สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ GISTDA เพย “ดาวเทียมเล็ก THEOS-2”ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว และพร้อมทดสอบระบบ โดยดาวเทียมดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีดาวเทียวที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย ในโครงการ THEOS-2 ถือเป็นดาวเทียมสำรวจดวงแรกของประเทศไทยในระดับ Industrial Grade ที่วิศวกรดาวเทียมไทยได้มีส่วนสำคัญในออกแบบและพัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ
ในโครงการ THEOS-2 มีส่วนประกอบมากมายทั้งตัวดาวเทียมจนถึงระบบภาคพื้น และหนึ่งในนั้นคือการผลิต ดาวเทียมเล็ก หรือ THEOS-2 SmallSAT ที่เป็นฝีมือการพัฒนาโดยวิศวกรไทยร่วมกับ Surrey Satellite Technology หรือ SSTL ในสหราชอาณาจักร และดาวเทียมเล็กยังเป็นดาวเทียวของไทยดวงแรกที่เป็นระดับ Industrial Grade ที่ผลิตโดยคนไทย และเป็นหนึ่งในจุดประสงค์ของการริเริ่มโครงการ THEOS-2 คือการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรไทยในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียม
สำหรับข้อมูลดาวเทียม THEOS-2A เป็นดาวเทียมที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม สามารถบันทึกภาพที่มีรายละเอียดประมาณ 1 เมตร ต่อ pixel ใช้เวลาโคจรรอบโลกวันละ 13-14 รอบ และผ่านประเทศไทย 3-4 รอบต่อวัน และเป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่มีมาตรฐานระดับ industrial grade ดวงแรกของไทย
ดาวเทียวดวงนี้ ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากวิศวกรดาวเทียมไทยกว่า 20 คน ออกแบบและพัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างดาวเทียมจากบริษัท Surrey Satellite Technology หรือ SSTL ณ สหราชอาณาจักร เป็นเวลากว่า 2 ปี ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก SSTL ให้ทีมวิศวกรดาวเทียมไทยพัฒนา payload ที่ 3 เองทั้งหมด ควบคู่กับการพัฒนาดาวเทียม ตั้งแต่การเขียนแบบร่าง ออกแบบ พัฒนา และทดสอบ รวมถึงประกอบเข้ากับตัวดาวเทียม payload ที่ 3 ที่ว่าก็คือ “ระบบเซนเซอร์และกล้องถ่ายภาพ” ประกอบด้วย กล้องถ่ายภาพโลก กล้องถ่ายภาพดาวเทียม อุปกรณ์วัดสนามแม่เหล็กโลก อุปกรณ์วัดการเคลื่อนไหว อุปกรณ์วัดความเข้มของแสงอาทิตย์ และอุปกรณ์จีพีเอส โดยเน้นการสาธิตระบบการทำงานของอุปกรณ์ที่เป็น commercial off the shelf ที่มีราคาเหมาะสมและคุ้มค่า เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาดาวเทียมในอนาคต
ผู้ประกอบการในไทยมีส่วนร่วมที่สำคัญมากๆ กับการผลิตชิ้นส่วนสำหรับดาวเทียม THEOS-2A ดวงนี้ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริม เพิ่มศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถเพื่อเข้าสู่ Space Value Chain และแข่งขันได้ในระดับสากล
ปัจจุบัน ดาวเทียม THEOS-2A เดินทางถึงประเทศไทยและเข้าทดสอบระบบดาวเทียม ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จนถึงเดือนธันวาคม 2565 ก่อนส่งขึ้นสู่อวกาศในต้นปี 2566
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA