xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ประหลาดๆ บนทางเดินสู่ “ศูนย์องศาสัมบูรณ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความรู้วิทยาศาสตร์ระดับพื้นฐานที่เรามีคงมีอยู่เช่นว่า ไม่มีอะไรเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแสง และเราจะสร้างเครื่องจักรกลให้มีประสิทธิภาพมากกว่า 100% ไม่ได้ (คือพลังงานที่เกิดขึ้น จะต้องมีค่าน้อยกว่าพลังงานที่เราให้แก่เครื่องจักรกลเสมอ) ฯลฯ นี่คือตัวอย่างของกฎธรรมชาติที่ไม่มีใครสามารถจะฉีกได้เหมือนกฎหมาย


แต่ก็มีกฎๆ หนึ่งที่แถลงว่า เราจะทำให้อุณหภูมิของระบบๆ หนึ่ง มีค่าต่ำกว่าศูนย์องศาสัมบูรณ์ (-273.15 องศาเซลเซียส) ไม่ได้ และกฎนี้ได้ท้าทายความสามารถของนักฟิสิกส์หลายคนที่ต้องการจะเอาชนะ หรือก้าวข้ามข้อห้ามนี้ไปให้ได้ และความพยายามนี้ก็ได้นำนักฟิสิกส์ไปสู่การพบปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด และเป็นประโยชน์ต่อโลกเทคโนโลยีมากมาย เช่น ได้พบปรากฏการณ์สภาพนำยวดยิ่ง (superconductivity) สสารควอนตัม BEC (Bose-Einstein Condensate) ปรากฏการณ์ของไหลยวดยิ่ง (superfluidity) ซึ่งนำไปสู่การพบเทคโนโลยีการสร้างสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูง เพื่อใช้ในเตาปฏิกรณ์ fusion และอุปกรณ์เครื่องเร่งอนุภาคพลังงานสูง LHC (Large Hadron Collider) ที่ใช้ในการพบอนุภาค Higgs boson รวมถึงใช้ในอุปกรณ์ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ใช้ในการสร้างองค์ประกอบของคอมพิวเตอร์ควอนตัม และใช้ในการสร้างรถไฟเหาะ (Maglev) เป็น

วิทยาการด้านฟิสิกส์อุณหภูมิต่ำ (Low Temperature Physics) ได้ถือกำเนิดเมื่อปี 1906 เมื่อนักเคมีทฤษฎีชาวเยอรมันชื่อ Walther Nernst ได้เสนอกฎข้อที่ 3 ของวิชาอุณหพลศาสตร์ (thermodynamic) ว่า ในผลึกที่สมบูรณ์แบบ เวลาถูกนำไปทำให้มีอุณหภูมิต่ำถึงศูนย์องศาสัมบูรณ์ entropy จะมีค่าเท่ากับศูนย์ (entropy เป็นปริมาณที่สามารถคำนวณได้จากความไม่เป็นระเบียบ) ถ้อยแถลงนี้ได้รับการต่อต้านด้วย Max Planck (ผู้ให้กำเนิดทฤษฎี quantum) และ Albert Einstein (ผู้ให้กำเนิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ) ซึ่งไม่เห็น


ดังนั้นในอีก 6 เดือนต่อมา Nernst จึงได้ดัดแปลงกฎของเขา โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า ความพยายามใด ๆ ที่จะทำให้ระบบมีอุณหภูมิเท่ากับศูนย์สัมบูรณ์นั้น เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะถ้าจะทำได้ นักทดลองจะต้องใช้เวลานานมากจนเอกภพแตกดับไปแล้ว ก็ยังไม่บรรลุจุดประสงค์ (เหมือนกับการคำนวณหาค่าของ π ที่มีทศนิยมจำนวนมากถึงอนันต์ คือ หาที่สิ้นสุดไม่ได้ เช่นกัน)

การพบกฎที่ 3 นี้ ได้ทำให้ Nernst ได้รับรางวัลโนเบลเคมี ประจำปี 1920 (สำหรับกฎข้อที่ 1 นั้น มีใจความว่า ความร้อนเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่ง จึงสามารถทำงานได้ และเปลี่ยนเป็นพลังรูปอื่นได้ และกฎข้อที่ 2 ก็มีใจความว่า เราจะทำให้ความร้อนถ่ายเทจากที่ๆ มีอุณหภูมิต่ำไปสู่ที่ ๆ มีอุณหภูมิสูง โดยไม่ได้ใช้พลังงานใดๆ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า เราไม่สามารถจะสร้างเครื่องจักรกลที่มีประสิทธิภาพ 100% ได้ และกฎข้อที่ 2 นี้ เป็นตัวกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของระบบ เช่นว่าเวลาเราเกิด แก่ แล้วก็ตาย ห้องทำงานของเราตามปกติจะรกขึ้น ๆ ถ้าไม่มีการทำความสะอาด หรือไข่ที่ตกพื้นก็จะแตก เหตุการณ์ย้อนเวลาที่จะให้คนเราตายแล้วเกิด หรือห้องทำงานที่รกจะกลับสภาพเป็นห้องที่เป็นระเบียบ และไข่ที่แตกแล้วจะคืนกลับมาเหมือนเดิมนั้น กฎข้อที่ 2 ของวิชาความร้อน ได้ห้ามไว้ เพราะกฎได้แถลงไว้ว่า entropy ของระบบที่ย้อนกลับไม่ได้ จะต้องเพิ่มเสมอ)


ตามปกติในความพยายามจะทำให้ระบบมีอุณหภูมิลดลง ๆ นั้น หลักการที่ใช้ในการทำ คือ ต้องถ่ายเทความร้อนออกจากระบบ ด้วยการนำระบบอื่นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่ามาสัมผัส ดังนั้นเมื่อระบบสูญเสียความร้อนไป อุณหภูมิของระบบก็จะลดลง แต่ถ้าเราจะทำให้ระบบมีอุณหภูมิเท่ากับศูนย์สัมบูรณ์ Jonathan Oppenheim จากมหาวิทยาลัย University College of London ได้พิสูจน์ให้เห็นเชิงคณิตศาสตร์ว่า จะต้องใช้เวลานานนิรันดร์ ผลงานนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Nature Communications , doi.org/6374 เมื่อปี 2017

เมื่อการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่ศูนย์องศาสัมบูรณ์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การก้าวไปให้ใกล้ที่สุดก็ได้กลายเป็นเรื่องที่นักฟิสิกส์หลายคนพยายามทำ และได้พบปรากฏการณ์หลายประเภทที่แปลกประหลาดตลอดเส้นทาง ซึ่งล้วนมีประโยชน์ สำหรับสถิติอุณหภูมิต่ำสุดที่มนุษย์ทำได้ ณ วันนี้ คือ 0.000000000038 องศาสัมบูรณ์

มนุษย์เริ่มเข้าใจความรู้สึกร้อน หนาว และอบอุ่น มาตั้งแต่วินาทีแรกที่คลอดจากครรภ์มารดา เพราะอุณหภูมิและความดันในห้องคลอด แตกต่างจากอุณหภูมิและความดันในครรภ์ และความแตกต่างนี้ได้ทำให้ทารกส่งเสียงร้องในทันที ครั้นเมื่อเข้าโรงเรียน เราก็รู้เพิ่มเติมว่า น้ำบริสุทธิแข็งตัวที่อุณหภูมิ 0 °C และเดือดที่อุณหภูมิ 100 °C ส่วนอุณหภูมิต่ำสุดบนโลกที่พบ คือ -89.2 °C ซึ่งได้รับการบันทึกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปี 1983 ณ สถานีสำรวจ Vostok ของรัสเซียในทวีป Antarctica

ด้านนักวิทยาศาสตร์ก็สนใจเรื่องความร้อนมาตั้งแต่สมัยของ Galileo Galilei (1566-1642) Isaac Newton (1643-1727) และ Robert Boyle (1627-1691) โดยได้คิดว่าความร้อนเป็นของไหลชนิดหนึ่ง เรียก caloric และการเคลื่อนที่ของความร้อน จากที่ ๆ มีอุณหภูมิสูง ไปที่ ๆ มีอุณหภูมิต่ำกว่าก็คือการไหลของ caloric Galileo จึงได้เสนอให้สร้างเทอร์โมมิเตอร์ เพื่อวัดระดับความร้อนเป็นอุณหภูมิ โดยอาศัยการขยายตัวของปรอทในหลอดแก้ว จากนั้น Daniel Fahrenheit (1686-1736) ก็ได้ออกแบบเทอร์โมมิเตอร์ ซึ่งกำหนดสเกลให้ 32 °F และ 212 °F เป็นอุณหภูมิของน้ำแข็งและน้ำเดือดตามลำดับ ด้าน Guillaume Amonton (1663-1708) ก็ได้ทดลองให้แก๊สขยายตัว และพบว่าความดันของแก๊สได้ลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 4 ของความดันเดิม


การเขียนกราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความดันกับอุณหภูมิของแก๊ส ได้แสดงให้เห็นว่า ความดันเป็นปฏิภาคโดยตรงกับอุณหภูมิ เขาจึงลากเส้นตรงแสดงความสัมพันธ์นี้ และพบว่า ความดันแก๊สจะมีค่าเท่ากับ 0 เมื่ออุณหภูมิมีค่า -300 °C แต่การทดลองที่ละเอียดและรัดกุม ซึ่งได้กระทำในเวลาต่อมาได้แสดงให้เห็นว่า แก๊สธรรมชาติที่เจือจางทุกชนิดจะมีความดันที่มีค่าเข้าใกล้ 0 เมื่ออุณหภูมิเข้าใกล้ -273.15 °C

การแข่งขันว่าใครจะเดินทางไปถึงอุณหภูมินี้เป็นคนแรกก็ได้เริ่มต้น ในทำนองเดียวกับการแข่งขันกันเป็นผู้พิชิตขั้วโลกได้เป็นคนแรก ในขณะที่การเดินทางไปขั้วโลกมีคนต้องเสียชีวิตหลายคน และที่นั่นไม่มีอะไรเลยนอกจากน้ำแข็ง แต่การเดินทางของนักฟิสิกส์ไปสู่ศูนย์องศาสัมบูรณ์ ไม่มีใครเสียชีวิตและปลอดภัยกว่ามาก อีกทั้งได้พบองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์มากมาย

ทฤษฎีจลน์ของแก๊ส ได้แสดงให้เห็นว่า พลังงานจลน์ของโมเลกุลของแก๊ส คือ พลังงานความร้อนที่มีในแก๊สนั้น และพลังงานนี้ขึ้นกับอุณหภูมิ ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิลดลงความเร็วของโมเลกุลก็จะลดลงด้วย เช่น จากเดิมที่มีความเร็ว 1 เมตร/วินาที ที่อุณหภูมิ 0.001 kelvin และถ้าอุณหภูมิลดลงถึง 0.000000001 kelvin ความเร็วของโมเลกุลก็จะลดลงเหลือ 1 มิลลิเมตร/วินาที ดังนั้นเวลาเราทำให้แก๊สขยายตัว เมื่อความดันแก๊สลดลง ความเร็วของโมเลกุลก็จะลดลงด้วย จนในที่สุดเมื่อแก๊สนั้นมีอุณหภูมิต่ำมาก ๆ แก๊สก็จะกลายเป็นของเหลว


ในปี 1877 Louis – Paul Cailletet ได้ประสบความสำเร็จในการทำให้แก๊สออกซิเจนเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ -183 °C และแก๊สไนโตรเจนเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ -196 °C สำหรับแก๊สไฮโดรเจนนั้น James Dewar ก็สามารถทำให้เป็นของเหลวได้ที่อุณหภูมิ -250 °C (เราใช้ไฮโดรเจนเหลวและออกซิเจนเหลวเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนจรวดไปในอวกาศ) ตกลงก็เหลือแต่แก๊สฮีเลียมที่ยังไม่มีใครสามารถทำให้เป็นของเหลวได้ เพราะอะตอมของฮีเลียมมีอันตรกิริยาต่อกันไม่รุนแรงเลย มันจึงดึงดูดกัน และเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลวได้ยาก จนกระทั่งถึงวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 1908 Kamerlingh Onnes จากมหาวิทยาลัย Leiden ในเนเธอร์แลนด์ ได้ประสบความสำเร็จในการทำให้แก๊สฮีเลียมเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ -268.95 °C หรือ 4.2 kelvin และได้พบว่า ถ้าให้โลหะ เช่น ปรอทบริสุทธิ์มีอุณหภูมิที่ต่ำมากเช่นนี้ สภาพต้านทานไฟฟ้าของปรอทบริสุทธิ์จะลดลงประมาณพันล้านล้านเท่าของสภาพต้านทานที่อุณหภูมิห้องทันที การพบปรากฏการณ์ที่ความต้านทานไฟฟ้าเป็นศูนย์นี้ ก็คือ การพบตัวนำยวดยิ่งชนิดแรกของโลก ผลงานนี้ได้ทำให้ Onnes ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ ประจำปี 1913 เหตุการณ์นี้ได้เปิดโลกวิทยาศาสตร์และโลกเทคโนโลยีใหม่ขึ้นทันที เพราะตั้งแต่นี้เป็นต้นไป นักเทคโนโลยีสามารถสร้างแม่เหล็กที่มีความเข้มของสนามมากกว่าแม่เหล็กธรรมชาติได้เป็นล้านเท่า เพราะในการสร้างสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูง เราจำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟ้าที่มีค่ามากให้ไหลไปในเส้นลวด ซึ่งถ้าเป็นลวดธรรมดา ลวดก็จะร้อนมากจนละลาย และการสร้างสนามแม่เหล็กก็ไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราใช้ลวดที่ทำด้วยตัวนำยวดยิ่ง ไม่ว่าจะปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงเพียงใด (ลวดก็จะไม่ร้อนเลย เพราะลวดมีความต้านทานไฟฟ้าเป็นศูนย์) ดังนั้นการไหลของกระแสไฟฟ้าในปริมาณมาก ก็จะทำให้ได้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูง และนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงนี้ในเครื่องเร่งอนุภาค LHC ที่ CERN จนได้พบอนุภาคใหม่ๆ ชนิดต่าง ๆ มากมาย และใช้ในเตาปฏิกรณ์ tokamak เพื่อให้กำเนิดปฏิกิริยา fusion ในโครงการ International Thermonuclear Experimental Reactor (ITER) ที่เมือง Cadarache ในฝรั่งเศส รวมถึงใช้ในอุปกรณ์ MRI เพื่อตรวจหามะเร็งในร่างกายคนด้วย


อุปสรรคที่โลกเทคโนโลยีต้องเผชิญเวลานำตัวนำยวดยิ่งมาใช้ คือ การต้องทำให้ระบบมีอุณหภูมิต่ำมาก เช่น ต่ำถึงระดับ -250 °C จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นนักฟิสิกส์จึงได้พยายามค้นหาสารที่เป็นตัวนำยวดยิ่งที่อุณหภูมิห้อง คือ +30 °C แต่นับถึงวันนี้ก็ยังไม่พบ สถิติอุณหภูมิสูงสุดเป็นของ Mercury Barium Thallium Copper Oxide (Hg0.2 Tl0.8 Ba2 Ca2 Cu3 O) ที่อุณหภูมิ 139 kelvin หรือ
-134 °C

ในปี 2020 E. Snider กับคณะจากมหาวิทยาลัย Rochester ในสหรัฐอเมริกา ได้อ้างในวารสาร Nature ฉบับที่ 586 หน้า 373-377 ว่า ได้พบปรากฏการณ์สภาพนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูงในสารประกอบ carbonaceous sulfur hydride ที่อุณหภูมิ +15 °C ภายใต้ความดัน 267 GPa หรือ 267x(10^9) pascals คือที่ความดันมากถึง 75% ของความดันที่จุดศูนย์กลางโลก ดังนั้น แม้อุณหภูมิของตัวนำยวดยิ่งชนิดนี้จะโอเคแล้ว แต่ความดันที่มากมหาศาลนั้น ได้ทำให้เราไม่สามารถนำมันไปประยุกต์ได้

แต่เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่เพิ่งผ่านมานี้ คณะวิจัยทีมนี้ก็ได้ประกาศถอน (retract) ผลงานดังกล่าว เพราะได้พบว่า การทดลองมีความผิดพลาด


ดังนั้น การค้นหาตัวนำยวดยิ่งที่อุณหภูมิห้องจึงยังดำเนินต่อไป ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครรู้ว่า สสารที่ทุกคนต้องการนั้น มีในธรรมชาติหรือไม่ ไม่เพียงแต่การทดลองเท่านั้นที่ยังไม่บรรลุความฝันอันสูงสุด แม้แต่ทฤษฎีของสภาพนำยิ่งยวดอุณหภูมิสูง ก็ยังไม่มีเช่นกัน แม้วันเวลาจะผ่านไปนานร่วม 36 ปีแล้วก็ตาม คือ ตั้งแต่ปี 1986 ที่ได้มีการพบสภาพนำยวดยิ่งในสาร ceramics ชนิด La2CuO4 โดย G. Bednorz และ A. Müller ที่อุณหภูมิ 30 kelvin ซึ่งได้ทำให้คนทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ ประจำปี 1987 แต่โลกของตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูงก็ยังเป็นโลกแห่งความลึกลับอยู่ เพราะมีผลการทดลองมากมายที่ยังไร้คำอธิบายอย่างครอบคลุมทุกสถานการณ์ว่า เหตุการณ์ที่เห็นและผลการทดลองที่ได้นั้น เกิดจากสาเหตุอะไร
หลังจากที่ Onnes ได้ประสบความสำเร็จในการทำแก๊สฮีเลียมให้เป็นของเหลวได้แล้ว ในเวลาต่อมาเขาได้สังเกตเห็นไอฮีเลียมระเหยขึ้นเหนือผิวฮีเลียมเหลวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กลุ่มอะตอมฮีเลียมที่มีความเร็วสูง ได้กระเด็นหลุดออกจากของเหลวฮีเลียมไปในอากาศ และได้นำพลังงานความร้อนส่วนหนึ่งไปด้วย จึงมีผลทำให้ฮีเลียมเหลวที่เหลือมีอุณหภูมิลดลง ๆ และในเวลาต่อมา Onnes ก็ได้เห็นฟองฮีเลียมมากมาย เกิดขึ้นในของเหลวนั้น ซึ่งแสดงว่าฮีเลียมเหลวกำลังเดือด จนกระทั่งอุณหภูมิได้ลดตามถึง 2.17 kelvin การเดือดก็หยุด แล้วของเหลวก็อยู่ในสภาพนิ่งจนดูผิดปกติ


ไม่มีใครเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จนกระทั่งปี 1972 Peter Kapitza (1894-1984) นักฟิสิกส์ชาวรัสเซีย ก็ได้พบว่า ฮีเลียมเหลวได้กลายสภาพเป็นของเหลวยวดยิ่ง ที่สามารถไหลผ่านหลอดรูเล็ก (capillary tube) ได้อย่างไร้แรงหนืดใด ๆ มาต้านทาน และเวลานำของไหลยวดยิ่งใส่ในบีกเกอร์ (beaker) ฮีเลียมเหลวจะไหลขึ้นตามผนังของบีกเกอร์ด้วยตัวเอง ในลักษณะเป็นแผ่นของเหลวบาง ๆ แล้วไหลออกนอกบีกเกอร์ได้


ผลการค้นพบปรากฏการณ์ของเหลวยวดยิ่งใน helium-4 นี้ ได้ทำให้ Kapitza ได้รับ รางวัลโนเบลฟิสิกส์ ปี 1978 (การที่เป็น helium-4 เพราะนิวเคลียสของธาตุนี้ มีโปรตอน 2 อนุภาค และนิวตรอน 2 อนุภาค) ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้เป็นสารหล่อเย็น เพื่อทำให้สารอื่นๆ มีอุณหภูมิต่ำ จนเป็นตัวนำยวดยิ่ง ดังนั้น helium-4 จึงมีประโยชฯในการทำวิจัยฟิสิกส์บริสุทธิ์ และใช้ในการศึกษาปฏิกิริยาเคมีของระบบขณะมีอุณหภูมิต่ำมาก รวมถึงใช้ศึกษาการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ที่เย็นจัดด้วย


David Lee, Robert Richardson และ Douglas Osheroff ผู้พบว่า helium-3 เป็นของเหลวยวดยิ่งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0.003 kelvin helium ตามปกติมี 2 ไอโซโทป คือ helium-4 และ helium-3 ซึ่งในกรณี helium-3 นี้ นิวเคลียสมีโปรตอน 2 อนุภาค และนิวตรอน 1 อนุภาค ในปี 1972 David Lee, Douglas Osheroff และ Robert Richardson จากมหาวิทยาลัย Cornell ได้พบว่า helium-3 ซึ่งมีในปริมาณ 0.000137% ของ helium ทั้งหมด ได้กลายเป็นของเหลวยวดยิ่งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0.002491 kelvin โดยได้แบ่งออกเป็น 3 เฟส คือ เฟส A, เฟส B และของเหลวเฟอร์มิ (Fermi liquid) ที่อุณหภูมิ 0.0025 kelvin, 0.0021 kelvin และ 0.0018 kelvin นอกจากนี้ก็ยังได้พบว่า helium-3 เดือดที่อุณหภูมิ 3.2 kelvin อีกทั้งมีความหนาแน่นน้อยกว่า helium-4 ประมาณครึ่งหนึ่ง และมีประโยชน์ คือ ใช้ตรวจจับอนุภาคนิวตรอน และใช้ในห้องทดลอง เพื่อทำให้มีอุณหภูมิ 0.2-0.3 kelvin ในขณะที่ helium-4 เป็นอนุภาค boson เพราะนิวเคลียสมีอนุภาคที่มี spin ½ เป็นจำนวนคู่ (คือ 4) helium-3 กลับเป็นอนุภาค fermion เพราะนิวเคลียสมีอนุภาคที่มี spin ½ เป็นจำนวนคี่ (คือ 3) ของเหลว helium-3 จึงได้ชื่อว่าเป็นของเหลว Fermi ผลการค้นพบนี้ทำให้คนทั้งสามได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ ปี 1996 ในเวลาต่อมา Tony Legett ก็ประสบความสำเร็จในการอธิบายสมบัติเชิงแม่เหล็ก และสมบัติเชิงกายภาพอื่น ๆ ของ helium-3 ได้ จนทำให้ได้รับครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ ปี 2003

การศึกษาทฤษฎีของ helium ทั้ง helium-3 และ helium-4 ยังแสดงให้เห็นว่า แม้อุณหภูมิจะลดต่ำถึงศูนย์องศาสัมบูรณ์ก็ตาม helium ก็ยังคงสภาพเป็นของเหลว โดยจะไม่มีวันเปลี่ยนเป็นของแข็งได้

อ่านตอนต่อไปเกี่ยวกับ Cold molecules : Progress in quantum engineering of chemistry and quantum matter


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น