xs
xsm
sm
md
lg

ภาพหาชมยากฝีมือคนไทย! “Moondogs” ปรากฏการณ์แสงดวงจันทร์สะท้อนเหนือทะเลเมฆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผยภาพ “Moondogs” ที่หาชมยาก และยังเป็นวิวทิวทัศน์จากบนเครื่องบิน อีกหนึ่งภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทยที่ทำให้ได้ชมเหตุการณ์ที่ไม่ได้พบเห็นง่ายๆ โดยเป็นผลงานของ คุณสุภฉัตร วรงค์สุรัติ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก

ปรากฏการณ์ Moondogs เกิดจากการที่แสงจากดวงจันทร์ถูกหักเหหรือสะท้อนกับผลึกน้ำแข็งรูปแผ่น ซึ่งอยู่ในเมฆบางชั้นสูงที่วางตัวแบนๆ ตามแนวระดับ คล้ายกับใบไม้ที่กำลังร่วงหล่นลงมาจากต้นไม้ เกิดเป็นวงแหวนสีรุ้งขึ้น เรียกว่า การทรงกลดที่เกิดจากผลึกรูปแผ่น (Plate Halo) หรือเส้นโค้งที่เกิดจากผลึกรูปแผ่น (Plate Arc)


ลักษณะที่เกิดขึ้นนอกจากวงแหวนสีรุ้งคือการปรากฏของแถบแสงด้านซ้ายและขวาของดวงจันทร์ แต่ละแถบแสงเรียกว่า moondog ถ้าเป็นแถบทั้งสองข้างจะเรียกว่า moondogs หากมีความสว่างมากพอ จะดูเสมือนมีดวงจันทร์ทั้งหมด 3 ดวง ปรากฏการณ์นี้คล้ายกับปรากฏการณ์ sundogs ซึ่งเกิดจากแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นดวงอาทิตย์ แต่เกิดขึ้นได้ยากกว่าเพราะดวงจันทร์มีความสว่างน้อยกว่าดวงอาทิตย์

วงแหวนสีรุ้ง จะมีระยะห่างเชิงมุมประมาณ 22 องศาเสมอ เนื่องจากแสงที่เดินทางผ่านผลึกจะถูกเบี่ยงเบนไปจากแนวตกกระทบเดิมเป็นมุม 22 องศาในทิศต่าง ๆ ผู้สังเกตจึงมองเห็นแนวแสงที่ห่างจากแหล่งกำเนิดเป็นมุม 22 องศาทุกทิศทางรอบ ๆ แหล่งกำเนิดแสง นอกจากนี้ หากลองเหยียดแขนให้สุด กางนิ้วโป้งและนิ้วก้อยออก แล้วใช้นิ้วโป้งบังแหล่งกำเนิดแสงไว้ ปลายนิ้วก้อยจะตรงกับขอบวงแหวนพอดี


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT


กำลังโหลดความคิดเห็น