xs
xsm
sm
md
lg

อพวช.เปิดเวทีเฟ้นหานักสื่อสารวิทย์ฯ เล่าวิทย์ให้ปัง ฟังแล้วว๊าว “SiT Talks : Science inspired by Teen 2022”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยบูรพาวิทยาเขตจันทบุรี สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) จัดการแข่งขัน “SiT Talks : Science inspired by Teen 2022” ขึ้น เพื่อเปิดเวทีให้เยาวชนได้มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เฟ้นหานักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ พร้อมถ่ายทอดเรื่องราววิทย์ฯ รอบตัวให้น่าสนใจ เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ อันนำไปสู่การสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็งและยั่งยืน ชิงทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า 130,000 บาท เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ – 31 ก.ค. 2565 


ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มีภารกิจในการส่งเสริมสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมปลูกฝังและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชน และประชาชนในสังคมให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยสนับสนุนเรื่องการพัฒนาบุคลากรและศักยภาพด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทย โดยปีนี้ได้ผนึกกำลังจากหลายภาคส่วน จัดการแข่งขัน “SiT Talks : Science inspired by Teen 2022” ขึ้น เป็นปีที่ 2 เพื่อเฟ้นหานักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ สำหรับเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (อายุ 15 -18 ปี) มาสื่อสารเรื่องราวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัว ภายในเวลา 3 นาที โดยจะต้องถ่ายทอดเรื่องวิทย์ฯ อย่างไรให้สนุกและน่าสนใจ ทำให้คนเข้าใจถึงความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนและประชาชนคนไทย ทั้งนี้ กิจกรรมนี้จะสร้างเครือข่ายของกลุ่มนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ทุกระดับ และพร้อมจะสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เพื่อให้ก้าวต่อไปเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยและโลกในอนาคต”


รองศาสตราจารย์ ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน่วยงานผู้สนับสนุนกิจกรรม กล่าวว่า “คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีปณิธานที่มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาต่าง ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งการพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรมีการค้นคว้าวิจัยทางด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาทางการเรียนการสอน พร้อมส่งเสริมให้มีการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รอบรู้ก้าวทันต่อโลกในอนาคต สำหรับกิจกรรม “SiT Talks : Science inspired by Teen 2022” ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ผลักดันกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ และเป็นการบ่มเพาะเยาวชนไทยในการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศต่อไป


โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่งมีกำหนดจัดกิจกรรม Roadshow “SiT Talks: Science inspired by Teen 2022” ดังนี้ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาวิทยาเขตจันทบุรี วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น”


นางสาววริศรา กุลยชัยพานิช ตัวแทน SiT Talker เจ้าของรางวัล Best Content และ 15 Finalists SiT Talks 2021 มาถ่ายทอดประสบการณ์ในปีที่ผ่านมา “ในการแข่งขันปีที่แล้ว ที่ได้ลองสมัครเพราะว่าอยากเข้าใจการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น เพราะไม่ค่อยได้เห็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มาพูดเรื่องวิทยาศาสตร์มากนักในประเทศไทย ซึ่งตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าต้องพูดออกมาแบบไหน จึงไปตามดูผลงานรุ่นพี่นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจ ต่อมาผลประกาศว่าติด 1 ใน 3 ของภาคกลาง ก็รู้ดีใจมาก และมีโอกาสได้ร่วมการอบรมเพิ่มเติมของโครงการฯ ทำให้ได้ความรู้และเปิดโลกทัศน์มาก
นอกจากตัวเราจะได้พัฒนาทักษะตัวเองในหลายๆ ด้านแล้ว ยังได้เข้าใจหน้าที่ของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ว่าต้องอธิบายเรื่องที่มีความเฉพาะและทำอย่างไรให้ประชาชนคนทั่วไปทำความเข้าใจได้ ปัจจุบันเรื่อง fake news เราได้รับข้อมูลต่าง ๆ มาจากหลายแหล่งข่าวโดยเฉพาะทาง social media ที่มีทั้งเรื่องจริงและไม่จริง และอยากที่จะแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ให้กับทุกคน จึงต้องอาศัยการสื่อสารวิทยาศาสตร์ช่วยอธิบายให้กับประชาชนได้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันฯ ไม่ต้องกังวลถ้าไม่ได้มีประสบการณ์มาก่อน ขอให้กล้าที่จะทำ แค่ก้าวออกมาแล้วได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังจะเข้าใจว่าตรงนี้คือทักษะการสื่อสารพื้นฐานที่สำคัญอย่างมากในปัจจุบัน ที่จะช่วยต่อยอดน้อง ๆ ทั้งในด้านการเรียนและการทำงานในอนาคตอีกด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น