xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) นวัตกรรมเปลี่ยนผลิตผลเกษตรที่เหลือใช้เป็น “อาหารสัตว์” ลดต้นทุน 70 % ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ในปัจจุบัน "อาหารสัตว์" มีราคาที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งในขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่ายนั้น ต้นทุนการเลี้ยงที่มากที่สุดคือค่าอาหารสัตว์โดยคิดเป็น 70 % ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์จำหน่ายมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและได้รับผลตอบแทนลดลง ด้วยเหตุนี้ทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จึงได้มี "โครงการวิจัยนวัตกรรมผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำ สำหรับโคเนื้อและกระบือเพื่อการพัฒนาอาชีพ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของคนในชุมชน" เพื่อช่วยต้นทุนในเรื่องอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกร

รศ. ดร.นิราวรรณ กุนัน
รศ. ดร.นิราวรรณ กุนัน อาจารย์ประจำสาขาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า ปัจจุบันอาหารสัตว์มีราคาสูงมาก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทางด้านผลตอบแทนหรือผลกำไร คณะวิจัยซึ่งมาจากหลากหลายสาขาทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีองค์ความรู้ของการผลิตอาหารสัตว์ใช้เอง โดยเน้นนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เช่น เศษเหลือทิ้งทางการเกษตรและผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร มาปรับปรุงคุณภาพให้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีสูตรการผลิตที่ไม่เหมือนกันตามแต่ชนิดของวัตถุดิบของแต่ละชุมชน ในโครงการวิจัย “นวัตกรรมผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำ สำหรับโคเนื้อและกระบือเพื่อการพัฒนาอาชีพ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของคนในชุมชน”


“ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ เป็นค่าอาหารสัตว์ประมาณ 70% และส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสัตว์ที่ไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบราคาแพงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นแหล่งโปรตีน ส่งผลให้ต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นเกษตรกรได้รับผลตอบแทนลดลง”


ทางโครงการวิจัยได้ดำเนินโครงการกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และถ่ายทอดความรู้ในเรื่องนวัตกรรมการผลิตอาหารสัตว์จากผลิตผลเกษตรที่เหลือใช้ และใช้วัตถุดิบเหลือใช้ที่มีอยู่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตอาหารให้กับสัตว์ในชุมชน โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้กากมันสำปะหลังหมักยีสต์ และการผลิตปลายข้าวเทียม เป็นแหล่งอาหารสัตว์ทางเลือกใหม่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ลดต้นทุนการผลิต โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและผลิตผลเกษตรที่เหลือใช้ สร้างความมั่นคงทางอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี


งานวิจัยนี้ได้พัฒนาให้สัตว์ได้รับสารอาหารจากยีสต์ โดยใช้กากมันสำปะหลังหรือเปลือกล้างของมันสำปะหลัง มาผ่านการหมักร่วมกับ น้ำตาลทรายแดง กากน้ำตาล ปุ๋ยยูเรีย ยีสต์ขนมปัง และน้ำ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารเสริม แทนข้าวโพด หรือรำข้าว ในการผลิตเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากกากมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในพื้นที่ เหลือทิ้งจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง และมีราคาที่ถูก ประมาณ 300 - 500 บาท /ตัน สามารถใช้เป็นวัตถุดิบได้ทุกชนิดของอาหารสัตว์ โดยวิธีการการนำมาใช้กับสัตว์ประเภทต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกัน คือ กลุ่มสัตว์ใหญ่ ต้องใช้กากมันที่ผ่านการหมักตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป – 90 วัน และกลุ่มสัตว์ปีกและสุกร จะใช้กากมันที่ผ่านการหมัก ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป – 90 วัน โดยควรใช้กับสัตว์ระยะรุ่น ระยะขุน และระยะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หากเสริมอาหารผสมเข้าไปร้อยละ 30 ก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ได้มาก เมื่อเทียบกับต้นทุนอาหารแบบสำเร็จรูป


ในปัจจุบันทางเกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดการผลิตอาหารสัตว์สามารถผลิตและขายได้ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และมีการต่อยอดไปสู่วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ด้วย ทำให้สามารถกระจายความรู้ในเรื่องการผลิตอาหารสัตว์ที่มีต้นทุนต่ำ ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการนำผลิตผลเกษตรที่เหลือใช้มาทำเป็นอาหารให้แก่สัตว์แทนการทิ้งเป็นขยะที่ไร้ประโยชน์






กำลังโหลดความคิดเห็น