xs
xsm
sm
md
lg

"Copernicus" กับตำราที่ตนเขียน แต่ไม่มีใครอ่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในปี 2005 คือ เมื่อ 17 ปีก่อน ได้มีการขุดหาซากศพของ Nicolaus Copernicus (1473-1543) ผู้ซึ่งได้เสียชีวิตไปเป็นเวลานานร่วม 462 ปีแล้ว โดยอาศัยบันทึกประวัติศาสตร์ที่ได้ระบุว่า ศพถูกนำไปฝังในหลุมที่ไม่มีชื่อจารึกในสุสานใกล้มหาวิหาร Frombork ในประเทศโปแลนด์ อันเป็นสถานที่ๆ Copernicus เคยทำงานเป็นนักเทศน์ และได้ใช้เวลาว่างในการศึกษาดาราศาสตร์ ในการขุดหาซากศพครั้งนี้ Jerzy Gassowski จากสถาบัน Pultusk Academy of Humanities มิได้แจ้งให้เจ้าอาวาสแห่งมหาวิหาร Frombork รู้ว่ากำลังจะค้นหาโครงกระดูกของใคร และหลังจากที่ได้ใช้เรดาร์สำรวจลึกใต้ดิน เพื่อค้นหาซากที่ต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก ในที่สุดทีมขุดก็ได้ซากที่ต้องการ ซึ่งเป็นของชายวัย 60-70 ปี จึงได้ส่งกะโหลกไปให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติเวชศาสตร์ นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ ที่กรุง Warsaw ชันสูตร พิสูจน์ และวิเคราะห์ โดยใช้หลักฐานต่างๆ เช่น DNA ซึ่งได้จากบรรดาญาติ ๆ ในวงศ์ตระกูล Copernicus ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และที่ได้ตายไปแล้ว เพราะการตรวจ DNA เป็นวิธีพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือมากที่สุด นอกจากนี้ก็ได้ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อวัดอายุของกระดุกด้วย


ในที่สุดผลการตรวจก็ยืนยันว่าที่ระดับความเชื่อมั่น 95% โครงกระดูกนั้นเป็นของ Copernicus จริง ๆ ทางการจึงได้ให้ศิลปินสร้างรูปปั้นที่แสดงใบหน้าของผู้ตาย โดยใช้ปูนปลาสเตอร์โบกทับบนกะโหลกศีรษะ และให้ปูนมีความหนาเท่ากับความหนาโดยเฉลี่ยของเนื้อเยื่อบนใบหน้า โดยเฉพาะที่ตำแหน่งสำคัญ ๆ 18 แห่ง ซึ่งเทคนิคนี้สามารถสร้างใบหน้าของบุคคลในอดีตได้ดี โดยอาศัยภาพวาดเหมือนจริง และเอกสารที่ได้บรรยายลักษณะต่าง ๆ ของผู้ตาย เช่น รอยแผลเป็นเหนือเบ้าตาขวา ฯลฯ มาช่วยประกอบด้วย


ดังเหตุการณ์ที่เกิดในปี 1998 เมื่อเจ้าหน้าที่ในสังกัดมหาวิทยาลัย Bristol ในประเทศอังกฤษ ได้ใช้โปรแกรม software แสดงเค้าโครงหน้าของมัมมี่ Horemkenesis ผู้เป็นนักบวชที่เคยมีชีวิตอยู่ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ณ มหาวิหาร Kanak ในประเทศอียิปต์ ซึ่งรูปปั้นได้ทำให้เรารู้ว่านักบวชคนนี้ได้เสียชีวิตลงเมื่อมีอายุประมาณ 60 ปี ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ได้บันทึกเกี่ยวกับนักบวชองค์นี้ได้ระบุว่า ขณะมีชีวิตอยู่ นอกจากจะทำหน้าที่เทศนาคำสอนที่มีในคัมภีร์ไบเบิ้ลแล้ว นักบวชยังทำหน้าที่กำกับงานก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ด้วย รายละเอียดเหล่านี้ได้ช่วยให้ผู้สร้างหุ่นจำลองรู้ว่า Horemkenesis ควรมีบุคลิกและสีหน้าท่าทางอย่างไร

ในที่สุดเมื่อโครงการขุดศพ Copernicus สำเร็จลุล่วง โลกก็ได้ “เห็น” Copernicus อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ไม่มีใครได้เห็นมาเป็นเวลานานถึง 462 ปี


Nicolaus Copernicus เป็นชื่อในภาษาละตินของนักดาราศาสตร์ชื่อ Nicolaus Kopernik ซึ่งได้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ปี 1473 (รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ที่เมือง Torun ในประเทศโปแลนด์ ซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นดินแดนพิพาทที่เคยถูกปกครองโดยกษัตริย์กรีก โปแลนด์ และเยอรมนี ดังนั้น Copernicus จึงมักได้รับการอ้างว่ามีสัญชาติเป็นชาวโปแลนด์หรือชาวเยอรมัน บิดาของ Copernicus มีชื่อเดียวกับลูกชาย ส่วนมารดานั้นชื่อ Barbara Watzenrode ซึ่งนามสกุลนี้แสดงว่า เธอมีเชื้อชาติเป็นชาวเยอรมัน ครอบครัว Copernicus มีฐานะดี ในวัยเด็ก Copernicus เป็นเด็กฉลาด เมื่ออายุ 10 ปี Copernicus ได้กำพร้าบิดา ลุง Lucas Watzenrode ซึ่งเป็นสาธุคุณแห่งโบสถ์ที่เมือง Frombork ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของโปแลนด์ จึงได้เข้ามาดูแลและให้ความอุปถัมภ์หลาน เพราะตั้งใจจะให้หลานชายได้เจริญรอยตามตน


เมื่ออายุ 18 ปี Copernicus ได้เข้าเรียนคณิตศาสตร์กับดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Krakow ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีชื่อเสียงว่ามีเหมืองเกลือใต้ดินที่ระดับลึก 150 เมตร และภายในเหมืองมีห้องโถงขนาดใหญ่ซึ่งมีอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญของชาติประดับอยู่มากมาย การมี Copernicus เป็นนิสิตมาเรียนที่เมืองนี้ ได้ทำให้ชาว Krakow ในปัจจุบันชอบอ้างว่า Copernicus เป็นนักทัศนาจรคนแรก ๆ ของเมือง หลังจากที่ได้ใช้เวลานาน 4 ปี ที่สถาบัน Krakow Academy ซึ่งได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามบัญชาขององค์สันตะปาปาแห่งวาติกันในปี 1364 Copernicus ได้ย้ายไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี ซึ่งในเวลานั้นเป็นศูนย์กลางของยุค Renaissance เพื่อจะได้เป็นมนุษย์สากล (Uomo Universale, universal man) ที่รอบรู้ทุกเรื่อง โดยได้เข้าเรียนดาราศาสตร์กับแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Bologna และมีอาจารย์เป็นนักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชื่อ Domenico Maria Novara ซึ่งได้กล่าวถึงคำสอนของ Pythagoras ที่เคยกล่าวว่าโลกหมุนได้ นี่จึงเป็นคำสอนที่แตกต่างไปจากความเชื่อของ Aristotle และ Ptolemy ที่ว่า โลกของเราอยู่นิ่ง และเป็นศูนย์กลางของเอกภพด้วย


จาก Bologna ในประเทศอิตาลีCopernicus ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยPadua แล้วไปศึกษาด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัย
Ferrara การที่Copernicus เรียนวิชาดาราศาสตร์ควบคู่ไปกับวิชาแพทยศาสตร์นั้น ก็เพราะต้องการจะใช้ความรู้โหราศาสตร์
ซึ่งได้จากการดูการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในการพยากรณ์ชะตาชีวิตของคนไข้ที่มาให้ตนรักษา เพราะคำทำนายจะสามารถปลอบใจและให้ความหวังแก่คนยากไร้ได้มาก ส่วนความรู้ด้านกฎหมายนั้นก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะถ้าหมอCopernicus รักษาคนไข้ผิดวิธีและคนไข้ตาย เขาก็อาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

หลังจากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั้งสามแห่งแล้ว Copernicus ในวัย30 ปี ก็เดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อไปทำงานเป็นเลขานุการ ให้ลุงที่วิหารแห่งเมือง Frombork และทำงานรับใช้ทั่วไป เช่น ออกกฎบังคับ เขียนตำรา วาดแผนที่ และเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินให้แก่ชาวเมืองด้วย แต่ Copernicus ก็ได้ตั้งปณิธานไว้ว่า จะไม่มีอาชีพเป็นนักบวชเหมือนลุง ในช่วงเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำโบสถ์แห่งเมือง Frombork นักเทศน์Copernicus ได้ศึกษาทฤษฎีดาราศาสตร์ที่ว่าด้วยโครงสร้างของเอกภพตามความเห็นของนักดาราศาสตร์โบราณหลายคน เช่นAristotle และ Ptolemy ซึ่งเชื่อว่า โลก คือ จุดศูนย์กลางของเอกภพ ที่มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ โคจรไปรอบโลก ส่วนดาวฤกษ์ต่าง ๆ นั้นอยู่กับที่ และอยู่ ณ ตำแหน่งที่ห่างจากดาวเสาร์ออกไปอีกเป็นระยะทางไกลมาก โดยดวงดาวทั้งหมดนี้โคจรเป็นวงกลมไปรอบโลกโดยใช้เวลาหนึ่งวัน Copernicus ยังได้ศึกษาความคิดของAristarchus แห่งเมืองSamos ในประเทศกรีซด้วย ซึ่งท่านผู้นี้เป็นนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง

ในสมัยเมื่อสามคริสต์ศตวรรษก่อนคริสตกาล ผู้ได้เคยแถลงว่าดวงอาทิตย์น่าจะเป็นศูนย์กลางของเอกภพยิ่งกว่าโลก เพราะเป็นดาวที่ให้ความอบอุ่นและให้แสงสว่างแก่โลก ในขณะที่โลกมิได้ให้อะไรแก่ดวงอาทิตย์เลย แต่เมื่อคนทั่วไปยังยึดมั่นอยู่กับความคิดที่ว่ามนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐที่สุดต้องอาศัยอยู่บนโลก ดังนั้นโลกจึงควรเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งเมื่อทุกคนคิดไปในทำนองเดียวกันนี้ ความเห็นของAristarchus จึงไม่มีใครเหลียวแลCopernicus ยังได้อ่านตำราดาราศาสตร์ของชาวอินเดีย ชื่อAryabhata ผู้เคยมีชีวิตอยู่ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่6 ด้วยซึ่งในตำรานั้นมีข้อความที่แถลงว่าการหมุนรอบตัวเองของโลกได้ทำให้คนบนโลกเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตก

แต่ Copernicus ก็ได้พบว่าถ้าโครงสร้างของเอกภพเป็นไปตามความเชื่อของปราชญ์โบราณจริง เขาก็ยังไม่สามารถตอบคำถามหลายประเด็นได้เช่นว่า เหตุใดดาวศุกร์จึงสำแดงปรากฏการณ์ข้างขึ้น ข้างแรมเหมือนดวงจันทร์ของโลกและเหตุใดดาวอังคารที่ใคร ๆ ก็สังเกตเห็นว่าในบางเวลามันจะโคจรไปทางทิศหนึ่ง แล้วจะหยุดนิ่งจากนั้นก็โคจรหวนกลับทิศ นี่คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่าretrograde แบบจำลองของเอกภพที่Aristotle เชื่อยังไม่สามารถตอบได้ว่าเหตุใดดาวพุธและดาวศุกร์จึงโคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ตลอดเวลา คือ มิได้ถอยห่างออกมามากเหมือนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ เลย เหล่านี้คือคำถามที่Copernicus ตระหนักว่ายังไม่มีใครสามารถอธิบายได้ ถ้าใครคนนั้นยังยึดติดอยู่กับความคิดที่ว่าโลก คือ ศูนย์กลางของเอกภพ

ในปี 1512 เมื่อลุง Lucas ถึงแก่มรณภาพCopernicus ได้เดินทางไปทำงานที่เมืองFrauenberg ในตำแหน่งนักบวชและทำหน้าที่เป็นแพทย์ด้วย ในเวลาเดียวกันก็ได้พยายามพัฒนาทฤษฎีโครงสร้างของเอกภพไปด้วย จนได้พบว่าการกำหนดให้ดาวเคราะห์ทุกดวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ สามารถตอบข้อสงสัย และปริศนาต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วได้หมด เขาจึงเขียนบทความสั้นๆ เรื่อง“Commentariolus” ที่มีเนื้อหาย่อๆ เกี่ยวกับทฤษฎีของเอกภพในรูปแบบใหม่ให้บรรดาเพื่อนสนิทได้อ่าน เพื่อทดสอบความเห็น และได้พบว่าไม่มีใครออกมาสนับสนุนเขาเลย อาจจะเป็นเพราะเพื่อนๆ ได้อ่านแล้วไม่เข้าใจ จึงไม่เชื่อ ยิ่งเมื่อรู้ว่าCopernicus ไม่มีหลักฐานใด ๆ สนับสนุน คนเหล่านี้ก็ยิ่งไม่ยอมรับ แต่เหตุผลที่สำคัญ คือ การออกมาสนับสนุนคำสอนที่ขัดต่อคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล จะทำให้ผู้สนับสนุนถูกสถาบันศาสนาลงโทษ ทั้งๆ ที่ในบทความนั้น Copernicus ได้อ้างถึงปราชญ์คนอื่นๆ เช่น Leonardo da Vinci, Philolaus, Heraclides และEcphantus ว่าก็มีความเชื่อเช่นเดียวกับตน

แต่เมื่อCopernicus ไม่มีข้อมูลใด ๆ เป็นหลักฐานสนับสนุน (ในสมัยนั้นนักดาราศาสตร์ยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์ใช้) Copernicus จึงต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยว เสมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และต้องแฝงตัวอยู่ในกำแพงโบสถ์ตลอดเวลา
นอกจากนี้ Copernicus ก็ยังเชื่ออีกว่า ชาวบ้านซึ่งเป็นคนธรรมดาๆ จะไม่มีวันเข้าใจกลไกการทำงานของพระเจ้าในสวรรค์ ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจไม่เผยแพร่ผลงานของตนในที่สาธารณะใดๆ นอกจากนี้Copernicus ก็ยังเชื่ออีกว่า ข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ
ที่นักดาราศาสตร์วัดได้เป็นเพียงรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ไม่มีความสำคัญอันใดมาก เพราะเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า คือ โครงสร้างของเอกภพทั้งหมด ดังนั้นแม้จะไม่มีข้อมูลที่แสดงลักษณะการโคจรของดาวเคราะห์ทุกดวง Copernicus ก็สามารถสร้างภาพรวมของเอกภพได้ และการเห็นภาพใหญ่นี้ได้บังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อJohannes Kepler พบกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ว่ามีลักษณะเช่นไร ทั้งๆ ที่Tycho Brahe มีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขการโคจรของดาวเคราะห์ที่ตนได้เก็บรวบรวมมาเป็นเวลานานถึง 20 ปี แต่Brahe กลับไม่พบกฎอะไรเลย


ในปี 1539 ได้มีนักดาราศาสตร์หนุ่มชาวเยอรมันคนหนึ่งจากเมือง Wittenberg ชื่อ Georg Joachim Rheticus ซึ่งเป็นคนที่นับถือคริสต์ศาสนานิกาย Lutheran และได้เดินทางมาเยี่ยม Copernicus เพื่อสนทนาเกี่ยวกับเรื่องดาราศาสตร์กัน โดยได้ตั้งใจในเบื้องต้นว่าจะมาพำนักอยู่กับ Copernicus เป็นเวลานานประมาณ 3 สัปดาห์ แต่กลับได้พักอยู่นานถึง 2 ปี เพราะเมื่อ Rheticus ได้อ่านผลงานดาราศาสตร์ของ Copernicus อย่างละเอียด ก็ได้พบว่าผลงานมีความสำคัญมาก เพราะจะเปลี่ยนมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อเอกภพอย่างมโหฬาร อีกทั้งยังสามารถตอบคำถามต่าง ๆ ที่แบบจำลองของ Aristotle และ Ptolemy ไม่สามารถตอบได้ด้วย Rheticus จึงได้ขอร้องให้ Copernicus ตีพิมพ์หนังสือเพื่อจะได้เผยแพร่ผลงานที่ได้ทำไปให้โลกภายนอกได้รับรู้ด้วย และเพราะผลงานที่ Copernicus ทำได้แสดงความคิดที่ยิ่งใหญ่มาก แต่ Copernicus กลับตอบว่า เขาไม่มีทุนทรัพย์ในการจัดพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่เลย Rheticus จึงอาสาจัดพิมพ์ให้ด้วยทุนส่วนตัว เพื่อให้ผลงานของ Copernicus ได้ปรากฏในบรรณโลก การชักจูงของ Rheticus ครั้งนี้ จึงมีความสำคัญเทียบเท่ากับการที่ Edmond Halley ได้เคยชักจูงให้ Isaac Newton ตีพิมพ์หนังสือ “Principia” เพราะตำราที่ Copernicus เขียนได้ปฏิรูปองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์อย่างมโหฬาร

โลกไม่รู้ชัดว่าเหตุใด Copernicus จึงได้มอบผลงานที่ตนได้ทำมาเป็นเวลานานร่วม 10 ปี ให้แก่ Rheticus และเมื่อ Rheticus ได้รับเอกสารต้นฉบับ เขาก็พบว่าตัวเองไม่มีเวลาอ่าน จึงมอบให้ Andreas Osiander ซึ่งเป็นนักบวชในนิกาย Lutheran ที่เมือง Nuremberg เป็นคนจัดการให้แทน โดยให้ทำหน้าที่เป็นคนพิสูจน์อักษร

แต่เมื่อ Osiander ได้อ่านเนื้อหาในหนังสือที่ Copernicus เขียน เขาก็พบว่าเป็นเนื้อเรื่อง “ต้องห้าม” เพราะเนื้อหาล้วนขัดกับคำสอนที่มีในคัมภีร์ไบเบิล ดังนั้น Osiander จึงเขียนคำนำให้แก่หนังสือในทำนองว่า สิ่งที่เขียนต่อไปนี้เป็นเรื่องในจินตนาการ ที่ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุนเลย เพราะเขาไม่ต้องการให้คนเขียนและหนังสือถูกเหยียดและถูกประณาม ซึ่งก็ได้ผล เพราะไม่มีใครออกมาโจมตีหนังสือ เป็นเวลานานถึง 73 ปี จนกระทั่งปี 1616 เมื่อ Galileo Galilei ถูกไต่สวนโดยศาลศาสนา และ Galileo ได้อ้างถึงหนังสือ “De Revolutionibus Orbium Coelestium” (On the revolutions of the heavenly spheres) ของ Copernicus โลกจึงประจักษ์ว่า มันเป็นหนังสือต้องห้าม ที่ถูกห้ามนำออกเผยแพร่ในบรรดานักวิชาการทั้งหลาย และเมื่อทุกคนได้ทดลองอ่านก็พบว่า มันเป็นหนังสือที่อ่านยากมาก เพราะเนื้อหาถูกเขียนเป็นภาษาละตินและมีหลายด้าน เช่น มีความรู้ด้านดาราศาสตร์ เรขาคณิต ตรีโกณมิติ และศาสนา นอกจากนี้การมีประสบการณ์การเขียนตำราค่อนข้างน้อยของ Copernicus ก็มีส่วนทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาได้น้อยด้วย


ในหนังสือ “On the revolutions of the heavenly spheres” ของ Copernicus ได้มีการแสดงแบบจำลองของเอกภพที่มีดวงอาทิตย์อยู่ที่จุดศูนย์กลาง และมีดาวเคราะห์ต่าง ๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยมีวงโคจรเป็นวงกลม และดาวเคราะห์แต่ละดวงมีความเร็วสม่ำเสมอที่แตกต่างกัน สำหรับในกรณีของดาวเคราะห์ที่เป็นโลกนั้น ก็ยังมีดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงกลมอีกวงหนึ่งด้วย ในลักษณะที่เรียกว่าเป็น epicycleในการเสนอแบบจำลองของเอกภพนี้ Copernicus เชื่อมั่นมากว่าเป็นแบบจำลองที่ถูกต้อง เพราะดูสวย มีเหตุผล และสามารถใช้อธิบายได้ว่า เหตุใดปรากฏการณ์ retrograde ของดาวอังคารจึงมีค่ามากกว่า retrograde ของดาวพฤหัสบดี ซึ่งอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาวอังคาร และเหตุใดดาวฤกษ์ต่าง ๆ จึงไม่มีดาวดวงใดเคลื่อนที่แบบ retrograde เลย ไม่ว่าจะเป็นวันหรือเวลาใด ๆ ของปี

หลังจากที่ตำราได้รับการเผยแพร่แล้ว ก็ปรากฏว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงของโลกหลายคน เช่น Martin Luther ซึ่งเป็นนักปฏิรูปคริสต์ศาสนาคนสำคัญได้ออกมากล่าวปฏิเสธไม่ยอมรับความคิดของ Copernicus โดยอ้างว่า Copernicus เป็นเพียงโหรกระจอก ที่คิดจะล้มล้างระบบความรู้ของโลกทั้งหมด Luther เองยังได้อ้างถึงคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลที่ได้เขียนไว้ว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญชาให้ดวงอาทิตย์อยู่นิ่งกับที่ และจากคำพูดเช่นนี้ Luther จึงอ้างว่าตามปกตินั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ และเมื่อบรรดานักบวชส่วนใหญ่เชื่อตาม Luther คนเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้าน Copernicus

เมื่อหลายคนในสถาบันศาสนาพากันต่อต้าน หนังสือ “De Revolutionibus Orbium Coelestium” จึงได้กลายเป็นหนังสือต้องห้ามในทุกมิติ เช่น ถูกห้ามไม่ให้มีการตีพิมพ์ ห้ามเผยแพร่ ห้ามขาย ห้ามซื้อ ห้ามพูดถึง ห้ามนำไปใช้สอน และห้ามนำไปใช้เรียนในสถานที่ทุกหนแห่งตลอดไป จนกว่าเนื้อหาบางตอนจะได้รับการปรับแก้
ในที่สุดเมื่อถึงปี 1543 Copernicus ก็ได้ล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ คือ เป็นอัมพฤกษ์ และหลังจากที่นอนติดเตียงได้ไม่นาน Copernicus ก็ได้ลาจากโลกไปในอาการสงบ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ปี 1543 ที่เมือง Frombork ในประเทศโปแลนด์


ลุถึงปี 1572 เมื่อนักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์กชื่อ Tycho Brahe ได้เห็นดาว supernova ระเบิดอย่างสว่างจ้าในท้องฟ้าติดต่อกันนานเป็นเดือน การเห็นเช่นนี้ได้ล้มล้างความเชื่อในโครงสร้างเอกภพตามความคิดของ Aristotle ที่อ้างว่า ดาวทุกดวงบนสวรรค์จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างชั่วนิจนิรันดร์ ดังนั้นการเห็นการระเบิดของดาว supernova จึงได้ล้มล้างความเชื่อของ Aristotle อีกคำรบหนึ่ง หลังจากนั้น Thomas Digges ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ ชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็ได้พยายามแปลตำราของ Copernicus เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักวิชาการชาวอังกฤษได้เข้าใจทฤษฎีใหม่ของเอกภพ และ Digges ก็ได้เสริมความคิดของ Copernicus ด้วยว่า เอกภพมีดาวฤกษ์อีกเป็นจำนวนมากที่อยู่ไกลออกไปจนหาที่สิ้นสุดไม่ได้

แม้จะถูกสถาบันศาสนาและคนทั่วไปต่อต้าน แต่ Copernicus ก็มีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่สนับสนุนทฤษฎีของเขา คน ๆ นั้นคือ William Gilbert ซึ่งได้ศึกษาปรากฏการณ์แม่เหล็กเป็นคนแรก ๆ ในหนังสือ “De Magnete” ที่ถูกนำออกเผยแพร่ในปี 1600 Gilbert ได้เขียนว่า โลกเปรียบเสมือนเป็นแท่งแม่เหล็กแท่งหนึ่งที่หมุนรอบตัวเองได้ครบหนึ่งรอบในทุก 24 ชั่วโมง

ลุถึงปี 1610 เมื่อ Galileo Galilei ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ตนประดิษฐ์ ในการสังเกตเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางดาราศาสตร์ และได้เห็นดวงจันทร์บริวาร 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี คือ Io, Europa, Ganymede และ Callisto การค้นพบนี้จึงได้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า เอกภพมีจุดศูนย์กลางได้หลาย ๆ จุด ดวงอาทิตย์ คือ ศูนย์กลางของระบบดาวเคราะห์ โลกเป็นศูนย์กลางในการโคจรของดวงจันทร์ และดาวพฤหัสบดี คือ ศูนย์กลางของระบบดวงจันทร์บริวาร และการที่ดวงจันทร์มีแสง เพราะมันได้รับแสงสะท้อนจากโลก และได้รับแสงโดยตรงจากดวงอาทิตย์

ครั้นเมื่อ Johannes Kepler ได้อ่านหนังสือเรื่อง “Starry Messenger” ที่ Galileo เขียนในปี 1610 Kepler ก็ได้คาดการณ์ต่อไปว่า นอกจากจะมีมนุษย์โลกแล้วบนดวงจันทร์ของโลก และบนดาวพฤหัสบดีก็น่าจะมีมนุษย์อาศัยอยู่ได้เช่นกัน จากนั้น Kepler ก็ได้เสนอกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ต่าง ๆ รอบดวงอาทิตย์ ตามแบบจำลองของ Copernicus และที่มาของกฎเหล่านี้ได้รับการอธิบาย โดย Isaac Newton ในปี 1687

สำหรับหนังสือ “De Revolutionibus Orbium Coelestium” ของ Copernicus ที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกนั้น ในปี 1927 ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย Uppsala ในประเทศสวีเดน ได้มีการนำหนังสือหายากนี้ออกประมูลขาย โดยทางห้องสมุดอ้างว่า ได้รับหนังสือเล่มนี้ จากนายทหารคนหนึ่งชื่อ Gustavus Adolphus โดยหนังสือมีปกหุ้มด้วยหนังสัตว์ และหนังสือมีภาพประกอบที่ถูกวาดโดยศิลปินชาว Krakow และในที่สุดก็มีคนซื้อไปในราคา 300,000 เหรียญ


ตลอดเวลาร่วม 2 ศตวรรษ หลังจากที่ Copernicus ได้เสียชีวิตไปแล้ว นักโบราณคดีชาวโปแลนด์หลายคนได้พยายามค้นหาศพ เช่น ในปี 1802, 1909, 1939 และ 2004 แต่ไม่ได้ผลเลย จนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม ปี 2005 เมื่อทีมวิจัยภายใต้การนำของ Jerzy Gassowski ได้พบซากศพของ Copernicus และเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติเวชวิทยาได้ยืนยันว่าศพเป็นของ Copernicus จริง ทางการจึงได้สร้างใบหน้าขึ้นมา โดยอาศัยข้อมูลว่า ดั้งจมูกของ Copernicus เคยหัก และใบหน้าในภาพวาดที่เหมือนจริงมีรอยแผลเป็นตรงบริเวณเหนือตาซ้าย ส่วนอายุของกะโหลกนั้นก็เป็นของชายที่เสียชีวิตเมื่อมีอายุประมาณ 70 ปี ซึ่งก็ตรงตามที่นักประวัติศาสตร์ได้เคยบันทึกไว้ว่า Copernicus เสียชีวิตเมื่ออายุ 70 ปี ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ โครงกระดูกที่พบไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ 100% เช่น กระดูกกรามไม่ปรากฏ แต่ DNA ของกระดูกก็สอดคล้องกับ DNA ของเส้นผมที่พบในหนังสือที่ Copernicus เป็นเจ้าของ และหนังสือนั้น เคยอยู่ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย Uppsala ทุกประการ

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 2009 ห้องปฏิบัติการนิวเคลียร์ที่เมือง Darmstadt ในประเทศเยอรมนีได้สังเคราะห์ธาตุใหม่ คือ ธาตุที่ 112 และได้ตั้งชื่อธาตุนั้นว่า copernicium ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็น Cn เพื่อเป็นเกียรติแก่นักดาราศาสตร์ ผู้มีมารดาเป็นชาวเยอรมัน และได้ถือกำเนิดเมื่อ 537 ปีก่อน และบนดวงจันทร์ก็มีหลุดอุกกาบาตชื่อ Copernicus ด้วย

อ่านเพิ่มเติมจาก “Copernicus' Secret: How the Scientific Revolution Began” โดย Jack Repcheck จัดพิมพ์โดย Simon & Schuster ปี 2008


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น