โดยให้บินผ่านบรรยากาศที่หนาทึบ และต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงที่มีค่าน้อยกว่าแรงโน้มถ่วงของโลก (เพราะ Titan มีขนาดเล็กกว่าโลก) จนทำให้ยานโดรนที่หนักประมาณ 300 กิโลกรัม สามารถใช้เรดาร์เห็นบรรยากาศเหนือดาวและผิวดาวได้ ด้วยเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานความร้อนจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี
NASA ได้กำหนดให้บริเวณแรกที่ยานโดรนจะสำรวจ คือ บริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย และให้ค้นหาหลุมอุกกาบาตที่ผิวดาว รวมถึงศึกษาภูเขาไฟที่พ่นของเหลว hydrocarbon ออกมาเป็นเกล็ดแข็ง ตลอดจนถึงให้ค้นหาน้ำเหลว ซึ่งเป็นตัวช่วยทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารเคมีต่าง ๆ บนดาวด้วย
เมื่อใกล้จะสิ้นสุดการสำรวจ ยาน Dragonfly ก็จะบินไปที่หลุมอุกกาบาตชื่อ Selk ซึ่งมีขนาดใหญ่ ที่ NASA คาดจะพบน้ำแข็งที่ก้นหลุม และให้ค้นหาแก๊ส oxygen ที่นั่นด้วย
นอกจากนี้ในขณะที่ยาน Dragonfly กำลังโบยบินเหนือ Titan นั้น องค์การ NASA ยังได้กำหนดให้ยานเก็บบรรยากาศตัวอย่าง และให้ศึกษาธรรมชาติของแก๊สที่เก็บได้ด้วย อนึ่งเวลายานลงจอดบนพื้นดาว อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ซึ่งอยู่ที่ท้องยานจะยิงอนุภาค neutron ลงไปกระทบผิวดาว เพื่อให้ธาตุต่าง ๆ ที่ผิวปลดปล่อยรังสี gamma ออกมา ให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า มันเป็นผิวที่ประกอบด้วย ammonia แข็ง หรือเป็นทรายคาร์บอน
ตัวยานยังมีสว่านไฟฟ้า 2 ชุด สำหรับใช้ขุดเจาะเนื้อดาว เพื่อให้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีด้วย ตัวยานยังมีอุปกรณ์วัดความรุนแรงของการสั่นสะเทือนที่ผิวดาว ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์ เพื่อจะให้รู้ความลึกของทะเลที่อาจจะซ่อนตัวอยู่ใต้ผิวน้ำแข็งของ Titan ด้วย
งานสำรวจนี้ จะใช้เวลานานประมาณ 8 ปี ก่อนที่ธาตุกัมมันตรังสีซึ่งเป็นแหล่งจ่ายพลังงานในยานจะหมดสภาพ
ข้อมูลพื้นฐานของ Titan ที่โลกรู้จนกระทั่งถึงวันนี้มีว่า มันเป็นดวงจันทร์ที่ Christiaan Huygens พบเป็นคนแรก เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ปี 1655 เพราะเขาได้รับแรงดลใจจากการพบดวงจันทร์บริวาร 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี โดย Galileo Galilei เมื่อปี 1610 ดังนั้น Titan จึงเป็นดวงจันทร์ดวงที่ 6 ที่มนุษย์รู้จัก
ชื่อ Titan เป็นชื่อของยักษ์ในเทพนิยายกรีก การที่มีชื่อนี้เพราะมันเป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดที่สุดของดาวเสาร์ และใหญ่เป็นที่สองของระบบสุริยะ คือ รองจากดวงจันทร์ชื่อ Ganymede ของดาวพฤหัสบดี และใหญ่กว่าดวงจันทร์ของโลกประมาณ 50% โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 5,150 กิโลเมตร และมีบรรยากาศที่หนาถึง 150 กิโลเมตร ข้อมูลที่ยาน Huygens พบ จากการสำรวจเมื่อปี 2005 คือ Titan โคจรรอบดาวเสาร์ในทุก 15 วัน 22 ชั่วโมง
จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดของการให้ Dragonfly ไปเยือน Titan ในครั้งนี้ คือ ความมุ่งหวังจะได้พบสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนี้ และได้เห็นสภาพธรรมชาติของดาวที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เหมือนโลกในสมัยเมื่อ 3,000 ล้านปีก่อน ที่สิ่งมีชีวิตเพิ่งถือกำเนิดบนโลกใหม่ๆ
นอกเหนือจากการใช้โดรนทำงานสำรวจเชิงสร้างสรรค์แล้ว ปัจจุบันเรายังได้ใช้ โดรนเป็นอาวุธสังหารศัตรู หรือผู้ก่อการร้ายได้เป็นอย่างดีด้วย เพราะโดรนสามารถเฝ้าติดตามดูเป้าหมายได้จากเบื้องสูง แล้วยิงกระสุนได้ด้วยความแม่นยำ จากนั้นก็บินวูบหายไปจากท้องฟ้าได้อย่างรวดเร็ว จนฝ่ายศัตรูที่เป็นเป้าตั้งตัวตอบโต้ไม่ทัน เพราะโดรนสามารถบินได้ด้วยความเร็วตั้งแต่ 160-300 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีเพดานบินสูงถึง 15 กิโลเมตร ได้อย่างสบายมาก ครั้นเมื่อเปรียบเทียบด้านราคา ก็มีมูลค่าประมาณ 1% ของเครื่องบินรบ ดังนั้นถ้าโดรนถูกยิงตก ความสูญเสียก็นับว่าไม่รุนแรงมาก
เมื่อความสามารถและประโยชน์มีมากเช่นนี้ ดังนั้นตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา กองทัพอากาศสหรัฐฯ จึงมีโดรนเป็นกองกำลังสำคัญถึง 1 ใน 3 ของกองกำลังทัพทั้งหมด และประมาณครึ่งหนึ่งของนักบินในกองทัพ ได้รับการฝึกฝนให้สามารถควบคุมโดรนได้ เพื่อใช้สู้รบในสงครามที่ Afghanistan, Iraq, Yemen, Somalia, Libya, Pakistan และ Philippines นี่จึงเป็นสงครามรูปแบบใหม่ที่กองทัพใช้โดรนสังหารศัตรู โดยที่กองทัพ แทบไม่มีทหารผู้ใดล้มตายเลย
ตามปกติในการทำสงครามด้วยโดรนนั้น ทหารผู้บังคับโดรนจะนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในรถพ่วง (trailer) โดยบนจอคอมพิวเตอร์จะแสดงภาพของถนนหนทาง ประชาชน และสถานที่สำคัญ ฯลฯ นอกจากทหารผู้บังคับโดรนแล้ว คนที่ดูภาพบนจอก็ยังมีผู้บังคับบัญชาของทหารคนนั้น และหน่วยข่าวกรอง ซึ่งจะทำหน้าที่วิเคราะห์ภาพทุกภาพที่ปรากฏบนจอ รวมถึงมีนักกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้ความเห็นว่า ทหารสมควรจะยิงเป้าใดบ้าง และเมื่อใด ครั้นเมื่อถึงเวลาที่ทุกคนลงความเห็นพ้องต้องกันแล้ว หน่วยยิงอาวุธก็จะเล็งแสงเลเซอร์ไปที่เป้า ซึ่งอาจจะเป็นคนหรือรถถัง จากนั้นทหารผู้บังคับโดรนก็จะยิงจรวดตรงไปยังตำแหน่งที่เลเซอร์ระบุ แล้วอีก 15-30 วินาทีต่อมา ทุกคนก็เห็นเป้านั้นถูกทำลาย
เหตุการณ์ลักษณะนี้ อาจทำให้คนบางคนเห็นว่า สงครามรูปแบบนี้มีมนุษยธรรมยิ่งกว่าสงครามธรรมดา ที่ประชาชนทั่วไปซึ่งไร้เดียงสาอาจจะถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก ด้วยลูกระเบิดอย่างไร้ความรับผิดชอบใด ๆ จากฝ่านทหาร เหมือนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หรือในสงครามเวียดนาม เพราะการใช้โดรนเป็นการฆ่าแบบมุ่งเป้าที่ได้รับการพิจารณาจากบุคคลหลายคนอย่างรอบคอบ แต่การสู้รบวิธีนี้ก็ยังมีจุดบกพร่องตรงที่ ถ้าประชาชนทั่วไปเกิดบังเอิญเดินเข้าไปในบริเวณที่เป็นเป้าในช่วง 5 วินาทีสุดท้ายก่อนระเบิดจะมาถึง หรือคนที่เป็นเป้าได้ส่งมือถือของเขาให้บุคคลอื่น การยิงผิดก็มีสิทธิ์ที่จะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน จะอย่างไรก็ตามในภาพรวมการทำสงครามแบบนี้ ก็จะลดจำนวนคนเสียชีวิตที่เป็นพลเมืองบริสุทธิ์ลงได้มาก แต่จะมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคนที่ทำหน้าที่ประเมินผล
ตามสนธิสัญญาที่กรุง Geneva ว่าด้วยการทำสงคราม ตั้งแต่ปี 1949-2005 นั้น ได้ให้คำจำกัดความของพลเมือง สนามรบ และทหาร ไว้อย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันเมื่อมีสงครามที่เกิดจากผู้ก่อการร้าย คำจำกัดความของทหาร พลเมืองและสนามรบก็ต้องปรับเปลี่ยน เพราะคนธรรมดาในเวลาหนึ่ง อาจจะเป็นผู้ก่อการร้ายในเวลาต่อมาได้ เมื่อเขาตกอยู่ในภาวะคับขัน และเมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ เส้นแบ่งกั้นระหว่างเป้าที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศกับเป้าผิดกฎหมาย ที่ถูกสังหารด้วยเหตุผลทางการเมือง ก็เริ่มมีความไม่ชัดเจนขึ้นมาทันที เพราะเป้าจะถูกตีความหมายแตกต่างออกไป
ณ วันนี้โลกมีประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศแล้วที่ใช้โดรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ในประเทศสหราชอาณาจักร อิสราเอล อิหร่าน สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สเปน ปากีสถาน ตุรกี รัสเซีย ไต้หวัน อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยูเครน ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย เบลารูส อินโดนีเซีย ปาเลสไตน์ เวเนซุเอลา ลิบยา อิรักและซีเรีย (Islamic State) ไนจีเรีย โซมาเลีย ฯลฯ ดังดังเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวันที่ 30 กันยายน ปี 2011 ที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ใช้โดรนสังหารผู้ก่อการร้าย Al-Qaeda ใน Yemen เป็นต้น
ปัจจุบันนี้ สหภาพยุโรป (European Union, EU) ก็กำลังเสริมความเข้มแข็งของกองทัพสหภาพ ด้วยการทุ่มเทเงินงบประมาณการวิจัยเรื่องโดรนเพิ่มขึ้นมาก เพื่อต่อต้านการคุกคามจากรัสเซีย ด้วยการทำให้กองทัพมีความทันสมัย และมีอาวุธที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สร้างขึ้นในยุโรปเอง อาวุธเหล่านี้ครอบคลุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงวัสดุประสิทธิภาพสูง หุ่นยนต์ และ software รหัสลับ แต่ก็มีสมาชิก EU อีกหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่า ความต้องการเรื่องพลังงานสะอาด และการต่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นยิ่งกว่า ด้านฝ่ายที่เห็นด้วยกับการป้องกันสหภาพ EU เอง ก็ได้ย้ำว่า นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อาณาเขตของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้รับการปรับเปลี่ยน โดยอำนาจทางทหาร ดังจะเห็นได้จากกรณีที่รัสเซียยึดครอง Crimea เมื่อปี 2014 และในปี 2022 นี้ ก็ยึดครองดินแดนส่วนหนึ่งของ Ukraine ไปอีก ดังนั้น EU จึงควรจะต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ แทนที่จะต้องอาศัยกำลังพลของประเทศอื่นๆ
สำหรับเรื่องการพัฒนาโดรนนั้น ทุกชาติก็มีหลายประเด็นที่ต้องดำเนินการ เช่น เวลาเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีอาคารและตึกถล่มล้มระเนระนาด การค้นหาผู้คนที่ถูกตึกทับ และยังมีชีวิตอยู่นับเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่จะต้องกระทำอย่างระมัดระวัง เพราะในบริเวณเกิดเหตุมักจะมีเสา คาน และผนังตึกที่อาจหักโค่น หรือหม้อแปลงไฟฟ้าที่อาจระเบิดได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นโดรนที่จะใช้ในการค้นหาคนที่รอดชีวิต ก็จะต้องมีกล้องถ่ายภาพและ gyroscope เพื่อให้รู้ว่า มันอยู่ที่ตรงไหน และอะไรบ้างคืออุปสรรคที่กีดขวางการทำงานช่วยเหลือ
อนึ่งในการพัฒนาความสามารถของโดรนนั้น Ashutosh Natraj จาก มหาวิทยาลัย Oxford ในอังกฤษ ได้ติดตั้งกล้องถ่ายภาพที่มีเลนส์แบบ fish-eye พร้อมโปรแกรม algorithm ที่ช่วยให้ผู้บังคับโดรนเห็นภาพของท้องฟ้าและพื้นดิน ตลอดจนถึงขอบฟ้าที่เป็นเส้นแบ่งกั้นระหว่างฟ้ากับดินด้วย จากนั้นก็ให้คอมพิวเตอร์บนโดรนคำนวนระยะที่โดรนอยู่สูงจากพื้นดิน และทิศที่มันจะต้องบินไป สำหรับการบินสำรวจภายในเมือง ทีมวิจัยก็ต้องเขียน algorithm ที่บอกขนาดของอาคารต่าง ๆ และถนน เพื่อให้โดรนใช้ในการบินไปข้างหน้า ถอยหลัง ขึ้นบน และลงล่างได้ เมื่อถึงเวลากลางคืนที่มีแสงน้อย โดรนอาจฉายแสงเลเซอร์ไปกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้รู้ข้อมูลที่จำเป็นจะต้องใช้ในการรู้ตำแหน่งและทิศการเคลื่อนที่ของมันเอง
ณ วันนี้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford กำลังพัฒนาระบบโดรนที่ประกอบด้วยสมาชิกโดรนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะต้องสื่อสารถึงกันตลอดเวลา เพราะทุกคนรู้ดีว่า “ในการเดินทาง ถ้าใครต้องการจะไปได้เร็ว เขาต้องไปคนเดียว แต่ถ้าเขาต้องการจะไปให้ไกลและได้นาน เขาต้องไปเป็นทีม” ด้วยเหตุนี้ การเก็บข้อมูลจากสถานการณ์ที่มีภัยพิบัติจึงจะเร็วได้ และมีประสิทธิภาพดี ก็ต้องมีข้อมูลจากโดรนหลายตัวทำงานประสานกัน และถ้าเวลาโดรนตัวใดทำงานบกพร่อง ข้อมูลที่จำเป็นก็จะไม่ขาดหายไปมาก แต่ข้อเสียของการมีโดรนหลายตัวทำงานร่วมกันเช่นนี้ก็มี คือ การสื่อสารระหว่าง
โดรนจะต้องไม่มีปัญหาใด ๆ ตลอดเวลา และการตัดสินใจอาจจะมีความล่าช้าบ้าง เพราะผู้บังคับโดรนจำเป็นต้องใช้เวลาในการตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้รับจากทุกโดรน
นอกจากนี้ นักวิจัยก็ยังได้เพ่งเล็งเรื่องการเพิ่มเวลาในการบินของโดรนด้วย ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้แบตเตอรี่และเครื่องยนต์แก๊สหรือเครื่องยนต์ไอออน เพื่อให้โดรนสามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น และไม่ให้มีราคาแพงมาก นักวิจัยจึงมักใช้โดรนที่มีขนาดเล็ก ซึ่งเหมาะสำหรับการบินระยะใกล้ และใช้เวลาบินสั้น ๆ ทีมวิจัยบางทีมจึงกำลังหาวิธีลดขนาดของแบตเตอรี่ลง บางทีมก็กำลังหาวิธีเสริมสมรรถภาพในการบินของโดรน โดยใช้เทคนิคการบินของนกและของเครื่องร่อน บางทีมคิดใช้เซลล์แสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนโดรน เพื่อทำหน้าที่เสมือนเป็นดาวเทียมที่โคจรต่ำ ซึ่งก็นับว่ายังดีกว่าดาวเทียมจริง เพราะนักวิจัยสามารถควบคุมทิศการเคลื่อนที่ของโดรนได้ และได้เห็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริง ๆ เช่น ในกรณีการลอบตัดไม้ทำลายป่า การเกิดไฟป่า และการช่วยเหลือคนที่กำลังประสบอุบัติเหตุทางทะเล เป็นต้น
แม้คนส่วนใหญ่จะเห็นคุณค่าของโดรน แต่ความนิยมใช้กันมากนี้ก็ได้ทำให้เกิดปัญหาในการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการบินทุกรูปแบบ เพราะองค์การ Federal Aviation Administration (FAA) ได้บังคับให้ทุกคนที่จะใช้
โดรนต้องขออนุญาตจาก FAA และให้ผู้บังคับโดรนต้องได้รับใบอนุญาตให้ใช้โดรนในการวิจัยนอกอาคาร ทั้งนี้ก็เพื่อให้ FAA มั่นใจได้ว่า โดรนตัวนั้นจะไม่สร้างภัยอันตรายต่ออากาศยานอื่น ๆ หรือต่อผู้คนใด ๆ และอาคารสาธารณะต่าง ๆ ได้เลย และนั่นก็หมายความว่า การบินของโดรนในเมืองใหญ่ ๆ และในสถานที่แออัดก็จะไม่ได้รับอนุญาต แต่ถ้าเมื่อใดที่ได้รับอนุญาตแล้ว บริเวณบินของโดรนก็จะต้องไม่เกินพื้นที่ 32 ตารางกิโลเมตร (คิดเป็นวงกลมที่มีรัศมีประมาณ 3.2 กิโลเมตร) และถ้าใครต้องการสำรวจพื้นที่มากกว่านั้น ก็จำเป็นต้องขออนุญาตเพิ่มทุกครั้งไป และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ซึ่งตามปกติจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน คนที่ได้รับใบอนุญาตก็จะให้โดรนบินในเวลากลางวัน ภายในบริเวณที่กำหนดให้เท่านั้น ภายในช่วงเวลา 1-2 ปี โดยที่คนควบคุมโดรนจะต้องมีใบประกาศนียบัตรว่า เป็นคนบังคับโดรนที่ได้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว FAA ยังบังคับให้มีคนช่วยดูโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการชนของโดรนกับสิ่งต่าง ๆ ด้วย โดยให้คนช่วยดูติดต่อสื่อสารกับคนบังคับด้วยวิทยุ
แม้การวิจัยเรื่องสมรรถภาพของโดรนยังไม่ยุติ นักวิจัยที่ทำงานสำรวจด้านต่างๆ ก็ได้นำโดรนออกใช้กันแล้ว เช่น เมื่อเดือนมีนาคม 2013 NASA ได้ใช้โดรนชื่อ Dragon Eye ถ่ายภาพและเก็บแก๊สพิษ (SO2) ที่ถูกพ่นออกมาจากการระเบิดของภูเขาไฟ Turrialba ในประเทศ Costa Rica เพื่อนำมาเปรียบกับข้อมูลที่ได้จากดาวเทียม Terra และช่วยทำให้ข้อมูลดังกล่าวมีความเป็นมาตรฐาน (calibrate) มากขึ้น เพราะการส่งคนไปเก็บควันและเขม่า ที่บริเวณใกล้ปล่องภูเขาไฟเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ครั้นจะส่ง helicopter ไปเก็บแก๊สตัวอย่าง ก็มักจะมีภัยที่เกิดจากกระแสลมแรงในบริเวณนั้นด้วย
การสำรวจสภาพน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกก็เป็นอีกโจทย์วิจัยหนึ่งที่นักวิจัยชื่อ James Maslanik จาก มหาวิทยาลัย Colorado Boulder กำลังดำเนินการ โดยส่งโดรนไปบินเหนือน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ ซึ่งมีลมพัดด้วยความเร็ว 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีอุณหภูมิต่ำมากถึง -40 °C โดยให้โดรนบินอยู่สูง 30 เมตรเหนือน้ำแข็ง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ปลอดภัยยิ่งกว่าการใช้คนไปสำรวจสภาพจริง และที่อินเดีย นักชีววิทยาที่นั่นก็ได้ใช้โดรนในการจับกุมคนลอบฆ่าแรดและช้างอย่างผิดกฎหมาย และที่สกอตแลนด์ ก็มีการใช้โดรนสังเกตดูการเจริญเติบโตของสาหร่ายที่บริเวณปากแม่น้ำ (ซึ่งตามปกติเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก) แต่นักวิจัยเหล่านี้ก็สามารถทำได้ และได้องค์ความรู้มากมายจากการใช้โดรน
เหล่านี้ คือ ทิศทางการวิจัยภาคสนามในอนาคต อ่านเพิ่มเติมจาก Drone: Remote Control Warfare โดย Hugh Gusterso
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์