จากกระแสข่าว “ดาวมฤตยู” ย้ายราศีในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ ที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความหมายทางด้านโหราศาสตร์ของดวงดาวดวงนี้ ที่สื่อไปในทางที่ให้โทษคือ “โรคภัยอาเพศ” และการย้ายราศีแต่ละครั้งใช้เวลาถึง 7 ปี จึงทำให้ผู้คนที่มีความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์และความหมายของดวงดาวให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้าในครั้งนี้
ในวาระเปลี่ยนผ่านราศีของดวงมฤตยู หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อ “ดาวยูเรนัส” Science MGROnline จึงขอนำข้อมูลด้านดาราศาสตร์ของดาวดวงนี้มาเล่าให้ได้รับรู้กัน
“ดาวมฤตยู” หรือ “ยูเรนัส” เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ดาวบริวารของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ของระบบสุริยะ โคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 7 ดาวดวงนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในบรรดาดาวเคราะห์ของระบบสุริยะ รองจากดาวพฤหัสและดาวเสาร์ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 50,724 กิโลเมตร
ผู้ค้นพบดาวยูเรนัส คือ “เซอร์วิลเลียม เฮอร์เชล” (Sir William Herschel) ในปี พ.ศ. 2324 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเส้นศูนย์กลางเพียง 16 เซนติเมตร ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้ได้ขยายขอบเขตของระบบสุริยะให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเกือบสองเท่าด้วยการพบ โดยดาวดวงนี้มีสมบัติทางกายภาพมากมายที่ไม่เหมือนกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ เลย เช่น มีสีน้ำเงินแกมเขียว มีแกนหมุนที่วางตัวเกือบอยู่ในระนาบของวงโคจรของมัน อีกทั้งมีวงแหวนล้อมรอบเหมือนดาวเสาร์
และดาวยูเรนัสยังมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทางประมาณ 2 เท่า ของระยะทางที่ดาวเสาร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ คือ 2,870 ล้านกิโลเมตร หรือ ประมาณ 19 เท่าของระยะทางที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นขนาดของสุริยะจักรวาลจึงเพิ่มเป็น 2 เท่า ก่อนที่จะมีการค้นพบดาวเนปจูนและดาวพลูโต
นอกจากนี้ ชั้นบรรยากาศหนาทึบของดาวยูเรนัสยังประกอบไปด้วยก๊าซไฮโดรเจนเป็นหลัก รวมถึงมีก๊าซฮีเลียม ก๊าซมีเทน และก๊าซอื่นๆ ที่ผสมอยู่อีกเล็กน้อย ส่วนสาเหตุที่เรามองเห็นดาวยูเรนัสมีสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน ก็เป็นเพราะว่า ก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศจะทำหน้าที่ดูดกลืนแสงสีแดงเอาไว้ และปล่อยแสงสีน้ำเงินออกมา
ความน่าโดดเด่นกว่าดาวเคราะห์ดวงใดๆ ในระบบสุริยะ คือการที่ดาวยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียว ในที่หมุนรอบตัวเอง โดยวางตัวเกือบตั้งฉากกับระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ในขณะที่ดาวเคราะห์อื่นๆ หันแกนเอียงออกจากแนวตั้งฉากกับระนาบสุริยวิถีเพียงเล็กน้อย แต่ดาวยูเรนัสหันแกนเหนือเบนออกไปถึง 98 องศา ทำให้ขั้วเหนือของดาวยูเรนัส กดต่ำลงไปอยู่ใต้ระนาบสุริยวิถีถึง 8 องศา เมื่อมองจากโลกจึงดูคล้ายกับว่า ดาวยูเรนัสหันด้านข้าง ตะแคงโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ โดยหมุนรอบตัวเอง สวนทางกับการเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ ด้วยเหตุนี้ใน 1 รอบ ที่ดาวยูเรนัสเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์นาน 84 ปี จึงมีบางช่วง ที่ดาวยูเรนัสหันขั้วหนึ่งเข้าหาดวงอาทิตย์เป็นเวลากลางวันตลอดทั้งวัน ยาวนานถึง 21 ปี ขณะที่ขั้วตรงข้ามเป็นเวลากลางคืนตลอดช่วงเวลาเดียวกัน และมีบางช่วง ที่ดาวยูเรนัสหันด้านข้างเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้ช่วงนั้น ขั้วทั้งสองต่างรับแสงอาทิตย์พอๆ กันยาวนานถึง 42 ปี จึงทำให้เป็นอีกหนึ่งดวงดาวที่ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์ในการสำรวจ
อย่างที่รู้กันดีว่า “ดวงอาทิตย์” เป็นดาวฤกษ์และเป็นจุดศูนย์กลางของระบบสุริยะ โดยมีดาวเคราะห์บริวารทั้งหมด 8 ดวง ไล่จากระยะที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ ดาวพุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัส เสาร์ ยูเรนัส เนปจูน ซึ่งเมื่ออดีตรวมถึง ดาวพลูโต แต่ในปัจจุบันได้ลดสถานะลงไปเป็นดาวเคราะห์แคระแล้ว
ดาวเคราะห์ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะมีการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งการโคจร 1 รอบของดาวเคราะห์แต่ละดวงจะมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน อย่างเช่น “โลก” ของเราที่ใช้เวลาโคจรรอบอาทิตย์ 1 ปี 365 วัน ตาม “สุริยวิถี” แถบสมมติบนท้องฟ้าที่เป็นระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่เป็นศูนย์กลาง และระนาบสุริยวิถีนี้ จะมีกลุ่มดาวฤกษ์ 12 กลุ่ม เป็นฉากหลัง ทำให้ท้องฟ้าในแต่ละเดือนเมื่อมองจากโลกจะมีกลุ่มดาวที่แตกต่างกัน เป็นกลุ่มดาวต่างๆ ตามระนาบวงโคจร
เริ่มตั้งแต่ 1. กลุ่มดาวแกะ (ราศีเมษ) 2. กลุ่มดาววัว (ราศีพฤษภ) 3.กลุ่มดาวคนคู่ (ราศีเมถุน) 4.กลุ่มดาวปู (ราศีกรกฎ) 5.กลุ่มดาวสิงโต (ราศีสิงห์) 6.กลุ่มดาวหญิงสาวพรหมจารี (ราศีกันย์) 7.กลุ่มดาวคันชั่ง (ราศีตุล) 8.กลุ่มดาวแมงป่อง (ราศีพิจิก) 9.กลุ่มดาวคนยิงธนู (ราศีธนู) 10.กลุ่มดาวมกร หรือ แพะทะเล (ราศีมังกร) 11.กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (ราศีกุมภ์) และ 12. กลุ่มดาวปลาคู่ (ราศีมีน) กลุ่มดาวฉากหลังสุดท้าย ก่อนที่จะครบวงโคจร และเริ่มต้นการโคจรรอบใหม่อีกครั้งที่กลุ่มดาวแกะ เราจึงเห็นดาวเคราะห์ต่างๆ ในตำแหน่งที่แตกต่างกันบนท้องฟ้าโดยมีพื้นหลังเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 12 ราศี
สำหรับดาวยูเรนัสที่ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ถึง 87 เราจึงเห็นดาวดวงนี้โคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 12 ในทุกๆ 7 ปี ซึ่งในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ เราจะเห็นดาวดวงนี้มีพื้นหลังเป็น กลุ่มดาววัว (Taurus) ไปอีก 7 ปี
สำหรับข้อมูลของ “กลุ่มดาววัว” หรือ "ราศีพฤษภ" กลุ่มดาวจักรราศีนี้เป็นกลุ่มดาวที่มีดาวสว่างที่สุดในบรรดากลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 12 ของจักรราศี ซึ่งมี “กระจุกดาวลูกไก่” ที่คนไทยรู้จักกันดีอยู่ใกล้เคียง รวมถึงยังเป็นส่วนหนึ่งใน “หกเหลี่ยมฤดูหนาว” ที่นักดูดาวมือใหม่ใช้ฝึกหากลุ่มดาวอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : บทความโลกวิทยาการ / nstda.or.th / spaceth.co.th