xs
xsm
sm
md
lg

วว. คว้ารางวัล Thailand Research Expo Award 2022 จากผลงาน "สารชีวภัณฑ์ วว. ยกระดับผลผลิตการเกษตร"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัลชมเชย จากการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีกระบวนการนำเสนอที่เด่นในรูปแบบที่หลากหลายและสามารถเชื่อมโยงส่งต่องานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ให้แก่ ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)


สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในฐานะผู้แทน วว. จากการประกวดผลงานนิทรรศการ Thailand Research Expo Award 2022 เนื่องในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565 ซึ่ง วว. นำเสนอผลงาน "สารชีวภัณฑ์ วว. ยกระดับผลผลิตการเกษตร พัฒนาเชิงพื้นที่ด้วย วทน." เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ที่มีศักยภาพรองรับอุตสาหกรรมการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ ช่วยป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีทางการเกษตร จากการดำเนินงานส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 33.3418 ล้านบาท โดยมีผลงานวิจัยพัฒนาที่ วช. คัดสรรมานำเสนอกว่า 700 ผลงาน จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โอกาสนี้ ดร.ตันติมา กำลัง นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ รับโล่ขอบคุณหน่วยงานสนับสนุนในการร่วมจัดงาน (วันที่ 5 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชัน เซ็นทรัลเวิลด์)


ทั้งนี้ วว. ร่วมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ ผ่านการดำเนินงานโดย ICPIM 2 หรือ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. มีสายการผลิต “สารชีวภัณฑ์” ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย ที่เป็นประโยชน์ทั้งระบบการผลิตพืช มีประสิทธิภาพควบคุมศัตรูพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยมีกำลังการผลิตรวมต่อปี 115,000 ลิตร เพื่อการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน


การดำเนินงานด้านชีวภัณฑ์ของ วว. มีจุดแข็ง คือ มีโครงสร้างพื้นฐานโรงงาน ICPIM 2 ที่มีศักยภาพตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย ในการให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ และทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม สามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ได้จำนวน 3 รูปแบบ คือ หัวเชื้อเหลว หัวเชื้อน้ำ และหัวเชื้อผง ในส่วนของบรรจุภัณฑ์มี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง และใหญ่ สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพัฒนาถังหมักระดับชุมชนที่สามารถตอบโจทย์เกษตรกร ผู้ประกอบการ ในการขยายชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานให้เพียงพอกับการใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น