สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ได้เผยข้อมูลว่า “ไข่เน่า” ฟักทองพันธุ์ท้องถิ่นที่คนน่านปลูกกันรุ่นต่อรุ่นนานกว่า 3 ช่วงอายุคน มีที่มาจาก สีเขียวขี้ม้าแลคล้ายไข่เน่าของเนื้อฟักทอง แม้สีไม่สวยแต่อร่อยกินได้ไม่มีเบื่อ เพราะเนื้อทั้งเหนียว หนึบ และหวานมันกำลังดี ลักษณะเด่นของฟักทองพันธุ์พื้นเมืองน่านที่ได้รับการอนุรักษ์ไม่ให้สูญหาย และกำลังจะเป็นผลผลิตสำคัญที่สร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้แก่ชุมชน ในงานเสวนา “ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า ความยั่งยืนทางพันธุกรรมของชุมชน” ภายใต้การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NAC 2022)
อย่างไรก็ตามแม้คนน่านจะยืนยันในความอร่อยกันมากเท่าไหร่ แต่ที่ผ่านมา "ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า" ก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายนอกจังหวัดนัก เพราะฟักทองพันธุ์ไข่เน่าเป็นพันธุ์ท้องถิ่นที่มีการการกลายพันธุ์สูง การที่เกษตรกรจะปลูกให้ได้ผลผลิตที่มีลักษณะและรสชาติคงที่ทำได้ยากเหมือน ‘เสี่ยงดวง’
กระทั่งช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เกษตรจังหวัดน่านเล็งเห็นโอกาสหยิบยกเอาฟักทองสายพันธุ์ท้องถิ่นนี้มาพัฒนายกระดับการผลิตแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ด้วยหวังว่าการยกระดับครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่การทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน การมีรายได้ที่มั่นคงและมั่งคั่ง และที่สำคัญคือการได้ฟื้นคืนเขาหัวโล้นสู่ป่าต้นน้ำอีกครั้ง
ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วนนำมาซึ่งการอนุรักษ์และสร้างมูลเพิ่มให้ฟักทองพันธุ์ไข่เน่าแบบครบวงจร และยังส่งผลให้เริ่มเกิดการฟื้นฟูป่าต้นน้ำจังหวัดน่านอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม การดำเนินงานนี้นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ยกระดับการทำเกษตรตั้งแต่ฐานราก เป็น Impact Value Chain ที่เป็นต้นแบบการยกระดับการทำการเกษตรแก่ชุมชนอื่นๆ ของประเทศไทยได้
นายณัฐวุฒิ ดำริห์ นักวิชาการ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. เล่าว่า ฟักทองเป็นพืชผสมข้ามสายพันธุ์ตามธรรมชาติ การปลูกให้ได้ผลผลิตคงที่ เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจในการควบคุมการผลิตตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ โดย สท. ได้รับการประสานจากบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ให้เข้ามาช่วยเหลือในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ทีมจึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทำวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีการคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ การปลูก บริหารจัดการแปลง และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแก่เกษตรกรในจังหวัด
รศ. ดร.จานุลักษณ์ เล่าว่า ปัจจุบันฟักทองพันธุ์ไข่เน่ามีความกลายพันธุ์สูง จึงต้องมีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์เพื่อให้ได้ลักษณะพันธุ์ที่แน่ชัดก่อนนำมาวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ แล้วดำเนินการถ่ายทอดกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้อาสาสมัครของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยถ่ายทอดตั้งแต่วิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงการบริหารจัดการแปลงเพื่อให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี ร่นระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวจาก 150 วัน เหลือ 85-90 วัน ปลูกได้ 3 ฤดูกาลต่อปี ให้ผลผลิตมากว่าพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกอยู่เดิมร้อยละ 20-40 ปัจจุบันมีการทดลองปลูกและเก็บเกี่ยวไปแล้วมากกว่า 4 รอบ
“การทำวิจัยลักษณะของฟักทองพันธุ์ไข่เน่าไม่เพียงสำคัญต่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ทางการค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น เพื่อสงวนสิทธิ์การปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิตและจำหน่าย รวมถึงการส่งออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสิทธิ์ขาดในการยกระดับกระบวนการพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นสมบัติของคนในจังหวัดน่านเท่านั้นด้วย ผลของสิทธิ์ขาดนี้จะนำไปสู่การสร้างรายได้และการอนุรักษ์สายพันธุ์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนขอยื่นจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นแล้ว และจะมีการยื่นจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ต่อไปในอนาคต” .... รศ. ดร.จานุลักษณ์ กล่าวเสริม