หากย้อนไทม์แมชชีนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าภาคการเกษตรของไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายศตวรรษ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือความไม่แน่นอน ทำให้วิถีชีวิตของเกษตรกรถูกแขวนไว้บนความเสี่ยง ทั้งเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศที่ยากจะควบคุม จนเกิดเป็นปัญหาโรคพืชหรือการปศุสัตว์ แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง เกษตรกรมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น บวกกับแนวทางการทำเกษตรในอดีตมักอาศัยความเชื่อและวิถีการทำไร่ไถนาที่สืบทอดต่อกันมา พึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติจึงทำให้คุณภาพและปริมาณของผลผลิตไม่มีความแน่นอน ดังนั้น เมื่อโลกปัจจุบันหมุนเข้าสู่ยุคดิจิทัล เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการนำเครื่องจักรกล เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น อีกทั้งยังต้องเรียนรู้ศาสตร์และวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับภาวะทางธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลง
จากปัญหาดังกล่าว จึงเกิดการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “เกษตรแม่นยำ หรือ Precision Agriculture” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความแม่นยำสูง เช่น หุ่นยนต์ ระบบดาวเทียมจีพีเอส เซ็นเซอร์ตรวจสภาพดินและอากาศ บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเตอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง (IoT) เข้ามาเสริมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอนให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ มีการใช้ทรัพยากรตรงตามความต้องการของพืชและสัตว์ และเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนเปลี่ยงในอนาคต ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้รับมาบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกหรือปศุสัตว์ได้อย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดแต่
“สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” หรือ NIA” หน่วยงานสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมทุกมิติ จะพาไปเปิดโลกนวัตกรรมเกษตรแนวใหม่เพื่อเป็นประโยชน์และแนวทางต่อเกษตรกรให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรกรรมให้เป็นแบบรู้เขารู้เรา เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดพื้นที่ปลูกและต้นทุนปัจจัยการผลิต และต่อยอดแนวคิด “BCG Economy Model” ที่ต้องการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ประสบความสำเร็จด้วยแนวทางที่ยั่งยืน
“ลิสเซินฟิลด์” ฟังทุกข้อมูลจากดินฟ้าอากาศและชาวนา สู่แปลงเกษตรที่แม่นยำ การเก็บข้อมูลแปลงเกษตร คือหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ผลผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปัญหาของเกษตรกรไทยคือการมีข้อมูลไม่มากพอ เพราะไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ดังนั้น นวัตกรรม “Predictive Farming Platform” จึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดด้วยระบบประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกด้วยบริการที่หลากหลาย เช่น งานวิจัย การติดตั้งเซนเซอร์ในพื้นที่การเกษตรไปจนถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม FarmAI ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรบันทึกความเคลื่อนไหวบนแปลงผลผลิตของตัวเองได้ พร้อมฟังก์ชันอีกมากมายที่จำเป็นต่อการทำการเกษตร เพื่อพัฒนาผลผลิตของเกษตรกรให้มีคุณภาพมากขึ้น
จุดเริ่มต้นของ “ลิสเซินฟิลด์" (ListenField) เกิดจาก ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ หรือ คุณนุ่น ต้องการต่อยอดงานวิจัยของตัวเองในช่วงที่กำลังศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น มาเป็นธุรกิจนวัตกรรมด้านการเกษตรที่ประเทศไทย เพราะมองว่าการแก้ปัญหาด้านการเกษตรในยุคนี้ต้องไม่ใช้การคาดเดา แต่ Big Data หรือ นวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่มาช่วยวิเคราะห์การทำการเกษตรได้ทุกขั้นตอน ปัจจุบัน ListenField เปิดให้บริการแล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย อินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา มีเกษตรกรใช้บริการมากกว่า 10,000 คน
ลิสเซินฟิลด์เป็นดีพเทคด้านการเกษตรที่ทำการเก็บข้อมูลหลายมิติ เพื่อทำแบบจำลอง วิเคราะห์ พยากรณ์ ด้านสภาพอากาศและพืช สำหรับให้ข้อมูลที่ประโยชน์ต่อเกษตรกรทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่มในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับองค์กรธุรกิจภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สามารถให้บริการเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายทั้งแอปพลิเคชันบนมือถิอ เว็บแดชบอร์ด และส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (Application Program Interface หรือ API) ที่ตอบสนองการทำงานกับหลายภาคส่วน ปัจจุบันมีการให้บริการในประเทศญี่ปุ่น ไทย และบางส่วนของอินเดียในการเข้าถึงของลูกค้าแต่ละกลุ่มตั้งแต่เกษตรกร นักส่งเสริม ผู้ตรวจสอบ โดยหัวใจสำคัญคือการเพิ่มคุณภาพผลผลิต การลดต้นทุน การบริหารความเสี่ยงจากสภาพอากาศ และเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวเปรียบเสมือนตัวแทนผู้รับฟังเสียงจากดิน ฟ้า อากาศ และพืชผล และนำมาบอกต่อเพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักเพาะปลูกได้เติมสิ่งที่แปลงเกษตรมีความต้องการ ซึ่งท้ายที่สุดท้ายให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ และตรงใจผู้บริโภค
ดร.รัสรินทร์ เล่าว่า ประเทศญี่ปุ่นทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรให้ความสำคัญกับเรื่องดาต้ามาก ละเอียดถึงขนาดคำนวณการดูดซึมน้ำระหว่างที่น้ำลงไปในดิน ซึ่งประโยชน์ของการเห็นคุณค่าในเรื่องดาต้านี้ ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพ มีราคามากขึ้น และตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค โดยลิสเซินฟิลด์ยังมีการลงพื้นที่เพื่อแบ่งปันข้อมูล รับฟังปัญหา แนะนำการใช้เครื่องมือซึ่งเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้แพลตฟอร์มสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงและสร้างระบบนิเวศได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจากการลงพื้นที่จริงพบว่าเกษตรกรไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ พร้อมเปิดรับและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไปด้วยกัน
ทิ้งปากกาและกระดาษที่เคยใช้แล้วโหลด “Zyan Dairy Farm” ตัวช่วยบันทึกทุกข้อมูลการเลี้ยงวัวแบบละเอียด
ด้วยวิถีความเคยชินที่มักจดบันทึกข้อมูลการเลี้ยงโค ลงในสมุด กระดาน หรือ ปฏิทิน ตามแต่ความสะดวกของเกษตรกรเป็นปัจจัยที่ทำให้ข้อมูลประสิทธิภาพของโคนมไม่สมบูรณ์ จนไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิตโคและการบริหารจัดการฟาร์ม เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ บริษัท ซินเทลลิเจนท์ จำกัด เลือกที่จะออกแบบและพัฒนา “Zyan Dairy Farm” แอปพลิเคชันที่มีฟีเจอร์ตอบโจทย์คนเลี้ยงโคนมมากที่สุด ใช้งานง่าย สะดวก มีฟังก์ชั่นช่วยบันทึกข้อมูลที่สำคัญ เช่น บันทึกพันธุ์ประวัติโค ข้อมูลการผสมพันธุ์ การตั้งท้อง การตลาด ฟังก์ชั่นระบบการแจ้งเตือนกิจกรรมที่เกษตรกรต้องดำเนินการในแต่ละวัน รวมถึงมีฟังก์ชั่นระบบบัญชีฟาร์มบันทึกรายรับรายจ่าย พร้อมทั้งแสดงสถิติของฟาร์ม นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยคำนวณประสิทธิภาพของโคนมได้ทั้งรายตัวและรายฝูงด้วยการดึงข้อมูลทั้งหมดที่บันทึกไว้มาวิเคราะห์ได้ทุกส่วน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาข้อมูลฟาร์มไม่ครบถ้วน และเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนตั้งแต่เกษตรกร สหกรณ์ และสัตวแพทย์ ปัจจุบันมียอดสมัครการใช้งานมากกว่า 9,000 ฟาร์มทั่วประเทศ สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.zyanwoa.com
นอกจากแอปพลิเคชัน Zyan Dairy Farm แล้ว ZyanWoa Platform ยังมีแอปพลิเคชันอีกหลากหลาย เช่น Zyan Coop เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสหกรณ์และหน่วยงานภาครัฐ Zyan MCC เว็บแอปพลิเคชันบันทึกปริมาณน้ำนมดิบ สำหรับจุดรวบรวมน้ำนมดิบ ZyanVet แอปพลิเคชันบนมือถือสำหรับสัตว์แพทย์ ที่จะช่วยสร้างบริการออนไลน์สำหรับกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมโดยเฉพาะ เช่น เกษตรกร สหกรณ์ จุดรวบรวมน้ำนมดิบ สัตว์แพทย์ หรือ ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปพัฒนาระบบการดำเนินงานให้สะดวกสบาย และก้าวทันเทคโนโลยี
e-Catt แพลตฟอร์มซื้อ – ขายโคเนื้อไทยออนไลน์ ยกระดับเกษตรไทยยุคดิจิทัล โคเนื้อเป็นหนึ่งในปศุสัตว์ที่มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย หากมองภาพรวมอุตสาหกรรมโคเนื้อชั้นดีในประเทศไทย พบว่าตลาดมีขนาดใหญ่ด้วยจำนวนคนรักเนื้อที่เพิ่มขึ้น และเมื่อย้อนกลับไปในปี 2563 ไทยมีเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ 9.2 แสนคน และมีการผลิตโคเนื้อ 1.25 ล้านตัวต่อปี แต่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคต้องเผชิญปัญหาด้านการเงินและการลงทุน ทั้งการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่จำเป็น การบริการประกันความเสี่ยง รวมถึงการเข้าถึงตลาดคุณภาพและการต่อรองราคาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งล้วนเกิดจากข้อจำกัดด้านการเข้าถึงข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละราย
จากปัญหาดังกล่าว บริษัท บีเวอร์เทค จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) สร้าง e-Catt แพลตฟอร์มการตรวจสอบย้อนกลับ ซื้อขาย และแปลงโคเนื้อเป็นทุนแบบครบวงจร ซึ่งถูกออกแบบและพัฒนาให้มีระบบการเลี้ยงโคที่ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพื่อยกระดับการเลี้ยงโคที่ดี ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับพันธุ์วัว จำนวนของวัวในแต่ละพื้นที่ ราคา รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ช่วยทำให้ธนาคาร บริษัทประกันภัย ตลอดจนผู้ซื้อโคเนื้อ สามารถเข้าถึงข้อมูลการเลี้ยงโคของเกษตรกรรายย่อยได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทั่วถึง สามารถประเมินเมินความเสี่ยงของเกษตรกรโคเนื้อแต่ละรายได้อย่างแม่นยำ ทำให้โคเนื้อกลายเป็นสินทรัพย์ที่ตรวจสอบได้ และสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารได้ นับเป็นการเชื่อมโยงระบบบริหารจัดการข้อมูลประกันภัยของเกษตรกรกับบริษัทประกันภัย และเกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตปศุสัตว์ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและแหล่งเงินทุนจาก ธกส. ได้ง่ายขึ้น สามารถซื้อขายและสร้างรายได้ผ่านแพลตฟอร์ม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ให้ยั่งยืนต่อไป