ปลัด อว.เผย "ธัชชา" กระทรวง อว.ให้ทุนนักวิจัยไทยที่ร่วมทีมกับ “ศ.ดร.สเวนเต้ พาโบ้” เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ (Physiology or Medicine) ปี 2565 ทำวิจัยเรื่อง “ดีเอ็นเอของคนไทยโบราณ” เตรียมนำเสนอผลการวิจัยในงานประชุมวิชาการนานาชาติ ที่ จ.เชียงใหม่ เดือน พ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และภาคีสมาชิกราชบัณฑิตสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้ อว. โดยวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ "ธัชชา" ให้ทุนทำวิจัยเรื่องดีเอ็นเอของคนไทยโบราณกับ รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ นักวิจัยรุ่นใหม่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.) และทีมนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นงานวิจัยคล้ายกับผลงานของ ศ.ดร.สเวนเต้ พาโบ้ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแมกซพลังค์ด้านมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ(MPI-EVA) ประเทศเยอรมนี ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ (Physiology or Medicine) ปี 2565 จากผลงานการศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณ ซึ่งถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการวิจัยทางโบราณคดี โดยการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมหรือชีววิทยาระดับโมเลกุลมาประยุกต์ใช้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทำให้เข้าใจวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยเป็นผู้บุกเบิกการแยกสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอจากกระดูกของมนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วซึ่งขุดพบในถ้ำ อายุหลายหมื่นปี ดีเอ็นเอที่สกัดออกมานั้นมีจำนวนน้อยและเสื่อมสภาพไปมากแล้ว แต่ก็ได้ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมาแยกและวิเคราะห์รายละเอียดจนสำเร็จได้ เกิดความรู้ใหม่ว่ามียีนบางส่วนจากมนุษย์โบราณนั้นได้ถ่ายทอดเข้ามาสู่มนุษย์ปัจจุบันด้วย ซึ่งข้อมูลและเทคนิคการศึกษานี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเกิดความตื่นตัวและนำไปเป็นต้นแบบในการศึกษาวิจัยต่อไปอีกอย่างกว้างขวาง เกิดความรู้ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์
ปลัด อว.กล่าวต่อว่า สำหรับ รศ.ดร.วิภู เคยร่วมทีมของ ศ.ดร.สเวนเต้ ระหว่างปี 2559-2562 ที่สถาบันวิจัยแมกซพลังค์ด้านมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ ประเทศเยอรมนี ทำการศึกษาดีเอ็นเอโบราณจากตัวอย่างฟันที่ค้นพบในประเทศไทย และได้ร่วมทำงานกับ ศ.ดร.สเวนเต้ เพิ่มเติมอีกเมื่อกลับมาประเทศไทยแล้ว การให้ทุนของธัชชาครั้งนี้จึงถือการเป็นบูรณาการด้านศาสตร์และศิลป์ไปคู่กัน
ด้าน รศ.ดร.วิภู กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวกระโดดในการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีอย่างลึกซึ้งโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยการริเริ่มของ "ธัชชา" โดยขณะนี้มีการศึกษาดีเอ็นเอโบราณหลายโครงการ หนึ่งในนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทย โดย รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ และ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ร่วมกับนักวิจัยจาก MPI-EVA ศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณที่พบที่ จ.แม่ฮ่องสอน ได้ข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจมาก โดยจะนำเสนอผลการวิจัยในงานประชุมวิชาการนานาชาติของสมาคม Indo-Pacific Prehistory Association (IPPA) ที่ จ.เชียงใหม่ ในเดือน พ.ย.นี้
รศ.ดร.วิภู กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนและทีมของ รศ.ดร.จตุพล คำปวนสาย และ ผศ.ดร.เมธวี ศรีคำมูล กำลังศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์ในประเทศไทยเพิ่มเติม ทั้งดีเอ็นเอมนุษย์โบราณและดีเอ็นเอของมนุษย์ในปัจจุบัน ขยายการวิจัยในภาพใหญ่ขึ้นอีกให้เข้าใจวิวัฒนาการของมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยการสนับสนุนจากสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ธัชชา ภายใต้ อว.ซึ่งเห็นชัดเจนว่าประเทศไทยมีความพร้อมและกำลังเป็นผู้นำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดีเอ็นเอโบราณและวิวัฒนาการของมนุษย์ได้ในระดับภูมิภาคได้