สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือว่าด้วย การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาในธุรกิจซีเมนต์ และการสกัดธาตุหายาก โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. ลงนามร่วมกับ และคุณวิสุทธ จงเจริญกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจทรัพยากรหมุนเวียน โดยมีคุณชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี พร้อมด้วยผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงาน เข้าร่วมในพิธีและเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานใหญ่ เอสซีจี บางซื่อ
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสทน. เปิดเผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เราร่วมมือกันใน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ การศึกษาวิจัยเรื่องการใช้ประโยชน์จากธาตุหายาก โดยเป็นเรื่องส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้และศักยภาพของแหล่งธาตุหายาก อาทิเช่น แหล่งธรรมชาติ ของเสียและวัตถุพลอยได้จากการทำเหมืองหรือการผลิตไฟฟ้า ของเสียจากโรงงานต่าง ๆ และขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา เกี่ยวกับกระบวนการและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ในการสกัดธาตุหายาก (Extraction) รวมถึงการทำให้บริสุทธิ์ในรูปของโลหะ (Metallization) และร่วมกันศึกษาพัฒนาเชิงธุรกิจ ในการทำ High Value-Added Product จากวัสดุเหลือทิ้งและวัตถุพลอยได้จากกระบวนการผลิต เช่น วัตถุผสมของออกไซด์ธาตุหายาก (Mixed REOs) ซึ่ง สทน.เองได้วิจัยและพัฒนาธาตุหายากมายาวนาน โดยมีห้องปฏิบัติการอยู่ที่ศูนย์ธาตุหายาก สทน.คลองห้า ปทุมธานี เรื่องที่สอง คือ การวิจัยประยุกต์ด้านพลาสมาอุณหภูมิสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจับ CO2 ในกระบวนการผลิตซีเมนต์ ซึ่งปัจจุบัน สทน.อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งคาดว่าจะเดินเครื่องต้นแบบในเมืองไทยได้ในปี 2566
โดยคุณสมหวัง แม้นพิมลชัย ผู้อำนวยการธุรกิจซีเมนต์ภาคกลางและผู้นำบริหารการวิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของเอสซีจีที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และมีบรรษัทภิบาล ผ่านแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ – Plus เป็นธรรม โปร่งใส) ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แบรนด์ “CPAC Green Solution” เราเชื่อมั่นว่าการสร้างธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนให้สังคมและประเทศทำได้จริง แต่ต้องอาศัยการพัฒนาทางเทคโนโลยีเป็นฐานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อโลก และความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติในครั้งนี้ จะเป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศด้วยการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมการสร้างสังคม Net Zero ไปพร้อมกับการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นระยะเวลา 5 ปี แต่ทั้ง 2 องค์กรเชื่อว่ายังมีงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์อื่น ๆ ที่อาจจะมีความร่วมมือเพิ่มเติมในอนาคต