xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด อว.นำ 14 นักวิจัยรุ่นใหม่ของไทยกระทบไหล่ 9 นักวิทย์รางวัลโนเบลในเวที STS Forum 2022 เวทีหารือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด อว.นำ 14 นักวิจัยรุ่นใหม่ของไทยกระทบไหล่ 9 นักวิทย์รางวัลโนเบลในเวที STS Forum 2022 เวทีหารือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ประเทศญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนมุมมองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม และการใช้ชีวิต ชี้เป็นการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคม ครั้งที่ 19 (STS Forum 2022) ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มีกิจกรรมพิเศษคือเปิดเวทีให้นักวิจัยรุ่นใหม่จากทั่วโลก ได้สนทนากับนักวิจัยชั้นนำของโลก เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสังคมศาสตร์ ในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการทำงานทางวิชาการ รวมไปถึงข้อคิดการใช้ชีวิตในฐานะนักวิจัย โดยมีผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Laureate) เข้าร่วมอย่างเป็นกันเองถึง 9 คน โดยมีนักวิจัยรุ่นใหม่ของ อว. 14 คนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมโดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้รับเลือกเข้าร่วมสนทนากับผู้ได้รับรางวัลโนเบล ในกิจกรรม "Dialogue between young leaders and Nobel laureates" และร่วมประชุม STS Forum 2022 ที่ประเทศญี่ปุ่น ตลอด 3 วัดที่จัดประชุม

ปลัด อว.กล่าวต่อว่า กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล นักวิชาการและผู้นำรุ่นใหม่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จึงสร้างโอกาสเปิดประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในเวทีนานาชาติที่สำคัญ ซึ่งหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต้นสังกัด และหน่วยงานให้ทุนวิจัยและพัฒนานักวิจัย โดยเฉพาะ วช. และ สกสว. ได้สนับสนุนให้ทุนมาเข้าร่วมกิจกรรม

ด้าน ดร.จิราพัชร คำพิเดช จาก วว.กล่าวว่า ตื่นเต้นที่มีโอกาสพบปะและนั่งสนทนาผู้ได้รับรางวัลโนเบล Dr.Eng.Ryoji Noyori รางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2544 รวมถึงการสนทนาออนไลน์กับ Prof.Dr. Klaus von Klitzing รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี 2528 โดยสิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากนักวิทย์โนเบลครั้งนี้ คือ การทำงานวิจัยไม่ควรมุ่งเน้นแต่การตีพิมพ์อย่างเดียว แต่ควรค้นคว้าวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และเพื่อเป้าหมายใหญ่ที่ต้องการ เช่นเดียวกับ ดร.จิรเมธ อุฬารวิวัฒน์ จาก วว.กล่าวว่า ดีใจที่ได้พบและนั่งคุยกับ Dr.Eng.Ryoji Noyori ถือว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำวิจัยต่อไปในอนาคต นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักวิจัยรุ่นใหม่จากทั่วโลกในกลุ่มเดียวกันทำให้แนวทางการทำงานวิจัยมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ดร.อัชฌา กอบวิทยา นักวิจัยรุ่นใหม่จาก สวทช. กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้าสนทนากับผู้ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ท่าน คือ Prof. Ada Yonath รางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2552 และ Prof. Brian Schmidt รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี 2554 โดยสิ่งที่ทั้งสองท่านเน้นย้ำ คือ ต้องมีความอยากรู้อยู่เสมอ ต้องมีความรักในงานที่ทำ และต้องให้ความสำคัญกับความสุขของตัวเองเป็นอันดับแรก เพื่อจะเกิดงานวิจัย

ผศ.ดร.นุจริน จงรุจรา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งได้ร่วมสนทนากับ Prof. Joseph Stieglitz รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2544 กล่าวว่า ได้เรียนรู้มุมมองการทำงานทางวิชาการของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่สนใจประเด็นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย โดย Prof. Stieglitz แนะว่านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ควรจะค้นหาความเชี่ยวชาญ ความสนใจของตนเองให้พบ และที่สำคัญต้องมีความสุขกับงานที่ทำ “Enjoy science and tech”

ด้าน ดร. ศิรเศรษฐ์ บัณฑุชัย จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมสนทนากับผู้ได้รับรางวัลโนเบล Dr. Richard J Roberts รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ ปี 2536 ร่วมกับเพื่อนนักวิจัยรุ่นใหม่จากหลายประเทศ โดยเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องกระบวนการตีพิมพ์วิจัย รวมถึงข้อจำกัดและการวัดผลงานในหน้าที่การทำงานและทัศนคติในการทำงาน และ ดร.ปฎล ชื่นตระกูล จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงความรู้สึกประทับใจที่ได้มีโอกาสพบผู้ได้รับรางวัลโนเบล Prof. Takaaki Kajita รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี 2558 และ Dr. Richard J Roberts รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ ปี 2536 โดยสิ่งที่ได้เรียนรู้จากทั้งสองท่านคือ ต้องจดจำแรงบันดาลใจที่ทำให้ตนอยากมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ไว้เสมอ แล้วมุ่งทำงานที่เรารัก งานที่เราเชื่อต่อไป ความล้มเหลวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ทำให้เราต้องก้าวผ่านไป แล้วทำต่อไป ซึ่งโอกาสเหล่านี้คอยเติมแรงบันดาลใจให้เราต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น