สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผยภาพถ่ายของ "เนบิวลาทารันทูลา" สุดคมชัดเหนือจินตนาการ ภาพถ่ายใหม่จาก กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) เปิดเผยให้เห็นมุมมองที่น่าตื่นเต้นและไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนของพื้นที่ก่อกำเนิดดาวฤกษ์ที่มีชื่อว่า “เนบิวลาทารันทูลา” (Tarantula Nebula)
ภาพนี้เป็นภาพที่ได้จากอุปกรณ์เก็บข้อมูลความละเอียดสูงต่างๆ ที่สังเกตการณ์ในย่านรังสีอินฟราเรด แสดงให้เห็นดาวฤกษ์อายุน้อยนับหมื่นดวงที่ไม่เคยถ่ายได้มาก่อนในเนบิวลาทารันทูลา (หรือในชื่อเดิม “30 Doradus” ตามชื่อกลุ่มดาวปลากระโทงแทง (Dorado)) ซึ่งเป็นกลุ่มฝุ่นและแก๊สขนาดใหญ่ในอวกาศ และเป็นแหล่งก่อกำเนิดของดาวฤกษ์จำนวนมาก
ในภาพความละเอียดสูงนี้ แสดงให้เห็นหย่อมพื้นที่ในเนบิวลาทารันทูลา ที่ดูคล้ายพื้นที่หลบซ่อนฝังตัวของแมงมุมทารันทูลา ขณะที่กลุ่มฝุ่นแก๊สในเนบิวลาดูคล้ายเส้นไหมพลิ้วไหว และยังสามารถบันทึกภาพกาแล็กซีที่อยู่เบื้องหลังห่างไกลออกไปได้อีกด้วย
เนบิวลาทารันทูลาเป็นแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์ที่อยู่ในกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud) ซึ่งเป็นกาแล็กซีบริวารของทางช้างเผือก อยู่ห่างจากโลกประมาณ 161,000 ปีแสง บริเวณกลางของเนบิวลานี้มีกระจุกดาวเกิดใหม่มีมวลรวมประมาณ 5 แสนเท่าของมวลดวงอาทิตย์ และปล่อยพลังงานออกมามหาศาล
นักดาราศาสตร์สนใจเนบิวลาแห่งนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีองค์ประกอบทางเคมีที่ใกล้เคียงกับองค์ประกอบของเอกภพ ในยุคที่เอกภพมีอายุเพียงไม่กี่พันล้านปี (ปัจจุบันเอกภพมีอายุประมาณ 13,800 ล้านปี) ดังนั้น การศึกษาการก่อตัวของดาวฤกษ์ในเนบิวลาแห่งนี้จะช่วยทำความเข้าใจถึงสภาพในอดีตของเอกภพและการก่อตัวของดาวฤกษ์ในยุคแรกเริ่มด้วย
ภาพนี้เป็นภาพถ่ายล่าสุดที่เผยแพร่จาก JWST สู่สาธารณชน หลังจากที่ปล่อย JWST ขึ้นสู่อวกาศในวันคริสต์มาสปีที่แล้ว (2021) และส่งภาพถ่ายชุดแรกกลับมาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ และในชุดภาพถ่ายล่าสุดนี้ ยังมีภาพอื่นร่วมกับเนบิวลาทารันทูลาด้วย อย่างภาพถ่าย “วงแหวนไอน์สไตน์” (Einstein ring) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ความโน้มถ่วงกาแล็กซีด้านหน้าบิดทางเดินของแสงจากกาแล็กซีที่อยู่ด้านหลัง ทำให้ภาพกาแล็กซีด้านหลังปรากฏเป็นรูปวงแหวน
"เนบิวลาทารันทูลา"(Tarantula Nebula) หรือ NGC 2070 หรือ 30 Doradus เป็นเนบิวลาเปล่งแสงในเมฆแมกเจลแลนด์ใหญ่ (Large Magellanic Cloud) ซึ่งเป็นกาแล็กซีบริวารรอบกาแล็กซีทางช้างเผือก ห่างจากโลกประมาณ 160,000 ปีแสง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,000 ปีแสง มีความสว่างปรากฏเท่ากับ 8 จัดเป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีความสว่างสูงมาก ค้นพบโดย นิโคลาส์ หลุยส์ เดอ ลาซายล์ ระหว่างเดินไปยังแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) ในปี พ.ศ.2294-2296
รูปร่างคล้ายแมงมุมของเนบิวลานี้ทำให้มันถูกเรียกกันว่า เนบิวลาทารันทูลา บริเวณใจกลางของเนบิวลานี้ มีกระจุกดาวเกิดใหม่มวลรวมประมาณ 5 แสนเท่าของมวลดวงอาทิตย์ และปล่อยพลังงานออกมามหาศาล หากเรานำมันมาวางไว้ที่ตำแหน่งของเนบิวลานายพราน (ห่างจากโลกประมาณ 1,500 ปีแสง) เนบิวลานี้จะมีขนาดบนท้องฟ้าถึง 30 องศา
ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT