xs
xsm
sm
md
lg

GISTDA ชู Co-Creation จับมือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และหน่วยงานพันธมิตร ผลักดัน GI Tech For Green Area “นำคุณค่าจากอวกาศและภูมิสารสนเทศ สู่สังคมเศรษฐกิจสีเขียว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กำหนดจัดกิจกรรมสร้างคุณค่าผ่านการสัมมนาร่วมกัน Co-Creation ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้มุมมองเทคโนโลยีอวกาศและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียว เพื่อความสมดุลและยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อน GI Technology ในรูปแบบ Co-Creation สานพลังความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย

ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ เปิดเผยถึงเป้าหมายและความมุ่งมั่นในครั้งนี้ว่า GISTDA ในฐานะองค์กรด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทย ได้ดำเนินงานมากว่า 20 ปี สร้างประโยชน์ให้สังคมมากมายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการจัดการน้ำ ภัยพิบัติ ภาคการเกษตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการผังเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ตลอดจนด้านความมั่นคงของรัฐและสังคม ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญและการยอมรับจากหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา ในการนำเอาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปปรับใช้ในมิติต่างๆ เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับสังคมไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันทั้งในประเทศและทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทุกคนจะต้องเจอกับมลพิษจากก๊าซต่างๆ มากมาย ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในการติดตามทรัพยากรป่าไม้ ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความหนาแน่นและจำแนกชนิดป่าไม้ ร่วมกับการพัฒนาแบบจำลองเชิงพื้นที่ ในการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอน และคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่ป่าของประเทศ นอกจากจะได้ผลที่ถูกต้องแม่นยำแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลากว่าวิธีที่ต้องใช้คนจำนวนมากและข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ ข้อมูลการกักเก็บคาร์บอนในแต่ละปีจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการนำไปใช้บริหารจัดการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกด้วย

สำหรับการขับเคลื่อน GI Tech For Green Area “นำคุณค่าจากอวกาศและภูมิสารสนเทศ สู่สังคมเศรษฐกิจสีเขียว” ครั้งนี้เป็นการสัมมนาครั้งแรกที่ได้ร่วมเปิดมุมมองใหม่ในมิติการพัฒนาความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญยิ่ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในทุกรูปแบบ นอกจากนี้การจัดเสวนากิจกรรม Co-Creation ในครั้งนี้ยังมีผู้แทนจากกรมป่าไม้ร่วมเสวนาถึงแนวทางการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนและการใช้ประโยชน์ร่วมกับทุกภาคส่วน , ผู้แทนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมเสวนาในด้านการสนับสนุนการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศไทย , ผู้แทนจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯร่วมเสวนาด้านเป้าหมายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และผู้แทน GISTDA กับบทบาทสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำกับแนวทางการขับเคลื่อนบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆในภารกิจเพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียวที่สมดุลและยั่งยืน ครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกแต่จะเป็นก้าวสำคัญ ในการสร้าง ส่งเสริมความตระหนักและการรับรู้วงกว้าง ต่อการเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญ ให้เกิดการยอมรับกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สู่การกำหนดมาตรฐาน การลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ เรามาร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน บนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อประเทศไทยและโลกที่น่าอยู่ของเราต่อไป โฆษก GISTDA กล่าว


















กำลังโหลดความคิดเห็น