สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ชูประเด็นงานวิจัย "จัดการขยะแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า" จากความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในปัจจุบัน ในงาน 3rd ASEAN Innovation Roadmap Forum
นายภณสินธุ์ ไพทีกุล ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีขนส่งทางรางและยานยนต์ขนส่ง ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร. หรือ RTTC) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นวิทยากรในงาน 3rd ASEAN Innovation Roadmap Forum : Key Technologies and Innovations in Responding Global Challenges towards Sustainable ASEAN
โอกาสนี้ นายภณสินธุ์ฯ อภิปรายร่วมในช่วง Key Technologies and Innovation for Competitiveness/Mechanism to Promote ASEAN – China STI Cooperation นำเสนอหัวข้อ Research Activities on Targeted Key Technologies to Support Recovery Plan in Building Back Better Thailand and ASEAN Community กล่าวถึงความสำคัญของ BCG โดยเฉพาะ Circular และ Green Environment ที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในปัจจุบัน ในบทบาทของ ศทร. ที่ดำเนินการด้านพาหนะตั้งแต่ยานยนต์จนถึงเทคโนโลยีระบบราง เล็งเห็นความสำคัญและตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งอนาคตมีแนวโน้มจะมีปริมาณขยะแบตเตอรี่จำนวนมากเกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องร่วมกันทำวิจัยเพื่อการจัดการขยะแบตเตอรี่เหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม
อนึ่ง วว. โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง พร้อมให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ และให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่า 10 ปี ครอบคลุมงานวิเคราะห์ ทดสอบ ดังนี้
งานบริการสนับสนุนการออกแบบสำหรับพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (BEV และ EV-BUS) โดยการใช้ซอฟแวร์ออกแบบ (Design) วิเคราะห์ (Analysis) และจำลองสภาวะ (Simulation) ทางวิศวกรรมยานยนต์ เช่น ในด้านความแข็งแรง ความล้า การกระแทกจากการชน ปฏิสัมพันธ์ของแข็ง-ของไหล เป็นต้น รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบด้วยซอฟแวร์วิเคราะห์ ให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้สามารถออกแบบและพัฒนา ผลิตผลิตภัณฑ์ สร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผลิตภัณฑ์ไทยได้ในระดับสากล
งานทดสอบรับรองคุณภาพตามมาตรฐานและให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ด้านความแข็งแรงความคงทนสำหรับตัวถังและชิ้นส่วนรถยนต์ การทดสอบความคงทนและความล้าสำหรับระบบช่วงล่าง การทดสอบเพื่อทวนสอบการออกแบบ (design validation) เพื่อประเมินความสอดคล้องกันระหว่างการออกแบบและการทดสอบขีดจำกัดด้วยภาระกรรมแบบสถิตย์ (Static loading) และแบบพลวัตร (Dynamic loading) เป็นต้น
งานทดสอบต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีการทดสอบขนาดจริง (4 Post full scale vehicle test) ด้วยเทคโนโลยีการจำลองภาระกรรมการขับขี่บนถนน ทำให้สามารถประเมินความแข็งแรง ความคงทน อายุการใช้งาน ระยะเวลาหรือจำนวนกิโลเมตร ในการรับประกันรถยนต์หรืออุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการออกแบบการผลิตและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
งานพัฒนาฐานข้อมูลมาตรฐานและการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า ศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งาน การบำรุงรักษาของยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อนำมาวิเคราะห์ทางสถิติด้านวิชาการ และเป็นฐานข้อมูลสำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย