xs
xsm
sm
md
lg

วช. ลงพื้นที่ จ.พัทลุง เยี่ยมชมงานวิจัย “ข้าวสังข์หยด” พลิกฟื้นความสุขและสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูป “ข้าวสังข์หยด” สู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงตามมาตรฐานชุมชน โดยมี ดร.พรวิชัย เต็มบุตร คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ แห่ง มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง หัวหน้า
โครงการวิจัย นำองค์ความรู้มาถ่ายทอดเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่สู่ความเป็นชุมชนต้นแบบ


วันนี้ (21 ต.ค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัยฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย นำ นายสมบูรณ์ วงศ์กาด ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชนจากส่วนกลาง และสื่อมวลชนจากท้องถิ่น ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปข้าวสังข์หยดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงตามมาตรฐานชุมชน โดยมี ดร.พรวิชัย เต็มบุตร คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ แห่ง มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง หัวหน้าโครงการวิจัย นำองค์ความรู้มาถ่ายทอดเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่สู่ความเป็นชุมชนต้นแบบ
พร้อมทั้งนำคณะผู้บริหาร วช. และผู้ทรงคุณวุฒิเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง โดย นายวิสุทธิ์ วิบูลย์พันธุ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง และ นาย บดินทร์ภัทร วิบูลย์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ วิสหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง เป็นผู้นำชมผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปจากข้าวสังข์หยดของวิสหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุขแสงรักษาการแทนผู้อํานวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ และคณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยทักษิณ ให้การต้อนรับ

นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย พัฒนาบุคลากร ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจากผลสำเร็จของโครงการ “การผลิตเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลชนิดผงสำเร็จรูปจากสารสกัดข้าวกล้องสังข์หยดอินทรีย์สำหรับผู้สูงวัยและวัยทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ได้เกิดผลผลิตที่สำคัญอันนำมาสู่การต่อยอด โครงการ “การถ่ายทอดเทคโนโลยี
การแปรรูปข้าวสังข์หยดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงตามมาตรฐานชุมชน” ก่อให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์พร้อมทั้งคู่มือองค์ความรู้ในการแปรรูปข้าวสังข์หยดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงและนวัตกรชุมชนที่มีองค์ความรู้ด้านการแปรรูปของชุมชนต้นแบบไปสู่การผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์และขยายผลสู่วงกว้างจากองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการพัฒนามาขยายผลต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากการแปรรูปข้าวสังข์หยด ทั้งด้านอาหารและเครื่องสำอางโดยใช้วัตถุดิบที่เหลือจากข้าวหักท่อนและรำข้าวสู่ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้มาตรฐาน อย. รองรับ ผลักดันพื้นที่ต้นแบบชุมชนเศรษฐกิจฐานรากชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป

ดร.พรวิชัย เต็มบุตร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปข้าวสังข์หยดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงตามมาตรฐานชุมชน” เป็นการต่อยอดจากโครงการเดิมในการนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ซึ่งในระหว่างดำเนินงานได้เกิดผลผลิตพลอยได้ที่สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบโจ๊กข้าวกล้องสังข์หยดสำเร็จรูปปรุงรส และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคลีนซิ่งออยล์จากสารสกัดรำข้าวสังข์หยด พร้อมทั้งคู่มือองค์ความรู้เรื่อง “การเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดด้วยการแปรรูป” ในการขยายพื้นที่จากเดิมเพื่อเป็นชุมชนต้นแบบ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง วิสาหกิจข้าวอินทรีย์โตนดด้วน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านกล้วยเภา กลุ่มทำนาอินทรีย์ตะโหมด และกลุ่มข้าวสังข์หยดอินทรีย์บ้านพังดาน ให้เป็นกลุ่มเป้าหมายในการขยายผลสำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดด้วยการแปรรูป โดยใช้วัตถุดิบที่เหลือจากการขายทั้งส่วนที่เป็นข้าวหักท่อนและรำข้าว สู่ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และ อย. เป็นการเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการประกอบอาชีพของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสังข์หยด ขยายระดับการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ในระดับที่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ดำเนินการจากเดิมเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นชุมชนต้นแบบอย่างน้อย 2 ชุมชน อาศัยความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่วิสาหกิจชุมชนที่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสังข์หยดในจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นส่วน “ต้นน้ำและปลายน้ำ” ภาครัฐที่เป็นส่วน “กลางน้ำ” ได้แก่นักวิจัยจากคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ ม. ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการนำองค์ความรู้ดังกล่าวเป็นหน่วยขับเคลื่อนประสานงาน สนับสนุนและสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการที่จะเป็นหน่วยงานคอยเชื่อมโยงระหว่างชุมชนและนักวิจัยในมหาวิทยาลัยโดยที่โครงการวิจัยจะสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้จากการแปรรูปข้าวสังข์หยดให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรม เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มความรู้ให้แก่ประชาชนในจังหวัดยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง

นายวิสุทธิ์ วิบูลย์พันธุ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง กล่าวว่า ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เป็นข้าวสายพันธุ์แรกที่ได้คำประกาศรับรองให้เป็น “สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือข้าวจีไอ (GI) การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปในกลุ่มอาหาร เช่น แป้งข้าวสังข์หยด ขนมอบเค้กไข่เค็มลาวา หรืออาหารแปรรูปจากข้าวสังข์หยด ในกลุ่มเครื่องสำอาง โดยมีแผนผลักดันให้เกิดการจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยด โดยอาศัยนักวิจัย
ในมหาวิทยาลัยและสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อน และมีจุดมุ่งหมายในการผลักดันให้เกิดนโยบายระดับจังหวัด 1 วิสาหกิจ 1 ผลิตภัณฑ์ สู่ความเป็นชุมชนต้นแบบ ชุมชนเข้มแข็ง นำความสุขสู่เกษตรกรพัฒนาชุมชนด้วย “ข้าวสังข์หยด”

ผู้บริหาร วช. และผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานที่ดำเนินงานวิจัยผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารและสถานที่ผลิตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน อย. ณ คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ ม.ทักษิณ และได้เยี่ยมชม วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง

ทั้งนี้ นักวิจัยได้นำผลงานผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวสังข์หยด เช่น ผลิตภัณฑ์โจ๊กข้าวกล้องสังข์หยดสำเร็จรูปปรุงรส และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคลีนซิ่งออยล์จากสารสกัดรำข้าวสังข์หยด มาให้ชมและช็อปในงานวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี ภายใต้แนวคิด “63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ระหว่างวันที่ 25 – 28 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ


























































กำลังโหลดความคิดเห็น