xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) “เส้นใยผักตบชวา” งานวิจัยเปลี่ยนวัชพืชไร้ค่า สู่ผืนผ้ามูลค่างาม สร้างอาชีพสร้างรายได้ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เมื่อเอ่ยถึง “ผักตบชวา” ใครๆ ก็ต่างนึกถึงวัชพืชที่ดูไร้ค่าล่องลอยตามกระแสน้ำ สร้างปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อมและทัศนียภาพที่ไม่สวยงามให้กับแม่น้ำลำคลอง แต่ด้วยงานวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น” จึงทำให้ผักตบชวาพืชที่ไม่มีประโยชน์ ได้กลายมาเป็นเส้นใย ที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ดร.ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ดร.ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้ร่วมโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น” เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า ทางคณะนักวิจัยได้เล็งเห็น “ผักตบชวา” เป็นวัชพืชที่อยู่ตามคลองและเเม่น้ำ เมื่อทำการเก็บเเล้วก็จะกลายเป็นขยะเหลือทิ้งที่มีอยู่อย่างมากมาย สร้างปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อมและทัศนียภาพไม่สวยงาม จึงได้มีการหากระบวนการที่จะนำวัชพืชชนิดนี้มาสร้างประโยชน์ ด้วยการนำมาผลิตเป็น “เส้นด้ายผักตบชวา” เพื่อนำไปทอเป็นผืนผ้า และต่อยอดด้วยการนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่น จนสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้เสริมให้กับผู้ประกอบการและชุมชนได้ ซึ่งเป็นการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ


จุดเริ่มต้นของ “ผ้าผักตบชวา” มาจากผักตบชวาที่มีอยู่อย่างมากมายภายในคลองรอบๆ มหาวิทยาลัย ทางโครงการได้มีการร่วมมือกับชุมชน ด้วยการรับซื้อลำต้นผักตบชวาต้นโตเต็มที่ ขนาด 30 – 50 เซนติเมตร ในราคากิโลกรัมละ 400 บาท มาเข้าสู่กระบวนการแยกสกัดเส้นใยด้วย “เครื่องแยกสกัดเส้นใยผักตบชวา” ที่ทางโครงการได้พัฒนาเครื่องเพื่อแยกเส้นใยผักตบชวามาโดยเฉพาะ เมื่อได้เส้นใยแล้วก็จะนำมาตากแดดให้แห้ง เพื่อส่งต่อให้กับบริษัทก้องเกียรติเท็กซ์ไทล์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ทางโครงการได้ร่วมมือในการคิดวิเคราะห์ ในการผลิตเส้นด้ายผักตบชวา


“เราค้นพบว่าเมื่อนำผักตบชวามาปั่นเป็นเส้นใยแห้ง จะได้ปริมาณเส้นใยที่สามารถผลิตเป็นเส้นด้ายในปริมาณที่เยอะมาก ซึ่งกระบวนการในขั้นตอนนี้ จะมีการนำเส้นใยผักตบชวาไปผสมกับเส้นใยฝ้ายในอัตราส่วน 40/60 ปั่นมาเป็นเส้นด้ายและผ้าผักตบชวา ที่จะนำไปส่งต่อให้กับผู้ประกอบการในการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ สร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างมาก”


ในปัจจุบัน ได้มีการนำผ้าจากเส้นใยผักตบไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ “นิกรเครื่องหนัง” นายนิกร เอี่ยมสะอาด เจ้าของแบรนด์ เล่าว่า ได้รับคำแนะนำจากทางนักวิจัยให้นำผ้าผักตบชวามาประยุกต์ตัดเย็บให้เข้ากับผลิตภัณฑ์หนัง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของทางแบรนด์ จนได้กระเป๋าหนังผ้าผักตบชวาที่ดูสวยงาม ซึ่งเป็นผสมผสานผ้าและหนังได้อย่างลงตัว สร้างมูลค่าให้กับตลาดผลิตภัณฑ์แฟชั่นรักษ์โลกได้เป็นอย่างมาก ในส่วนของราคาก็จะมีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท ซึ่งราคาก็จะขึ้นอยู่กับขนาดและดีไซน์ของเป๋า

นิกร เอี่ยมสะอาด เจ้าของแบรนด์ “นิกรเครื่องหนัง” (เสื้อฟ้า)
“ด้วยสีธรรมชาติของเส้นใยผักตบชวา ที่มีความสวยงามไม่ต้องมีการย้อมเพิ่มเติม และสัมผัสเนื้อผ้าที่นุ่มเรียบเนียนและมีความคงทน เมื่อมาตัดเย็บร่วมกันกับงานหนังแล้ว ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูมีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากไม่ติดวิกฤตโควิด – 19 แล้ว ทางก็จะมีการร่วมงานกับทางประเทศเกาหลีใต้ที่มีความสในใจในกระเป๋าผ้าผักตบชวา นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่มีการต่อยอดสู่ตลาดสากล ทำให้ผ้าผักตบชวาผีมือคนไทยได้ไปสู่สายตาลูกค้าต่างประเทศ”


ในต่อยอดที่เพิ่มขึ้น ทางโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น” ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อื่นๆ อาทิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท พะเยา เพื่อเป็นแนวทางให้สามารถนำผัดตบชวาซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สามารถหาได้ง่ายและมีทุกฤดูกาลทุกพื้นที่ มาสร้างอาชีพสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน






กำลังโหลดความคิดเห็น