“รมว.อว.” นำทีมนักวิจัยไทยถกความร่วมมือกับ 2 สถาบันวิจัยของสวิตเซอร์แลนด์ เดินหน้าสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่ ที่ระดับพลังงาน 3.0 GeV พร้อมต่อยอดการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตรอนพลังงานสูง
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค) ดร.ปกรณ์ อาภาพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธณ์ ผู้อำนวยการสถาบับวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) พร้อมกับคณะผู้บริหาร และนักวิจัยของหน่วยงาน ได้เดินทางไปเพื่อศึกษาดูงาน ณ. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน หรือ Swiss Light Source (SLS) ที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า SLS เป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ระดับพลังงานที่ 2.4 GeV ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ให้มีความเข้มแสงมากขึ้นและประหยัดพลังงาน มีผู้ใช้งานจากภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมจำนวนมาก มีผลงานชั้นนำมากมายอย่างต่อเนื่อง เช่น การค้นหาโครงสร้าง Spike protein ของไวรัสโควิด-19 หรือการถ่ายภาพ 3 มิติของเส้นประสาทในสมอง การพัฒนาเทคนิคการตรวจวัดแผงวงจรรวมระดับนาโนเมตร เป็นต้น โดย SLS เป็นหน่วยงานของ Swiss Federation ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่ใช้ในการพัฒนากำลังคนชั้นสูงด้านแสงซินโครตรอนและการใช้ประโยชน์ โดยมีนักศึกษาปริญญาเอกเข้ามาทำวิจัยมากกว่า 700 คน ต่อปี นับเป็นต้นแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศได้เป็นอย่างดี
รมว.อว.กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ ทางคณะได้มีการประชุมเพื่อหารือแนวการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์หรือ Paul Scherrer Institute (PSI) และ SLS กับหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ. ซึ่งในปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่ ที่ระดับพลังงาน 3.0 GeV โดยหลังจากนี้จะมีความร่วมมือที่มุ่งเน้นในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนากำลังคน การสนับสนุนทุนวิจัย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังหารือความร่วมมือทางวิชาการด้านการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตรอนพลังงานสูง (Proton Beam Therapy) ระหว่าง PSI กับหน่วยงานวิจัยทางการแพทย์ของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย