กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. จับมือพันธมิตรองค์กรภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในและต่างประเทศกว่า 40 หน่วยงาน เปิดงานประชุมและนิทรรศการ APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz (Thailand Tech Show 2022) ภายใต้แนวคิด ผสานพลัง วทน. เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน (Synergizing STI to Sustainable Business) เพื่อเป็นกิจกรรมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022 Thailand) และเปิดงาน Thailand Tech Show 2022 เวทีแสดงผลงานทางวิชาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมวิจัยที่พร้อมต่อยอดธุรกิจ พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมโอกาสความร่วมมือด้านธุรกิจ วิชาการระหว่างสมาชิกเอเปคให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม 2565 ที่ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ประธานเปิดงานและปาฐกถาหัวข้อ "บทบาทกระทรวง อว.ในการผลักดันเศรษฐกิจ BCG วาระแห่งชาติของประเทศไทย" กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่งกับการเปิดงาน “APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to BIZ” (Thailand Tech Show 2022) ครั้งนี้ ซึ่งไม่เพียงเป็นเวทีที่จะนำเสนอการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ คือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) Economy ที่กระทรวง อว. โดยสวทช. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมความร่วมมือทั้งด้านการค้าการลงทุน และความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค APEC Thailand 2022 เท่านั้น แต่ยังส่งเสริมต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ด้วยโจทย์ความท้าทายของโลกปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จะได้เห็นถึงการประยุกต์ใช้ระบบเศรษฐกิจ BCG
ของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืนทุกภูมิภาคของประเทศโดยนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการจัดการเทคโนโลยีและการค้า ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างรวดเร็วและยั่งยืน อย่างไรก็ตามทุกประเทศในกลุ่ม APEC มีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะบรรลุความยั่งยืน ดังนั้นประเทศไทยตั้งเป้าที่ใช้การประชุมนี้เพื่อแนะนำระบบเศรษฐกิจ BCG ที่มีการเชื่อมโยงกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในบริบทที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นงานประชุมและแสดงนิทรรศการนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนาของสวทช.รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วยภาคเอกชน
หน่วยงานวิจัย และสถาบันการศึกษา โดยนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดง จะเป็นผลงานที่พร้อมส่งต่อให้กับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนที่สนใจนำไปต่อยอดผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ซึ่งจะเป็นการแสดงความสามารถและศักยภาพของงานวิจัยไทย และเนื่องจากประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในปี2565
ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่ประเทศไทยได้แสดงวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติเรื่องเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่ง สวทช.ในฐานะหน่วยงานหลักของประเทศในการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจ BCG ถือเป็นภารกิจหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมโอกาสความร่วมมือทั้งด้านการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางวิชาการ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz (Thailand Tech Show2022) ในครั้งนี้
สำหรับไฮไลท์สำคัญ 5 ส่วน ได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ การบรรยาย และการเสวนา การขับเคลื่อน BCG Economy
Model สู่การปฏิบัติ ในเขตเศรษฐกิจ APEC ครอบคลุมวิทยากรจาก 8 เขตเศรษฐกิจ ในสาขา BCG ทั้งพลังงานและสิ่งแวดล้อม อาหารและเกษตร ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งการพัฒนาชุมชน การบรรยายหัวข้อ “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง” เพื่อการคาดการณ์เทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้ประกอบการในปัจจุบันจะต้องรู้และปรับตัวให้เท่าทันกับเทรนด์โลกแห่งเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้น การจัด Investment Pitching เวทีแห่งการนำเสนอนวัตกรรมเด่นที่มีความพร้อมถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ/นักลงทุนที่มองหาโอกาสและช่องทางในการทำธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งในปีนี้จะมีผลงานทั้งหมด 9 ผลงาน แบ่งเป็น สวทช. จำนวน 4 ผลงาน หน่วยงานพันธมิตรอีก 4 ผลงาน และผลงานจากประเทศเวียดนามอีก 1 ผลงาน รวมถึงการประกาศรางวัลผลงานที่ผู้เข้าร่วมงานโหวตให้เป็นผลงานที่น่าลงทุนที่สุด (The most interesting technology for investment) และผลงานที่นำเสนอได้ดีที่สุด (The best presentation) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2565
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับอีกไฮไลท์สำคัญได้แก่ การจัดนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วย 4 โซน ได้แก่
1.โซน APEC Economy Pavillion
2.โซน IP Marketplace แหล่งรวมงานวิจัยในจุดเดียวโดยความร่วมมือจากพันธมิตรหน่วยงานวิจัยทั่วประเทศทั้งภาครัฐ
สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งจะมีผลงานวิจัยที่จะมานำเสนอมากกว่า 200 ผลงาน จาก 35
หน่วยงานจากทั่วประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่า วทน. ตอบโจทย์ BCG ช่วยเสริมขีดความสามารถการแข่งขันให้กับธุรกิจแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน
3.โซน Showcase: BCG Model 3 โครงการ (ราชบุรีโมเดล, EECi, Circular Solar
Module)
4.โซน ผลงานกลุ่ม BCG รวบรวมจากผลงานเด่น สวทช. / ผู้ประกอบการ BCG / NSTDA Startup / สินค้านวัตกรรม และไฮไลท์สุดท้ายกับ การเยี่ยมชม (Site Visit) โครงการที่ประสบผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ BCG Model จำนวน 3
เส้นทาง ได้แก่ 1.ราชบุรีโมเดล ซึ่งเป็นพื้นที่การพัฒนาตามนโยบายด้านเกษตรและอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 2.พื้นที่ EECi จ.ระยอง และ3.พื้นที่ทดลองการทำแผงโซลาเซลล์ที่ปลดระวางกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนและการเกษตร
(Circular Solar Module) จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565 โดยผู้ร่วมงานสามารถเลือกเยี่ยมชมได้ตามความสนใจ