xs
xsm
sm
md
lg

ครม. อนุมัติ 5.1 พันล้าน "ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จ.ภูเก็ต" ตามที่กระทรวง อว. เสนอ พร้อมขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม. อนุมัติ 5,116 ล้าน "ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จ.ภูเก็ต" ตามที่กระทรวง อว. เสนอ พร้อมขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าจากการท่องเที่ยวถึงปีละกว่า 62,000 ล้านบาท

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จ.ภูเก็ต ตามที่กระทรวง อว. เสนอ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,116 ล้านบาท เพื่อให้บริการรักษาพยาบาล-ผลิตบุคลากร-วิจัย สำหรับภูมิภาคอันดามัน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ แพทย์ทางเลือก, เป็นสถานที่ทำการวิจัยวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และเป็นสถานพยาบาลขั้นตติยภูมิและเฉพาะทาง ขนาด 300 เตียง เน้นการบริการการแพทย์แม่นยำ การแพทย์ทางไกล และรักษาโรคซับซ้อน มีระบบส่งต่อระหว่างกันกับโรงพยาบาลในพื้นที่อันดามัน ที่สามารถให้บริการผู้ป่วยโรคซับซ้อนขั้นตติยภูมิไม่น้อยกว่า 12,500 คน/ปี ดูแลผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 300,000 คน/ปี โดยสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย รวมทั้งจะช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นอกจากนี้ยังให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับพรีเมียม และมีศูนย์ทันตกรรมที่ทันสมัยแห่งแรกในภาคใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการดูแลสุขภาพของคนไทยแล้ว โครงการดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้โดยตรงจากการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 1,600 ล้านบาท/ปี และจากการบริการทันตกรรมไม่น้อยกว่าปีละ 300 ล้านบาท

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ที่สำคัญโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จ.ภูเก็ต นี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) และศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก สร้างรายให้แก่ประเทศสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีกด้วย ทั้งนี้ มีการประเมินว่าโครงการศูนย์สุขภาพอันดามัน จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น สามารถให้บริการในระดับสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 62,000 ล้านบาท/ปี

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว.กล่าวว่า โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จ.ภูเก็ต ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ  เพื่อผลิตบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอและตรงกับความต้องการของพื้นที่แถบอันดามัน ปิดช่องว่างปัญหาการรักษาของพื้นที่อันดามันในอดีต รวมทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ 2.โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต ขนาด 300 เตียง เพื่อให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในกลุ่มอันดามัน สามารถดูแลรักษาโรคซับซ้อนที่โรงพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถรองรับได้ โดยมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยกับโรงพยาบาลต่างๆ และ 3.ศูนย์สุขภาพนานาชาติ ให้บริการครบวงจรการแพทย์เพื่อสุขภาพ ทั้งการตรวจ การรักษา การฟื้นฟู และการส่งเสริมสุขภาพ โดยจะมีศูนย์ทันตกรรมดิจิทัลสงขลานครินทร์ เพื่อให้บริการทางทันตกรรมทั่วไปและเฉพาะทางที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งโครงการทั้งสามส่วนนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ รวมทั้งเป็นการขยายศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สำคัญของโลกด้วย ทั้งนี้กระทรวง อว. และกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อบูรณาการความร่วมมือดำเนินการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกแล้ว

ด้าน ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้กล่าวขอบคุณ ครม. และ อว. ที่สนับสนุนโครงการ และให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันจะอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปีตั้งแต่ปี 2566-2570 โดยศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง จะให้บริการผู้ป่วยชาวไทยไม่น้อยกว่า 12,500 คน/ปี ผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 300,000 คน/ปี รวมทั้งสามารถดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาจังหวัดแถบอันดามัน มีรายได้โดยตรงจากการรักษาชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 1,600 ล้านบาท/ปี มีศูนย์ทันตกรรมที่ทันสมัยแห่งแรกในภาคใต้ ที่บริการคนไทยและต่างชาติ สร้างรายได้จากชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท/ปี ในส่วนของการผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพ จะผลิตได้ปีละกว่า 110 คน และสามารถอบรมทักษะต่างๆ ตามความต้องการของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 คน/ปี ลดการไปรักษาโรคซับซ้อนในพื้นที่อื่นของคนในพื้นที่อันดามันไม่น้อยกว่า 13,500 ครั้ง/ปี






กำลังโหลดความคิดเห็น