ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ (MPAD) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมมือ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ หารือความร่วมมือ ทดสอบชิ้นส่วนอากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเล
ดร.ดวงพร อุนพานิช ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ (MPAD) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายนารถพล บัวอำไพ ผู้อำนวยการ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณสมบัติวัสดุและวิเคราะห์ความเสียหาย และ ดร.สุเทพ จอยเอกา นักวิชาการ MPAD ร่วมให้การต้อนรับ น.อ.ภาณุพงศ์ ขุมสิน ผอ.กผค. สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ และนายทหารโครงการอากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเล แบบ MARCUS-B กองทัพเรือ พร้อมด้วย นายธนดล ถมยา บริษัท SDT composite จำกัด และคณะนักวิจัยของโครงการฯ ในโอกาสเข้าหารือความร่วมมือในการทดสอบอากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเล แบบ MARCUS-B ที่กองทัพเรือได้ทำการวิจัยและจัดสร้างขึ้น โดยได้นำอากาศยานไร้คนขับที่เป็นผลผลิตของโครงการมาจัดแสดงและทำการส่งมอบชิ้นส่วนของอากาศยานไร้คนขับให้กับห้องปฏิบัติการคุณสมบัติวัสดุและวิเคราะห์ความเสียหาย วว. เพื่อทำการวิเคราะห์/ทดสอบต่อไป ในโอกาสนี้ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ ยังได้หารือความร่วมมือในอนาคตกับห้องปฏิบัติการฯ ของ วว. ด้วย ณ MPAD วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี
ทั้งนี้ วว. โดยโครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและซ่อมอากาศยาน ภายใต้การดำเนินงานของ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณสมบัติวัสดุและวิเคราะห์ความเสียหาย ในฐานะห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองระบบ AS9100D มีศักยภาพในการเป็นหน่วยวิเคราะห์และทดสอบอากาศยานไร้คนขับ เพื่อตอบสนองความต้องการการผลิตชิ้นส่วนและพัฒนาความร่วมมือในการทดสอบอากาศยานไร้คนขับของกองทัพเรือ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์ตามนโยบายของกองทัพเรือ และสร้างความเชื่อมั่นต่อผลงานการวิจัยให้กับผู้ประกอบการไทย
ห้องปฏิบัติการตรวจสอบสมบัติวัสดุและวิเคราะห์ความเสียหาย เป็นห้องปฏิบัติการวิเคราะห์/ทดสอบของภาครัฐ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการระบบคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการบิน อวกาศ และการป้องกันประเทศ (AS9100D) มีความพร้อมและมุ่งมั่นในการผลักดัน ขับเคลื่อน อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ รวมทั้งกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ