xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ เผยภาพ “ดาวเสาร์” ในค่ำคืนที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผย ภาพ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี" โดยได้บันทึกไว้ในคืน วันที่15 สิงหาคม 2565 ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา เห็นวงแหวนของดาวเสาร์ได้อย่างชัดเจน

ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ โดยดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,325 ล้านกิโลเมตร เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวเสาร์สว่างจะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่ายาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า

ดาวเสาร์ใกล้โลก บันทึกภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
หลังจากนี้ดาวเสาร์จะยังคงปรากฏบนท้องฟ้าไปจนถึงประมาณเดือนมกราคม 2566 หากคืนไหนสภาพอากาศดีจะสามารถสังเกตดาวเสาร์ได้

สำหรับปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลกครั้งต่อไป คือ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ตรงกับวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่จะถึงนี้ ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างมากทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นต้นไป สังเกตได้ชัดเจนด้วยตาเปล่าจนถึงรุ่งเช้าวันถัดไป


ดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนสวยงามดวงนี้ เป็นดาวเคราะห์บริวาลของดวงอาทิตย์ ดวงที่ 6 ถัดจากดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของระบบสุริยะ รองจาก ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์เป็นดาวแก๊สยักษ์ที่มีรัศมีเฉลี่ยมากกว่าโลกประมาณเก้าเท่า ใช้เวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 30 ปี

ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT


กำลังโหลดความคิดเห็น