สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สนันบสนุนทีมวิจัยศึกษาปัญหาลิ้นจี่ไม่ออกดอกใน จ.สมุทรสงคราม พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชนตำบลแควอ้อม” ชูเป็นต้นแบบรวบรวมองค์ความรู้ด้านลิ้นจี่จากเครือข่ายวิจัย ภาครัฐและปราชญ์ชุมชนแบบครบวงจร ช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ในพื้นที่แบบยั่งยืน
วันนี้ (23 ส.ค.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม เป็นลิ้นจี่พันธุ์ที่ได้รับนิยมอย่างมากในจังหวัดสมุทรสงคราม แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรประสบปัญหาลิ้นจี่ไม่ติดผลอย่างต่อเนื่องทำให้ขาดรายได้ และบางรายตัดโค่นลิ้นจี่เปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน ในปี 2559 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การแก้ปัญหาการไม่ออกดอกติดผลในลิ้นจี่พันธุ์ค่อม และการขยายผลในการสร้างเครือข่ายกลุ่มลิ้นจี่ในจังหวัดสมุทรสงคราม” ซึ่งมี รศ.ดร.คณพล จุฑามณี จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นหัวหน้าทีมวิจัย เพื่อเข้าไปรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา และสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชนตำบลแควอ้อม” เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้เรื่องลิ้นจี่ที่ครบวงจร รวมทั้งมีการพัฒนาเป็นแหล่งที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมใช้มาตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.คณพล จุฑามณี หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม เป็นพืชสำคัญและได้ตราสัญลักษณ์ GI ของจังหวัดสมุทรสงคราม แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้ลิ้นจี่เริ่มไม่มีการติดผลตั้งแต่ปี 2556 ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก กลุ่มเกษตรกรตำบลแควอ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม จึงต้องการให้หน่วยงานภาครัฐหรือสถาบันการศึกษาเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และได้นำเสนอปัญหาดังกล่าวแก่เครือข่ายวิจัยภูมิภาคภาคกลาง ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. ทำให้มีนักวิชาการจากหลายหน่วยงานลงมาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อร่วมกันศึกษา วิจัย เพื่อแก้ปัญหาการออกดอกและติดผลในลิ้นจี่จังหวัดสมุทรสงคราม
หลังจากเข้าไปศึกษาทีมวิจัยพบว่า ปัญหาลิ้นจี่ไม่ออกดอกหรือออกดอกน้อย เป็นเพราะอุณหภูมิในเขตภาคกลางที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส มีไม่เพียงพอ หรือมีน้อยวัน ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการทดแทนสภาพอุณหภูมิต่ำเพื่อกระตุ้นการออกดอกของลิ้นจี่ ขณะที่ปัญหาลิ้นจี่ไม่ติดผล เกิดจากดอกลิ้นจี่ไม่มีเกสรเพศผู้ จึงไม่เกิดการผสมเกสร ทำให้ต้องหาวิธีการเพิ่มการติดผลของลิ้นจี่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรในตำบลแควอ้อม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกลิ้นจี่นั้นมีองค์ความรู้เรื่องลิ้นจี่ที่ได้จากปราชญ์ชุมชน รวมถึงการสนับสนุนของหน่วยงานราชการ และงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในการแก้ไขปัญหา เช่น ศึกษาวิธีการกระตุ้นการออกดอกจากพืชชนิดอื่น ๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาลิ้นจี่ออกดอกน้อย ส่วนปัญหาการไม่ติดผลของลิ้นจี่ ได้มีการศึกษาวิธีการแก้ปัญหาจากการวิจัยในต่างประเทศ เช่น การผสมเกสรโดยใช้เรณูของลิ้นจี่ต่างพันธุ์ โดยทดลองใช้ละอองเรณูจากลิ้นจี่พันธุ์ไทย และพันธุ์จีน ทำให้ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมสามารถติดผลได้ และการพ่นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในช่วงลิ้นจี่ออกดอก รวมทั้งมีองค์ความรู้จากปราชญ์ชุมชน เช่น การเลี้ยงผึ้งเพื่อช่วยผสมเกสร
นอกจากนี้กลุ่มเกษตรกรในตำบลแควอ้อม ยังมีการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยของมหาวิทยาลัย สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม และสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม ในการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปแก้ปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้เข้าไปสนับสนุนกระบวนการในการรวบรวม และสังเคราะห์องค์ความรู้เรื่องลิ้นจี่และงานวิจัยต่าง ๆ มารวบรวมไว้จุดเดียวกัน โดยสนับสนุนให้เกิดจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชนตำบลแควอ้อม” ขึ้นในปี 2561 เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมความรู้เรื่องลิ้นจี่ที่ครบวงจร เกษตรกรและผู้สนใจสามารถนำความรู้เรื่องลิ้นจี่ไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยศูนย์วิจัยชุมชนตำบลแควอ้อม ตั้งอยู่ที่ “สวนลิ้นจี่ 200 ปี” ซึ่งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
“ศูนย์วิจัยชุมชนตำบลแควอ้อม เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จจากที่เครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคกลางได้ประสานโจทย์วิจัยที่ชุมชนต้องการได้รับการแก้ไขแล้วนำมาดำเนินการวิจัย เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมใช้มาแก้ไขปัญหา หรือตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ตนเอง โดยตั้งเป้าให้ศูนย์วิจัยชุมชนทำหน้าที่ประสานงานกับคณะนักวิจัย ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับพี่เลี้ยงที่นำองค์ความรู้มาช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้ประสบผลสำเร็จ”
“ศูนย์วิจัยชุมชน” จึงเปรียบเสมือนกับศูนย์กลางหรือศูนย์รวมองค์ความรู้ที่อยู่ในชุมชนให้ทุกคนสามารถเข้าถึง เรียนรู้ได้ตลอดเวลา และสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง