จากกระแสข่าว “บัวน้อย” เป็นกอริลลาเพศเมีย ตัวสุดท้ายในประเทศไทย ที่อาศัยอยู่ที่สวนสัตว์พาต้า เนื่องจากประเทศไทย ได้เข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITEES) จึงไม่สามารถนำกอริลลาเข้าประเทศไทยได้ ทำให้บัวน้อยต้องอยู่ด้วยความโดดเดี่ยวจากการเป็นตัวสุดท้าย
ในโอกาสนี้ Science MGROnline จึงขอพาไปทำความรู้จักกับ “กอริลลา” วานรแสนรู้ หนึ่งในสายพันธุ์ลิงไร้หาง ที่นับได้ว่าเป็นญาติใกล้ชิดมนุษย์ ด้วย DNA คล้ายกัน 98 .4 %
"กอริลลา" จัดเป็นเอปจำพวกหนึ่งในบรรดา เอป หรือ ลิงไม่มีหาง (ape) ที่มีแขนที่ยาวกว่าลิงในวงศ์อื่นๆ มีนิ้วที่ใช้ในการหยิบจับและใช้ประโยชน์คล้ายคลึงกับมนุษย์ และยังคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน และจัดเป็นเอปและไพรเมตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในตอนกลางของทวีปแอฟริกา ทั้งที่เป็นที่ราบต่ำและเป็นภูเขาสูง
กอริลลานับได้ว่าเป็นเอปที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุดรองจาก ชิมแปนซีและโบโนโบ โดยมี ดีเอ็นเอที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ถึง ร้อยละ 95 – 99
พฤติกรรมของกอริลลานั้น เป็นเอปที่อยู่เป็นสังคม คือ เป็นฝูง ทั้งฝูงจะมีจ่าฝูงเป็นตัวผู้ที่โตเต็มที่เพียงตัวเดียว กอริลลาตัวผู้ที่โตเต็มที่อาจมีความสูงประมาณ 180 เซนติเมตร เมื่อยืนตรงด้วยสองขาหลัง ร่างกายเต็มเปี่ยมด้วยกล้ามเนื้อที่มีความบึกบึนแข็งแรงมากกว่ามนุษย์ถึง 6 เท่า กอริลลาเมื่อตกใจหรือต้องการขู่ผู้รุกรานจะลุกขึ้นด้วยสองขาหลัง และทุบหน้าอกรัว ๆ ด้วยสองแขน พร้อมกับคำรามก้อง จึงทำให้ดูเหมือนสัตว์ที่มีความดุร้ายยิ่งขึ้น ทั้งที่จริงแล้ว กอริลลาเป็นสัตว์ที่รักสงบ และขี้อาย ไม่เคยใช้พละกำลังหากไม่ถูกรบกวนก่อน
ฝูงกอริลลาจะประกอบด้วยตัวผู้จ่าฝูงเพียงตัวเดียว นอกนั้นเป็นตัวเมียและลูกเล็กๆ จำนวนหนึ่ง ลูกเล็กจะเกาะอยู่กับแม่เหมือนลิงหรือเอปทั่วไป กอริลลาเมื่อเดินจะใช้ทั้งแขนหน้าและขาหลัง นานครั้งจึงจะเดินด้วยสองขาหลัง เพราะแขนหรือขาหน้าทั้งสองข้างยาวและแข็งแรงกว่ามาก กอริลลาเป็นเอปที่หากินในเวลากลางวัน โดยจะไม่ขึ้นต้นไม้มากนัก เมื่อตกกลางคืน ตัวผู้จ่าฝูงจะนอนบนพื้นที่บริเวณโคนต้นไม้ ในขณะที่สมาชิกฝูงตัวอื่นๆ จะนอนบนคบไม้ หรือโน้มกิ่งไม้มาขัดทำเป็นที่หลับนอน
ในปัจจุบัน กอริลลาถือได้ว่าเป็นสัตว์หนึ่งในหลายชนิดที่กำลังถูกคุมคามถิ่นที่อยู่อาศัย และมีจำนวนที่ลดลงเนื่องจากการถูกไล่ล่าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ กอริลลาภูเขา หนึ่งในสายพันธุ์กอลิลา ได้ตกเป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยากจะหยุดยั้ง เนื่องจากเหลือจำนนวนอยู่เพียง 600 ตัวเท่านั้น จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าการสูญพันธุ์เกิดขึ้นในอัตราความเร็วกว่าระดับปกติ ราว 1,000 - 10,000 เท่า และเตือนว่าโลกกำลังเผชิญกับสภาพที่เทียบได้กับหายนะที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : วิกิพีเดีย / National Geographic