“ดาวเสาร์” นับเป็นดาวเคราะห์อีกหนึ่งดวงที่เหล่านักดูดาวทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างให้ความสนใจในการใช้กล้องโทรทัศน์ส่องชมและบันทึกความสวยงาม เพราะเป็นดาวเคราะห์ในระบบระบบสุริยะจักรวาลที่มีวงแหวนปรากฏเด่นชัด จนได้เป็นดาวเคราะห์ที่ได้ฉายาว่า “ราชาแห่งวงแหวน”
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT จึงได้มีการเผยข้อมูลภาพถ่ายของดาวเสาร์จากฝีมือคนไทยในแต่ละปี ตั้งแต่ ค.ศ. 2016 - 2022 โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าระนาบวงแหวนของดาวเสาร์เอียงทำมุมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทุกปี โดยในปี ค.ศ. 2017 เป็นช่วงที่ดาวเสาร์หันระนาบวงแหวนเอียงทำมุมเข้าหาโลกมากที่สุด และทุกๆ 15 ปี จะเกิดเหตุการณ์ที่ดาวเสาร์หันสันของวงแหวนเข้าหาโลกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลาหนึ่ง หากเราสังเกตดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ดาวเสาร์จะเสมือนไร้วงแหวน ซึ่งดาวเสาร์ไร้แหวนครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นอีกสามปีข้างหน้าในช่วงเดือน ธันวาคม ปี ค.ศ. 2025
นอกจากนี้ หากสังเกตเงาของดาวเสาร์ที่ทอดลงบนวงแหวนในแต่ละภาพ เราจะสามารถบอกได้ว่าดาวเสาร์ในแต่ละภาพถูกถ่ายในช่วงก่อน หลัง หรือขณะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ยกตัวอย่างเช่น
ภาพดาวเสาร์ที่ถ่ายช่วงเดือนเมษายน ปี 2017 เงาของดาวเสาร์จะทอดลงไปทางขวา แสดงว่าเป็นช่วงก่อนที่จะโคจรไปอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์
ภาพดาวเสาร์ที่ถ่ายช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2018 เงาของดาวเสาร์จะทอดลงไปทางซ้าย แสดงว่าเป็นช่วงหลังจากโคจรผ่านตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์แล้ว
และภาพดาวเสาร์ที่ถ่ายมาล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2022 จะเห็นว่าดาวเสาร์ไม่มีเงาปรากฏลงบนวงแหวนเลย เนื่องจากดาวเสาร์โคจรไปอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์พอดีนั่นเอง
ดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนสวยงามดวงนี้ เป็นดาวเคราะห์บริวาลของดวงอาทิตย์ ดวงที่ 6 ถัดจากดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของระบบสุริยะ รองจาก ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์เป็นดาวแก๊สยักษ์ที่มีรัศมีเฉลี่ยมากกว่าโลกประมาณเก้าเท่า ใช้เวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 30 ปี
สิ่งที่ทำให้ดาวเสาร์มีความโดดเด่นกว่าดาวเคราะห์ดวงใดในระบบสุริยะจักรวาลก็คือ “วงแหวน” ที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด โดยวงแหวนของดาวเสาร์นั้น ประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็กจำนวนมาก ที่มีขนาดตั้งแต่ไม่กี่ไมโครเมตรไปจนถึงหลายเมตร กระจุกตัวรวมกันอยู่และโคจรไปรอบๆ ดาวเสาร์ เรียงตัวอยู่ในระนาบเดียวกัน และวงแหวนของดาวเสาร์ก็ประกอบไปด้วย วงแหวนย่อยๆมากมาย ความจริงแล้ววงแหวนดาวเสาร์นั้นบางมาก โดยมีความหนาเฉลี่ยเพียง 500 กิโลเมตรเท่านั้น แต่เศษวัตถุในวงแหวนมีความสามารถในการสะท้อนแสงดี และกว้างกว่า 80,000 กิโลเมตร จึงสามารถสังเกตได้จากโลก
ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT