xs
xsm
sm
md
lg

NARIT ร่วมฉลอง "ฮาโลวีน" แบบชาวดาราศาสตร์ ด้วยภาพ 5 วัตถุห้วงอวกาศคล้ายความสยองขวัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผย ภาพ 5 วัตถุในห้วงอวกาศลึกที่ดูละม้ายคล้ายกับความสยองขวัญ ร่วมฉลองฮาโลวีนแบบชาวดาราศาสตร์ มัดรวม 5 วัตถุในห้วงอวกาศลึกที่ดูละม้ายคล้ายกับความสยอง


1.ภาพถ่าย “เนบิวลาหัวแม่มด” (Witch Head Nebula) หรือ IC2118 เป็นเนบิวลาชนิดสะท้อนแสงที่อยู่บริเวณกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ห่างออกไปจากโลกประมาณ 900 ปีแสง เนบิลาประเภทนี้เป็นกลุ่มฝุ่นและแก๊สที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่เกิดจากแสงของดาวฤกษ์ใกล้เคียงที่กระทบกับฝุ่นและแก๊สเหล่านี้ แล้วเกิดการสะท้อนแสงและการกระเจิงแสง ซึ่งแสงสีฟ้าคือแสงที่เกิดการกระเจิงแสงได้ดีที่สุด (หลักการเดียวกันกับท้องฟ้าบนโลกที่เป็นสีฟ้าในเวลากลางวัน) เนบิวลาประเภทนี้จึงมักเป็นสีฟ้า และสำหรับเนบิวลานี้ที่มีรูปร่างหน้าตาเป็นใบหน้าคนที่มีคางยื่นยาวและมีจมูกโค้งงอ คล้ายกับใบหน้าของแม่มดในการ์ตูน จึงเป็นที่มาของชื่อ “เนบิวลาหัวแม่มด”


2. ภาพถ่าย “เนบิวลาศีรษะผี” (Ghost Head Nebula) หรือ NGC 2080 จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เป็นกลุ่มฝุ่นและแก๊สที่หนาแน่นอยู่ภายในเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud) อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 160,000 ปีแสง มีการก่อกำเนิดดาวฤกษ์ดวงใหม่มากมายภายในบริเวณนี้

กลุ่มฝุ่นและแก๊สเหล่านี้กระจายตัวในอวกาศเป็นระยะทางกว่า 50 ปีแสง บริเวณกลางภาพมีกลุ่มแก๊สที่ส่องสว่าง 2 กลุ่มเป็นบริเวณที่มีความร้อยสูงมาก เนื่องจากได้รับรังสีพลังงานสูงจากดาวฤกษ์ยักษ์ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน กลายเป็นลักษณะปรากฏที่ชวนให้จินตาการถึงใบหน้าของใครบางคน ที่กำลังแสยะยิ้มอยู่ในอวกาศอันมืดมิด เป็นที่มาของชื่อ “เนบิวลาศีรษะผี”


3.ภาพถ่าย “เนบิวลาแจ็คโอแลนเทิร์น” (Jack-o'-lantern Nebula) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ในช่วงคลื่นอินฟราเรด เผยภาพกลุ่มแก๊สและเมฆฝุ่นลักษณะคล้ายตะเกียงฟักทองแจ็คโอแลนเทิร์น เกิดจากดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 15-20 เท่าที่อยู่ภายใน แผ่รังสีพลังงานสูงออกมา พัดพากลุ่มฝุ่นและแก๊สจนแยกออกเป็นโพรงที่มีรูปร่างตามภาพประกอบ

ภาพนี้เกิดจากข้อมูลภาพถ่ายในย่านอินฟราเรด 3 ช่วงความยาวคลื่น นำมาประมวลผลเป็นภาพหลากสีนี้ สีเขียวและสีแดงแสดงถึงเมฆฝุ่นที่มีอุณหภูมิต่างกัน สีน้ำเงินแสดงถึงดาวฤกษ์เกิดใหม่และเมฆฝุ่นร้อนภายในเนบิวลา เมื่อนำภาพทั้งสามมารวมกัน สีแดงจากฝุ่นจะปรากฏเด่นชัดที่สุด ส่วนพื้นที่เป็นสีขาวจะแสดงถึงวัตถุอวกาศที่สว่างในทั้งสามช่วงคลื่น


4.ภาพถ่าย “เนบิวลาทารันทูลา” (Tarantula Nebula) หรือ 30 Dorarus จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ในย่านรังสีอินฟราเรด เป็นกลุ่มฝุ่นและแก๊สขนาดใหญ่ในอวกาศ และเป็นแหล่งก่อกำเนิดของดาวฤกษ์นับหมื่นดวง อยู่ภายในเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud) บริเวณใจกลางของเนบิวลานี้มีกระจุกดาวเกิดใหม่ที่มีมวลรวมกันประมาณ 500,000 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ และปล่อยพลังงานออกมามหาศาล กลุ่มฝุ่นและแก๊สกระจายตัวเป็นเส้นใยอันยุ่งเหยิงล้อมรอบโพรงอวกาศที่ใจกลาง คล้ายกับรังของแมงมุมทารันทูลา เป็นที่มาของชื่อ “เนบิวลาทารันทูลา” นั่นเอง

นักดาราศาสตร์สนใจเนบิวลาแห่งนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีองค์ประกอบทางเคมีที่ใกล้เคียงกับองค์ประกอบของเอกภพ ในยุคที่เอกภพมีอายุเพียงไม่กี่พันล้านปี (ปัจจุบันเอกภพมีอายุประมาณ 13,800 ล้านปี) ดังนั้น การศึกษาการก่อตัวของดาวฤกษ์ในเนบิวลาแห่งนี้จะช่วยทำความเข้าใจถึงสภาพในอดีตของเอกภพและการก่อตัวของดาวฤกษ์ในยุคแรกเริ่มด้วย


5. ภาพถ่าย “เนบิวลาผี” (Ghost Nebula) หรือ IC 63 จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เป็นทั้งเนบิวลาสะท้อนแสงและเนบิวลาเปล่งแสงในกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย (Cassiopeia) ห่างจากโลกประมาณ 550 ปีแสง พื้นที่เปล่งแสงสีแดงเกิดจากกลุ่มแก๊สไฮโดรเจนที่ดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตจากดาวยักษ์น้ำเงินที่ชื่อว่า Gamma Cassiopeiae ที่อยู่ภายในเนบิวลา แล้วปลดปล่อยแสงสีแดงออกมา ส่วนสีน้ำเงินเกิดจากการสะท้อนแสงของกลุ่มฝุ่น เกิดเป็นลักษณะของกลุ่มแก๊สและเมฆฝุ่นคล้ายผ้าคลุม หรือวิญญาณที่น่าขนลุก ทำให้ IC 63 ได้ชื่อว่าเป็น "ปิศาจแห่งแคสซิโอเปีย"


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT
กำลังโหลดความคิดเห็น