วช. เปิดตัว “ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ ” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 ผู้พัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน
วันนี้ (14 มิ.ย.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน NRCT Talk เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT ครั้งที่ 7 เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 “ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์” ผู้พัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรม “NRCT Talk นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 7” จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลให้กับ ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2565 ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ กล่าวว่า งานวิจัยแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนที่ 1 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ อาทิ ตัวต้นทุนโลจิสติกส์ ผลิตภัณฑ์มวลรวม และการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า ส่วนที่ 2 เรื่องดัชนีที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของผู้ประกอบการด้าน
โลจิสติกส์ในประเทศไทยและในภูมิภาค เรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการจะได้มีข้อมูลอ้างอิงและประเมินความสามารถในการแข่งขัน และส่วนที่ 3 เรื่องการพัฒนาเครื่องมือเรื่องระบบที่มาสนับสนุนในเรื่องโลจิสติกส์อุทกภัยที่มาช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในสภาวะที่อันตราย ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใหม่ ที่ไม่มีใครมองในรูปแบบโลจิสติกส์ แต่พอมองในรูปแบบโลจิสติกส์จะเห็นว่ามีประโยชน์อย่างชัดเจน
เพราะผลคือการช่วยเหลือชีวิตคน
โลจิสติกส์มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับเศรษฐกิจ เรื่องของการเคลื่อนย้าย เรื่องของปัจจัยการผลิต เรื่องของการจัดเก็บ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ของโลจิสติกส์ ถ้าเกิดไม่มีปัญหาก็จะไม่มีใครนึกถึงโลจิสติกส์ แต่เวลามีปัญหาเกิดขึ้น ของไม่พอ ส่งไม่ทัน ของเกิดความเสียหาย ก็จะเป็นความผิดของโลจิสติกส์ แต่ระยะหลังการให้ด้านการขนส่งโลจิสติกส์ราคาสูงขึ้น จึงทำให้การบริการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงเศรษฐกิจดีขึ้นจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงการขนส่งโลจิสติกส์ หากมองโลกในแง่ร้ายอย่างหนึ่ง คือทุกครั้งที่มีประเด็นด้านโลจิสติกส์แสดงว่าเศรษฐกิจกำลังมีปัญหา
ในอนาคตมีแนวคิดในเรื่องความสามารถด้านโลจิสติกส์ของกลุ่มประเทศในอาเซียนว่าจะทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกัน และอีกด้านที่สำคัญ คือ เรื่องมิติความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นการกีดกันทางการค้าจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรการทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หรือไม่มีมาตรการในเรื่องความยั่งยืน ประเทศไทยจึงต้องมีเครื่องมือวัด จะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำไปปฏิบัติ และภาคการศึกษา สามารถนำไปใช้ประโยชน์สูงสุดต่อไป
สำหรับกิจกรรม “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565” ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป