xs
xsm
sm
md
lg

"ค้างคาว" จากสัตว์ปีศาจ ถึงสัตว์ประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในอดีตเมื่อ 500 ปีก่อน เวลานักท่องเที่ยวชาวยุโรปเดินทางไปเยือน แคว้น Transylvania ในประเทศ Romania เมื่อกลับถึงบ้านเกิด พวกเขามักจะมีเรื่องเล่าให้คนที่ไม่เคยไปทัศนาจรได้ฟังว่า หมู่บ้านแถบนั้นมีผีดิบที่ชอบออกล่าเหยื่อในเวลากลางคืน โดยใช้เขี้ยวที่แหลมคมขย้ำที่คอเหยื่อจนเป็นแผล แล้วดื่มเลือดสด ๆ จากนั้นผีดิบก็จะแปลงตัวเป็นค้างคาวบินหายลับไปในความมืด ครั้นเมื่อเหยื่อสิ้นชีวิต ในที่สุดเหยื่อก็จะกลายเป็นสาวกในคาถาของผีดิบตนนั้น เรื่องราวทำนองนี้ได้ทำให้ผีดิบเป็นสิ่งที่ทุกคนขยาด นอกจากผีดิบจะมีพฤติกรรมที่น่ากลัวมากแล้ว สารรูปของมันก็น่าเกลียดมากด้วย เพราะมีใบหน้าซูบผอมเหลือแต่หนังหุ้มกะโหลก เนื้อตัวเป็นสีเหลืองซีด มีฟันแหลมคม ริมฝีปากเป็นสีแดงเสมือนมีคราบเลือดติด ตาลุกวาวเป็นประกายไฟ เล็บมือยาว อุ้งมือทั้งสองข้างมีขนขึ้นเต็ม ขนคิ้วขึ้นดกจนติดกันเป็นคิ้วเดียว ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ผีดิบจึงเปรียบเสมือนซากศพที่เดินได้ และผีดิบนี้มีชื่อเรียกว่า Wampyr หรือ Vurculac

สำหรับประเด็นเรื่องวิธีจะต่อสู้เพื่อกำจัดผีดิบนั้น ชาวบ้านได้แนะนำให้ทุกคนในหมู่บ้านมีไม้กางเขนติดตัว เพราะผีดิบกลัวไม้กางเขน และต้องพยายามไม่สบตามัน เพราะสบตาเมื่อใดก็จะถูกผีดิบสะกดจิตทันที และทุกคนจะต้องไม่ยินยอมให้มันดูดเลือด เพราะจะได้ไม่ตกเป็นทาสของมัน ส่วนสตรีมีครรภ์ก็ต้องไม่ให้ผีดิบเห็นครรภ์ เพราะถ้าเห็น ทารกที่คลอดออกมาก็จะเป็นผีดิบน้อย สำหรับวันที่เหมาะสมที่สุดในการกำจัดผีดิบ คือ วันเสาร์ เพราะเป็นวันที่ผีดิบจะไม่ออกไปล่าเหยื่อ คือ จะนอนอยู่ในโลง และเมื่อถึงเวลาจะกำจัดมัน ก็ให้ตอกท่อนไม้ที่มีปลายแหลมให้แทงทะลุหัวใจของผีดิบ หรือไม่ก็เปิดฝาโลงให้แสงอาทิตย์สาดส่องเข้าไปตกกระทบซากของมัน แล้วซากก็จะสลายตัวกลายเป็นกองเถ้า


ในการค้นหาแหล่งที่ซ่อนของผีดิบนั้น ชาวบ้านเชื่อว่าก็สามารถค้นหาได้ ถ้าใช้เด็กหนุ่มพรหมจารีขี่ม้าตัวเมียที่เป็นม้าพรหมจารีเช่นกัน ให้ย่างเดินเข้าไปในสุสาน เมื่อม้าหยุดเดิน ณ ตำแหน่งใดในสุสาน สถานที่ตรงนั้นก็จะเป็นที่อยู่ของผีดิบ

ชาวบ้านยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ได้เห็นชายคนหนึ่งชื่อ Arnold Paole ซึ่งได้ประสบอุบัติเหตุตกเกวียนคอหักตาย และหลังจากที่ได้ทำพิธีฝังศพแล้ว ก็ยังมีคนเห็น Paole เดินไปแวะเยี่ยมเพื่อนบ้านในเวลากลางคืน และเมื่อถึงเวลาเช้าของวันต่อมา ก็ปรากฏว่ามีคนตายในบ้านหลังนั้น เหตุการณ์นี้ได้ชักนำให้ชาวบ้านขุดศพของ Paole ขึ้นมา และได้เห็นศพอยู่ในสภาพอิ่มเอิบ จึงจุดไฟเผา หลังจากนั้นทุกคนในหมู่บ้านก็ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์แนวนี้ ได้ชักนำให้นักประพันธ์ชาวอังกฤษชื่อ Bram Stoker เขียนนวนิยายเรื่อง “Dracula” ในปี 1897 ซึ่งมีเนื้อหาว่า Count Dracula เป็นขุนนางที่อาศัยอยู่ในปราสาทร้างบนยอดเขาสูงที่มีหมอกปกคลุมตลอดเวลา และท่าน Count ชอบออกหาเหยื่อในเวลากลางคืน โดยได้แปลงกายเป็นค้างคาว เพื่อไปดูดเลือดของสตรี นวนิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมมาก จนถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่เนื้อหามีหลากหลายอรรถรส เช่น ไสยศาสตร์ การปลอมแปลงตัว ความลึกลับ และการทารุณเหยื่อ เป็นต้น


ความนิยมชมชอบในนวนิยายเรื่องนี้ ตลอดระยะเวลาร่วม 85 ปีที่ผ่านไป ได้ชักนำให้นักประวัติวรรณกรรมชื่อ Paul Dukes ต้องการจะรู้ที่มาของเรื่องบันดาลใจซึ่งได้ชักนำให้ Stoker เรียบเรียงเรื่อง “Dracula” และได้รายงานผลเมื่อปี 1982 ว่า ท่าน Count Dracula คือ เจ้าชาย Vlad ที่ 3 แห่งแคว้น Transylvania พระองค์ทรงเป็นทรราชผู้โหดร้ายและโหดเหี้ยมเยี่ยงสัตว์ป่า ทรงมีพระราชบิดา คือ พระเจ้า Dracul (ที่แปลว่าปีศาจ) ดังนั้นพระราชบุตรจึงมีพระนามว่า Dracula (ปีศาจน้อย) หลังจากที่พระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้ว Dracula ก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทน และทรงสร้างทุรกรรมไว้มากมาย จนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นตำนาน ให้ผู้คนได้เล่าขานกันมาตราบจนวันนี้ เช่น เวลาทรงกริ้วใคร ก็จะให้ทหารเอาไม้แหลมเสียบแทงทางทวารของคนนั้นอย่างช้า ๆ โดยไม่ให้ตายในทันที จากนั้นก็นำศพไปปักประจานนอกกำแพงเมือง และให้ตัดแขนหรือขาของนักโทษ หรือให้นำคนทรยศไปเผาทั้งเป็น ในขณะที่เหยื่อกำลังดิ้นพล่านด้วยความเจ็บปวด Dracula จะทรงเสวยพระกระยาหารอย่างสำราญพระทัย หรือเวลาทูตต่างชาติเดินทางมาทูลเกล้าถวายบังคม แล้วลืมถอดหมวก พระองค์ก็จะทรงให้ทหารนำตะปูมาตอกที่หมวกให้ทะลุติดกะโหลก เป็นการลงโทษ เป็นต้น


ในที่สุดเมื่อถึงปี 1462 สุลต่าน Mohammed ที่ 2 แห่งอาณาจักรตุรกี ได้ทรงยกทัพบุกแคว้น Transylvania เมื่อจับท่าน Count Dracula ได้ พระองค์ก็ทรงโปรดให้สำเร็จโทษ


สำหรับประเด็นการดื่มเลือดสดๆ ของคนนั้น Paul Dukes สันนิษฐานว่า Bram Stoker คงรู้ว่า ในยุคกลาง บรรดากษัตริย์ในยุโรปตะวันออกมีประเพณีนิยมรูปแบบหนึ่ง คือ โปรดการอภิเษกสมรสระหว่างพระประยูรญาติ เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ ซึ่งมีผลทำให้เกิดความผิดปกติใน gene ของทายาท จนหลายคนได้ล้มป่วยเป็นโรค Erythropoietic protoporphyria ซึ่งทำให้ร่างกายผลิตโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดง (porphyrin) ไม่ทัน ผิวหนังจึงแตกและมีเลือดไหล แพทย์จึงต้องให้คนป่วยดื่มเลือดสด ๆ เข้าร่างกายเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไป และ Bram Stoker ก็คงรู้เช่นกันว่า โลกมีค้างคาวดูดเลือด (vampire bat) ที่ชอบดูดเลือดวัว ควาย ม้า ยิ่งกว่าเลือดคน ซึ่งการเขียนนวนิยายให้ผีดิบกับค้างคาวมีความเชื่อมโยงกันเช่นนี้ เป็นการกล่าวหาค้างคาวทุกชนิดในโลกและทุกสายพันธุ์ว่าเป็นสัตว์ปีศาจ แต่ในความเป็นจริงค้างคาวส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่ไม่ดุร้าย แต่กลับทำคุณประโยชน์ให้มนุษย์เสียอีก จะมีก็แต่ค้างคาวแวมไพร์ที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ (เช่นที่ Trinidad และ Venezuela) ซึ่งมีรายงานว่าได้กัดชาวบ้านจนล้มป่วย ทำให้มีไข้สูง ปวดศีรษะ ตัวร้อน จนในที่สุดก็ขยับแขนขาไม่ได้ คือ เป็นอัมพฤกษ์ ครั้นพยายามจะกินและกลืนอาหารก็ทำไม่ได้อีก เพราะร่างกายมีอาการเหมือนป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จนในที่สุดคนๆ นั้นก็ตาย


การเป็นสัตว์ปีกที่ชอบออกหาอาหารในเวลากลางคืน และการที่สังคมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นลบมากมาย ได้ทำให้ค้างคาวเป็นสัตว์ลึกลับที่ไม่มีใครสนใจมาก จนกระทั่งปี 1793 โลกก็มีบุคคลคนแรกที่ได้ศึกษาธรรมชาติของค้างคาวอย่างจริงจัง เขาคือ Lazzaro Spallanzani แห่งเมือง Reggio nell Emilia ในประเทศอิตาลี ซึ่งได้สังเกตเห็นว่า ขณะที่เขากำลังอ่านหนังสือใต้แสงเทียน แม้เทียนไขจะดับ แต่ค้างคาวที่อยู่ในห้องก็ยังสามารถบินไป-มาในห้องได้ โดยไม่บินชนฝาผนังแต่อย่างใด Spallanzani จึงทดลองจับค้างคาวมาสวมหัวด้วยถุงผ้า และพบว่า สไตล์การบินของค้างคาวมีความขลุกขลักเล็กน้อย คือบินได้ แต่ไม่ดี ความสงสัยในความสามารถด้านการบินของค้างคาวจึงมีว่า ค้างคาวสามารถเห็นในที่มืดได้อย่างไร เพราะถ้ามันไม่ใช้ตาดูเส้นทางการบิน แล้วมันใช้อวัยวะใดในการดู Spallanzani จึงควักลูกตาทั้งสองข้างของค้างคาวออก (ในสมัยนั้น ยังไม่มีกฎห้ามทำการทดลองที่ทารุณสัตว์) แต่ค้างคาวก็ยังบินได้ดี

ประจวบกับในเวลานั้น Charles Jurine ซึ่งเป็นเพื่อนชาวสวิสของ Spallanzani ที่เขียนจดหมายติดต่อกันเป็นประจำได้เสนอให้ Spallanzani ทดลองอุดหูทั้งสองข้างของค้างคาวด้วยไขมัน และก็ได้พบว่าค้างคาวที่ถูกอุดหูสามารถบินได้ระยะทางสั้น ๆ แล้วตกลงบนพื้น Spallanzani จึงสรุปว่า ค้างคาวใช้หูของมัน เพื่อช่วยในการบิน

ลุถึงปี 1794 Spallanzani จึงได้ตัดสินใจยกระดับการทดลองของตน โดยใช้ประชากรค้างคาวจำนวนมากขึ้น และได้ปีนขึ้นไปถึงยอดหอคอยของมหาวิหารแห่งเมือง Pavia เพื่อจับค้างคาวมา 52 ตัว แล้วควักลูกตาออก จากนั้นก็ปล่อยให้มันบินหนีไป อีก 4 วันต่อมา เมื่อค้างคาวบินกลับมาที่หอคอย เขาก็ตามจับมันมาได้ 48 ตัว ครั้นเมื่อผ่าท้องของค้างคาวเหล่านี้ออกดู ก็พบว่ามีแมลงอยู่เต็ม นั่นแสดงว่า แม้ค้างคาวจะตาบอด มันก็ยังสามารถหาอาหารได้ และได้ใช้หูในการบินหาอาหาร Spallanzani จึงได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ค้างคาวคนแรกของโลกที่ได้ศึกษา จนพบความสามารถด้านนี้ของค้างคาว นอกจากจะได้พบว่า ค้างคาวใช้หูในการ “ดู” แล้ว Spallanzani ก็ยังได้ทดลองเรื่อง เนื้อค้างคาวสามารถรักษาโรคเก๊าท์ โรคเรื้อน โรคมะเร็งตับ และโรคไขข้ออักเสบได้หรือไม่ด้วย

ความจริงโลกเคยมีนักชีววิทยาที่ได้ศึกษาธรรมชาติของค้างคาวมาก่อน Spallanzani เขาคือ ท่านผู้เฒ่า Pliny (ค.ศ.23-69) ซึ่งเป็นปราชญ์โรมัน ที่คิดว่าค้างคาวเป็นนก เพราะมีปีกสามารถบินได้ และยังมีอายุยืนอีกด้วย แต่ Carl Linnaeus (ค.ศ. 1707-1778) นักชีววิทยาชาวสวีเดน ผู้เป็นบิดาของวิชาอนุกรมวิธาน (taxonomy) ได้เสนอความเห็นในปี 1758 ว่าค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ดังนั้นค้างคาวจึงมีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับหนูยิ่งกว่านก Linnaeus ยังได้พบอีกว่า โลกมีค้างคาวอยู่ 3 สปีชีส์ และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสาร “Systema Naturae” แต่ปัจจุบันเรารู้ว่า ค้างคาวมีกว่า 1,400 สปีชีส์ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดเดียวของโลกที่บินได้


ในปี 1938 นักชีววิทยาชาวอเมริกันชื่อ Donald Griffin กับ G.W. Pierce จาก มหาวิทยาลัย Harvard ในสหรัฐอเมริกา ได้พยายามหาคำตอบว่า ค้างคาว “เห็น” สิ่งต่าง ๆ ในที่มืดสนิทได้อย่างไร และได้พบว่าค้างคาวสามารถปล่อยคลื่นที่มีความถี่ตั้งแต่ 20,000-130,000 hertz ได้ แล้วใช้คลื่นความถี่สูง (ultrasonic) นี้ เป็นเรดาร์ส่วนตัวของมัน โดยส่งคลื่นไปกระทบสิ่งกีดขวาง แล้วรับฟังเสียงสะท้อน ดังนั้นถ้าไม่มีคลื่นสะท้อนกลับ นั่นแสดงว่าเส้นทางการบินของค้างคาวไม่มีอุปสรรคใด ๆ แต่ถ้ามันได้รับคลื่นสะท้อน ค้างคาวก็จะรู้ทันทีว่า สิ่งที่สะท้อนคลื่นกลับมา เป็นสิ่งมีชีวิตหรือไร้ชีวิต เป็นสัตว์ขนาดใหญ่หรือเล็ก และเป็นสัตว์อะไร อยู่ไกลจากมันเพียงใด เป็นศัตรูหรือเป็นมิตร และถ้าเป็นศัตรู มันก็จะสามารถบินหนีได้ทัน


ค้างคาวได้ใช้เทคนิคนี้มาเป็นเวลานานกว่า 54 ล้านปีแล้ว ในการล่าแมลงเป็นอาหาร ค้างคาวกินปลาก็สามารถเห็นปลาได้ เวลาปลาโผล่ขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำ โดยมันจะได้ยินเสียงน้ำกระเพื่อม ส่วนค้างคาวกินผลไม้ นอกจากจะใช้ดวงตาที่ใหญ่ของมันในการเห็นผลไม้แล้ว มันก็อาจจะใช้หูในการ “ดู” ด้วย

ความจริงกระบวนการใช้เสียงสะท้อนบอกตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ (echolocation) นี้ ไม่เพียงแต่ค้างคาวเท่านั้นที่รู้จักใช้ สัตว์อื่น ๆ เช่น โลมา วาฬ ช้าง และนกบางชนิดก็ใช้เช่นกัน ส่วนมนุษย์นั้นใช้เทคนิค sonar เพื่อสำรวจท้องทะเลลึก จับปลา และสร้างอุปกรณ์นำทางคนตาบอด ซึ่งก็ใช้หลักการ echolocation แบบเดียวกับค้างคาว แต่หลังค้างคาวหลายสิบล้านปี และพบว่าถ้าเพิ่มความถี่ของคลื่น (ลดความยาวคลื่น) ก็จะได้ยินเสียงสะท้อนชัดขึ้น และตามปกติเสียงสะท้อนในอากาศจะได้ยินชัดกว่าเสียงสะท้อนในน้ำ ทั้งนี้เพราะน้ำดูดกลืนพลังงานเสียงได้ดีกว่าอากาศนั่นเอง

โดยทั่วไปหูคนปกติมักจะได้ยินเสียง เวลามีคลื่นเสียงมาตกกระทบแก้วหู ความดันเสียงจะทำให้เยื่อแก้วหู (eardrum) เลื่อนตัวไปเป็นระยะทางประมาณ 1 นาโนเมตร สำหรับคนหูดี แม้จะเป็นคนหูไวสักปานใดก็ยังนับว่าช้ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับความไวของหูช้างหรือหูค้างคาว เพราะเราจะไม่ได้ยินเสียงที่สัตว์เหล่านี้คุยกันเลย จนอาจจะทำให้มันคิดไปว่า มนุษย์ทุกคนเป็นคนหูหนวกก็เป็นได้ ตามปกติหูคนจะได้ยินเสียงที่มีความถี่ตั้งแต่ 20-20,000 hertz และสุนัขจะได้ยินเสียงที่มีความถี่สูงขึ้นไปคือตั้งแต่ 20,000-130,000 hertz ด้านโลมาก็สามารถได้ยินเสียงที่มีความถี่ตั้งแต่ 20-150,000 hertz จึงนับว่ามีความสามารถดีกว่าหูคนถึง 7 เท่า


นอกจากค้างคาวจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดเดียวเท่านั้นที่บินได้แล้ว ค้างคาวยังเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่บริโภคเลือดเป็นอาหารด้วย โดยเฉพาะค้างคาว vampire (Desmodus rotundus) ซึ่งชอบกินเลือดของสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น วัว หมู กวาง ม้า ฯลฯ และเวลาดูดเลือด มันจะใช้ฟันขูดเนื้อเยื่อที่ผิวของเหยื่อตรงที่ไม่มีขนปกคลุมจนเป็นแผล แล้วใช้ประสาทรับรู้ (sensor) ซึ่งอยู่ที่ริมฝีปากด้านบนของมันรับรังสี infrared ที่เลือดเปล่งออกมา ซึ่งจะบอกให้รู้ว่าเส้นเลือดอยู่ ณ ที่ใดในตัวเหยื่อ ดังนั้นเมื่อรู้ตำแหน่งของเส้นเลือดแล้ว มันก็จะฝังเขี้ยวลงไป แล้วปล่อยน้ำลายออกมาในเวลาเดียว ขณะที่มันดูดเลือดไป ๆ สารประกอบที่มีในน้ำลายของมันจะทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้เลือดแข็งตัว (anticoagulant) และแพทย์ได้ใช้ความรู้นี้ในการสร้างยารักษาอาการ stroke ของคน และหลังจากที่ได้ดูดเลือดไปประมาณ 25 มิลลิลิตรแล้ว ค้างคาวก็จะอิ่ม และจะบินต่อไปไม่ไหว จึงต้องนอนพัก จนกระทั่งเลือดบางส่วนถูกย่อยไป มันจึงบินต่อไปได้อีก

ในการบินหาเหยื่อ ค้างคาวใช้ทั้งหูดู ใช้จมูกดมกลิ่น ใช้สายตาในการเห็น และใช้ระบบประสาทที่ริมฝีปากรับรังสี infrared สัตว์อื่น ๆ เช่น งูเหลือมก็สามารถรับรังสี infrared ที่เปล่งออกมาจากเหยื่อที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียสได้ แม้เหยื่อนั้นจะอยู่ห่างจากมันถึง 20 เซนติเมตรก็ตาม

ในขณะที่เทคนิค echolocation และ infrared sensor ได้ช่วยให้ค้างคาว วาฬ ฯลฯ สามารถติดตามและไล่ล่าหาเหยื่อได้ เหล่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อก็ได้พัฒนาตัวมัน เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องตกเป็นอาหารของสัตว์เหล่านี้ โดยเฉพาะแมลง ด้วง ผีเสื้อราตรี ที่มีปีก ซึ่งจะสั่นสะเทือนมากเวลาได้รับคลื่น ultrasonic จากค้างคาว ทันทีที่ปีกสั่นมาก สัตว์ที่กำลังจะตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ก็จะรู้ตัว และรีบบินหนีไปจากทิศที่มันได้รับคลื่น ทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างจากค้างคาวเป็นระยะทางถึง 40 เมตร มันก็สามารถบินหนีเอาตัวรอดได้ หรือถ้าสัญญาณคลื่นที่มันได้รับมีความแรงขึ้น ๆ ตลอดเวลา นั่นแสดงว่าค้างคาวกำลังบินใกล้เข้ามา ๆ แมลงก็จะหุบปีกลงทันที เป็นการทิ้งตัวลงพื้น หรือไม่มันก็จะบินวนขึ้นในแนวดิ่ง หรือกระพือปีกอย่างไม่เป็นจังหวะ เพื่อกลบเกลื่อนเอกลักษณ์ของตัวมัน ไม่ให้ค้างคาวรู้ว่ามันเป็นแมลงชนิดอะไร บางแมลงก็ใช้วิธีส่งคลื่นกลับออกมารบกวนคลื่น ultrasonic ของค้างคาว เพื่อเตือนค้างคาวให้รู้ว่าเนื้อของมันเป็นพิษ

ความสามารถของค้างคาวในการฆ่าแมลงที่เป็นศัตรูของพืชได้หลายชนิด ได้ทำให้ชาวไร่อ้อย ถั่ว ข้าวโพด องุ่น ฯลฯ ในรัฐ Texas, Georgia, Hawaii, California รักค้างคาวมาก จนบางคนได้สร้างบ้านในค้างคาวอาศัยอยู่ในไร่ของตน เพื่อให้ค้างคาวกินแมลงที่จะมาทำลายต้นพืชที่ชาวไร่ปลูก

แต่ในสถานที่อื่น เช่นที่ Mexico ชาว Mexican กลับไม่ชอบค้างคาว เพราะคิดว่าค้างคาวนำโรคมาให้ จึงวางระเบิดถ้ำที่ค้างคาวอาศัย แต่เมื่อได้รู้ว่ามีค้างคาวบางชนิดชอบกินน้ำหวานจากดอก agave และการกระทำเช่นนี้ได้ช่วยผสมเกษรของดอกให้ชาว Mexican ได้นำผลไปทำเหล้า tequila ซึ่งเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ ค้างคาวก็ได้รับการพิทักษ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ความน่าสนใจในตัวค้างคาวได้บังเกิดอีกเมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อนักวิจัยได้พบว่า ค้างคาวเป็นพาหะนำไวรัสโรคหลายชนิด เช่น Ebola, SARS, MERS และ COVID-19 ฯลฯ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ เพราะถ้าใครเป็นโรคนี้ การระบาดของโรคก็จะตามมาอย่างกว้างขวาง ความน่าอัศจรรย์ของค้างคาว คือ ทั้ง ๆ ที่มันมีไวรัสมัจจุราชหลายชนิดในตัว แต่มันกลับไม่เป็นอะไรเลย และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานตั้งแต่ 3-10 เท่าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน เช่น ค้างคาว Bandt ที่มีอายุนานถึง 41 ปี

ในอดีตนักชีววิทยาเคยคิดว่า การที่เป็นเช่นนี้ เพราะค้างคาวชอบจำศีล ชอบอาศัยอยู่ในที่ ๆ ไม่มีศัตรูมาคุกคาม และทั้ง ๆ ที่สถานที่นั้นมีอุณหภูมิต่ำ จนไวรัสแพร่พันธุ์ยาก มาบัดนี้ นักชีววิทยากำลังมุ่งศึกษาค้างคาว เพื่อหาเคล็ดลับที่จะทำให้คนสามารถมีไวรัสได้ แต่ไม่ป่วยเป็นโรค และมีอายุยืน


นักชีววิทยา James Wood จากมหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษ ได้พบว่า 60-80% ของค้างคาวกินผลไม้ที่มีอายุมากกว่า 10 ปี จะมี antibody ในตัวที่สามารถสู้ lyssavirus ได้ ซึ่งไวรัสชนิดนี้ทำให้คนเป็นโรคกลัวน้ำ ด้าน Kate Baker จาก Sanger Institute ที่มหาวิทยาลัย Cambridge ก็ได้พบว่า ค้างคาวที่มีเชื้อ Ebola ในตัว สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 1 ปี โดยไม่เป็นอะไร ในขณะที่คนแอฟริกันนับหมื่นคนต้องล้มป่วย ทันทีเมื่อได้รับไวรัส Ebola

ตามปกติเวลาเราฉีดเชื้อไวรัสให้แก่สัตว์ สัตว์ตัวนั้นจะล้มป่วย แต่ค้างคาวกลับไม่เป็นอะไร คือ ไม่มีแม้แต่อาการไข้ และ Linfa Wang จาก National University of Singapore ก็ได้เปรียบเทียบ genome ของค้างคาวกินผลไม้กับค้างคาวกินแมลง และพบว่า gene ของมันมีประสิทธิภาพในการต่อต้านการทำลาย DNA ดังนั้นมันจึงมีภูมิคุ้มกันในการรักษาอาการอักเสบ และการที่มันเป็นเช่นนี้ได้ คงเป็นเพราะหัวใจของค้างคาวสามารถเต้นได้เร็วกว่า 1,000 ครั้ง/นาที ดังนั้นเวลามันบิน อัตราการเผาผลาญพลังงานในตัวมันจะเพิ่มขึ้นถึง 34 เท่า mitochondria ในเซลล์ของมันจึงน่าจะมีการวิวัฒนาการ เพื่อให้สามารถบินได้ไกล และทำให้มันสามารถสยบพิษของไวรัสได้

ข้อมูลนี้ได้ใช้แนะให้นักวิจัยศึกษา gene ของค้างคาว เพื่อให้รู้เหตุผลว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้มันมีอายุยืน และอะไรที่ทำให้มันสามารถอยู่ร่วมกับไวรัส Ebola, SARS, MERS และ COVID-19 ฯลฯ ได้ โดยไม่ป่วยเป็นโรคใดๆ

ดังนั้นแทนที่เราจะกลัวค้างคาว เราจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะมันมิใช้สัตว์ปีศาจอีกต่อไป แต่เป็นสัตว์ประโยชน์ เพราะช่วยฆ่าแมลงที่มาทำลายพืช และช่วยให้มนุษย์รู้วิธีที่จะสามารถอยู่ร่วมกับโรคร้ายต่าง ๆ โดยไม่ล้มป่วยเลยได้

อ่านเพิ่มเติมจาก
“Thinking with Animals: New Perspectives on Anthropomorphism” โดย Lorraine Daston, Gregg Mitman (Editor) จัดพิมพ์โดย Columbia University Press; New Ed edition (October 3, 2006)


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น